คุณรู้จักการก่อสร้างแบบ PREFAB ดีแค่ไหน

คุณรู้จักการก่อสร้างแบบ PREFAB ดีแค่ไหน

คุณรู้จักการก่อสร้างแบบ PREFAB ดีแค่ไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แต่ก่อนเราอาจคุ้นเคยกับรูปแบบการสร้างบ้านชนิดการตอกเข็ม ก่ออิฐ ฉาบปูน ซึ่งทำกันมาจนเป็นภูมิปัญญาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่อันที่จริงแล้วระบบก่อสร้างในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบก่ออิฐถือปูนหรือระบบเสาคานเท่านั้น

ปัจจุบันรูปแบบการก่อสร้างล้ำ ๆ ไฮเทค ๆ เริ่มเข้ามาปฏิวัติวงการก่อสร้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราและภูมิภาคอาเซียน เริ่มได้เห็นอาคารต้นแบบ อาคารประหยัดพลังงาน อาคารโครงสร้างฉลาด และสำเร็จรูป วิธีการแปลกใหม่ในการสร้างบ้านถูกนำมาเสนอขายเป็นแพ็คเกจง่าย ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า การสร้างบ้านไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป

ลองทำความรู้จัก อีกมิติหนึ่งของการสร้างบ้านยุคใหม่กันชัด ๆ แล้วคุณจะรู้ว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราง่าย และสะดวกสบายมากขึ้นจริง ๆ

PREFAB คืออะไร

PREFAB (พรีแฟบ) มาจาก Prefabricated Building หมายถึง วิธีการก่อสร้างบ้านหรืออาคารโดย “ผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จก่อนจะนำมาประกอบกันที่หน้างาน” วิธีการแบบนี้เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่างบมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เป็นหัวขบวนนำระบบพรีแฟบ เข้ามาสร้างอาคาร และหมู่บ้านจัดสรร ด้วยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดต้นทุนเวลาและแรงงานเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ แนวคิด PREFAB เริ่มจากปัญหาของค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่ไหลออก จากภาคการก่อสร้างทำให้มาตรฐานและคุณภาพงานด้อยลง นักออกแบบจึงเริ่มคิดวิธีการก่อสร้างรูปแบบ PREFAB ขึ้นมาหลากหลายวิธี ขึ้นกับโจทย์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ แต่ละราย และการก่อสร้างระบบ PREFAB ยังแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้อีกตามรูปแบบการประกอบและวัสดุ ดังนี้

Precast (พรีคาสท์):

ผนังสำเร็จรูป คือการเทหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กในแบบหล่อ แล้วยกเป็นผนังทีละชิ้นมาประกอบเป็นอาคาร โดยใช้ผนังเป็น “ผนังรับน้ำหนัก” (Loaded Bearing Walls) แทนระบบเสาคาน หรือบางรายเลือกใช้เป็นแค่เพียง “ส่วนผนัง” ร่วมกับระบบเสาคาน

Balloon Frame (ระบบโครงคร่าวรวม):

คือการใช้เหล็กรูปหรือไม้เนื้อแข็งประกอบกับเป็นโครงข้อแข็ง มีระบบ “ใช้โครงคร่าวเป็นตัวอาคาร” แล้วจึงติดไม้ฝาหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เข้าไปทั้ง 2 ฝั่งเพื่อบังซ่อนโครงคร่าว ถ้าคิดภาพไม่ออกให้นึกถึงบ้านไทยในต่างจังหวัด ส่วนมากจะยิงปิดผิวแค่ด้านนอกเท่านั้น ส่วนด้านในจะโชว์โครงคร่าวเลย

Framing Walls (โครงคร่าวแยกเป็นผนังทีละผืน):

ลักษณะนี้ จะเป็นการใช้เหล็กรูปหรือไม้เนื้อแข็งประกอบกับเป็นโครงสร้างถัก (Truss) แล้วใส่แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เข้าไปทั้ง 2 ฝั่งเพื่อบังซ่อนโครงคร่าว จนกลายเป็นผนัง 1 ผืน เมื่อไปหน้างานก็นำผนังแต่ละผืนมาประกอบเข้ากันเป็นห้องหรืออาคาร โดยใช้การเชื่อมต่อด้วยโลหะ

Modular (โมดูลาร์):

เป็นการสร้างอาคารโดยแยกสร้างเป็น “Module” หลาย ๆ ยูนิต อาจจะสร้างพร้อมตกแต่งเสร็จ 100% เลย แล้วจึงนำแต่ละยูนิตไปประกอบร่วมกันจนสมบูรณ์ หรือบางวิธีการก็จะสร้างเป็นเพียง “โครงข้อแข็งสมบูรณ์” ขึ้นมาทีละโมดูล จากนั้นนำมาประกอบร่วมกันเป็นโครงสร้างอาคารขนาดจริง แล้วจึงปิดผิว-ตกแต่งในภายหลัง

บ้านทรงไทย

เชื่อหรือไม่ว่าบ้านทรงไทยของเรานี้ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ PREFAB ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปขึ้นมาจากไม้ธรรมชาติให้เป็น เสา, จั่ว, คาน, ฝาบ้าน ฯลฯ แล้วนำมาประกอบกันโดยการขัดร่วมกับระบบลิ่ม อ้างถึงสำนวนไทยที่เราคุ้นเคยกัน “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” นั่นแปลว่าผลิต “จั่วและเสา” สำเร็จก่อนที่จะหามมาประกอบกันที่หน้างาน

วันนี้เราได้ทำความรู้จักกับ Prefabricated หรือ PREFAB กันมากขึ้นแล้ว ระบบการก่อสร้างบ้านแบบทันสมัยไม่ได้มีเพียงแค่ PREFAB เท่านั้นนะครับ ในตอนต่อไป เราจะมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งรูปแบบของการสร้างบ้านที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าแรง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านหลังใหม่ หรืออยากจะต่อเติมบ้านหลังเดิมให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน
พงษ์ธร ปัทมจินตธำรง กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทวอลรัส โฮม จำกัด www.walrushome.net หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ walrushome@gmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook