DIY “รางปลั๊กพ่วงแบบบ้านๆ” ไอเดียของใช้ภายในบ้านสุดวินเทจ ปลอดภัย และใช้งานได้จริง

DIY “รางปลั๊กพ่วงแบบบ้านๆ” ไอเดียของใช้ภายในบ้านสุดวินเทจ ปลอดภัย และใช้งานได้จริง

DIY “รางปลั๊กพ่วงแบบบ้านๆ” ไอเดียของใช้ภายในบ้านสุดวินเทจ ปลอดภัย และใช้งานได้จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลั๊กพ่วง หรือปลั๊กต่อ เป็นของใช้ภายในบ้านที่สำคัญและขาดไม่ได้ เพราะเป็นตัวจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ภายในบ้านของเราทุกชนิด ซึ่งเชื่อว่าแต่ละบ้านน่าจะมีปลั๊กพ่วงมากกว่า 1 อันแน่นอน โดยปกติแล้วปลั๊กพ่วงที่เราซื้อตามท้องตลาดมักจะมีดีไซน์ที่เรียบง่ายในโทนสีขาวเป็นหลัก จึงอาจจะดูน่าเบื่อซ้ำซากได้ในบางครั้ง

ถ้าเพื่อนๆ อยากจะมีปลั๊กพ่วงสวยๆ ไว้เป็นของแต่งบ้านที่ใช้งานได้ดีในตัวล่ะก็ วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวดีๆ จากคุณ สมาชิกหมายเลข 5480284 มาฝากเพื่อนๆ ซึ่งก็คือขั้นตอนการทำ “รางปลั๊กพ่วงแบบบ้านๆ” แบบฉบับ DIY ให้ออกมามีดีไซน์ที่สวยงามในแบบวินเทจ แถมยังใช้งานได้ดีและปลอดภัยอีกด้วยนะ

มาทำปลั๊กต่อบ้านๆ จากไม้เหลือๆ กัน

(โดยคุณ สมาชิกหมายเลข 5480284)

กระทู้แรกที่มา how to แบบบ้านๆ ในการทำปลั๊กต่อครับ หากผิดพลาดประการใด หรือใช้ศัพท์ คำ ที่ผิดไป ผมต้องขออภัยมา ณที่นี้ด้วย

แรกเริ่มเลยครับ คือพอดีผมมีเศษไม้เหลือๆ จากที่ทำอะไรต่อมิอะไรมา มันวางกองรก ทั้งลิ้นชักไม้เก่าๆ เศษท่อนไม้พาเลท บวกกับว่างจัด เลยอยากลองทำอะไรเล่นดู ประจวบกับปลั๊กต่อที่อันนึงเริ่มงอแง เลยคิดว่า มาลองทำเล่นดูดีกว่า อยากได้ปลั๊กต่อที่จ่ายไฟอึดๆ สายทนๆ ไม่ร้อนง่าย ทนกระแสเท่าปลั๊กผนังนั่นคือ 16 แอมป์

จึงลิสต์รายชื่ออุปกรณ์ที่เราต้องการซื้อก่อนทันที เพราะตัวโครงเราตั้งใจทำจากเศษไม้ที่มีแน่นอน

1. เต้าปลั๊ก พร้อมแผง

2. สายไฟ

3. หัวปลั๊กตัวผู้

ลิสต์เสร็จ ผมก็ไปเดิน Baan & beyond ตั้งใจอยากให้ปลั๊กต่อเรามีช่องเสียบ USB แบบคนอื่นเขาบ้าง เจอราคาปลั๊กแต่ละแบรนด์แล้ว สะอึกครับ (ตกงานอยู่ จ่ายมะไหว) เดินมาสะดุดของแบรนด์นี้ luzino ของ Baan & beyond

ราคาทั้งแผง usb 2 slot + เต้าเสียบ 3 ขามีม่าน + หน้ากาก ราคา 385฿ ,แผง 3 ขามีม่าน 2 ชุดพร้อมหน้ากาก ราคา 115฿ (ประมาณนี้น่ะครับผมจำไม่ค่อยได้ 55+)

กำลังจะเดินไปจ่ายเงิน นึกขึ้นได้ สวิตซ์ล่ะ ปลั๊กต่อต้องมีสวิตซ์ เลยหมุนตัวกลับไปเดินหาสวิตซ์อีกรอบ เจอแต่แบบ สวิตซ์10แอมป์ ครั้นจะเอาสวิตซ์ไฟผนังมาทำ มันก็จะเสียพื้นที่รางปลั๊กไปอีก เลยมาหยุดที่สวิตซ์เบรกเกอร์

เท่านั้นแหละครับ ไอเดียกันดูดมาทันทีหลังจากเหลือบไปเห็นของฮาโก้ สวิตซ์เบรก กันดูด 16แอมป์ มีไฟบอกสถานะด้วย ราคาค่าตัวอยู่ที่400นิดๆ (ช้ำใจตรงที่ สั่งออนไลน์ทั่วไปแค่300ก่าบาทเอง)  รวบของ จ่ายตังกลับบ้านด้วยอารมณ์ที่ลุกโชนอยากลงมือทันที

กลับมาเราก็ลงมือกันเลย เริ่มจากวัดตำแหน่งของแผงปลั๊ก และสวิตซ์ให้เรียบร้อยก่อน

ทำการเจาะรูตัดช่องที่วาดไว้

ตัดชิ้นส่วนแต่ละด้านให้เรียบร้อย แต่ด้วยความที่ไม้แผ่นที่ใช้เป็นชิ้นบนล่างและหัวท้ายหมด ผมเลยไปรื้อไม้จากลิ้นชักเก่าๆมาทำส่วนด้านข้างแทนครับ

จากนั้นก็มารวมร่างกันด้วยกาวลาเท็กซ์ พอดีที่บ้านมีเหล็กฉากเหลือเยอะมากๆเลยเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ซะหน่อย เอามายึดตามจุดต่างๆ

*ถ้าใครมีสกิลช่างไม้ และมีไม้เหลือให้เลือก แนะนำทำจ๊อยเข้าไม้จะสวยกว่ามากครับ พอดีผมไม่ค่อยมีสกิลด้านนี้เท่าไหร่ครับ

ประกอบเสร็จ รอกาวแห้งให้เรียบร้อย เราก็มาขัดเรียบกัน พร้อมทำฐานล่างไปในตัว

ผมเลือกใช้การฝังตัวหนอนเกลียว 6 มิล ในการเปิดปิดฐาน เผื่อจะถอดซ่อมแซมง่ายๆ และย้ำเบาๆ ด้วยสกรูเกลียวปล่อยด้านข้าง

เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำมันมะกอก 100% ซะหน่อย

ขั้นต่อไปว่าด้วยระบบไฟ ด้วยความต้องการที่ให้ปลั๊กต่อมีกำลังไฟเต็มๆ นิ่งๆ ถึกๆ เลยเลือกสายที่รับไฟได้ 16 แอมป์ ซึ่งปลั๊กทั่วๆ ไปใช้สายค่อนข้างเล็ก รับแรงได้แค่ 6-10 แอมป์ เลยเป็นที่มาว่าทำไมสายไฟไหม้หรือพังง่าย

สายหลักเลยเลือกสาย Ant vct 3×2.5sq.mm ยาว 2 m (เส้นนี้ได้มาฟรีครับ เพื่อนซื้อมาฝาก50฿) ปลั๊กต่อทั่วๆไปจะเป็นสาย 0.75 sq.mm.

ต่อเข้าเบรกสวิตซ์ Haco elb (กันดูดกันตาย) 16 แอมป์ คุมทั้งระบบ สายภายในใช้ของเหลือจากตอนสร้างบ้าน เป็น thai yazaki thw 2.5sq.mm. แผงปลั๊ก จากที่หยิบ luzino ที่มีชุด usb ในตัว เลยลองรื้อดูวงจรก็โอเคในระดับนึงไม่ขี้เหร่

หลังจากต่อทุกสิ่งสรรพเสร็จก็เช็คระบบคร่าวๆหน่อยนึงด้วยมัลติมิเตอร์ ทุกอย่างเคลีย ไม่มีการลัดวงจร เก็บงานจัดระเบียบสาย ปิดฐานได้

เก็บรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ และทำความสะอาดด้วยน้ำมันมะกอกอีกซักรอบ

ส่วนหัวปลั๊กอยากได้แบบดีๆ นิดนึง (ไม่ได้ดีแบบ hi-end นะครับ แบบนั้นซื้อไม่ลง) ตามร้านที่ขายทั่วไปมักมีแต่แบบไม่น่าใช้เท่าไหร่ เลยสั่งอันนี้มาแทน 150฿ พร้อมส่ง ถ้าไปซื้อเองตามแหล่ง จะอยู่ที่ 80-120฿ แล้วแต่ร้านครับ

 

เมื่อได้หัวปลั๊กมาเราก็ลงมือประกอบติดตั้งให้เรียบร้อย

เสร็จแล้วก็เสียบปลั๊กทันที เช็คทั้งหมดทั้งมวลด้วย อุปกรณ์ตรวจไฟเบื้องต้น (ซื้อจากการไฟฟ้านนทบุรี) ผลออกมาถูกต้องสมบูรณ์ ทดสอบตัวเบรกกันดูด (มีปุ่มเทสอยู่) ตัดแต่กันตายรึป่าวอันนี้ไม่แน่ใจ ไม่กล้าเอานิ้วจิ้ม มาทดสอบตัวจ่ายไฟ usb (ไม่มีอุปกรณ์ทดสอบก็คงใช้ app ลองดูก่อน)

ผลออกมาไม่น่าเกลียดให้ค่าใกล้เคียงกับที่บอกไว้ (ถ้าผมเข้าใจมันถูกนะครับ)

ปลั๊กต่อชุดนี้ แม้จะดูไม่สวยเท่าไหร่ แต่ภูมิใจกับมันมากครับ ขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่เข้ามาอ่านครับ

 

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ ของ DIY “รางปลั๊กพ่วงแบบบ้านๆ” ไอเดียของใช้ภายในบ้านสุดวินเทจ ปลอดภัย และใช้งานได้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook