ศิลปะบนกำแพงเก่าเพิ่มมูลค่า สร้างสีสันให้ชีวิตชุมชนเมือง

ศิลปะบนกำแพงเก่าเพิ่มมูลค่า สร้างสีสันให้ชีวิตชุมชนเมือง

ศิลปะบนกำแพงเก่าเพิ่มมูลค่า  สร้างสีสันให้ชีวิตชุมชนเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อก่อน ผู้ที่สัญจรไปมาบริเวณสามย่านและสวนหลวงอาจสนใจมองหาเพียงร้านอร่อยหรือข้าวของที่อยากได้ แต่ในวันนี้ หลายคนเริ่มปักหมุดเดินหากำแพง! .. กำแพงอาคารพาณิชย์ที่เก่าได้ถูกเนรมิตให้เป็นภาพศิลปะแนว Street Art และแปลงชุมชนให้เป็นเสมือนแกลเลอรีขนาดใหญ่

“ผมขับวินมอเตอร์ไซค์อยู่ตรงนี้มานาน มองเห็นแต่กำแพงเก่าๆ ไม่เจริญหูเจริญตาเลย จนวันนี้มีภาพศิลปะที่บ่งบอกถึงอาชีพพวกผมบนกำแพง ผมตื่นเต้นดีใจมาก เห็นความสวยงามของกำแพงขึ้นมาทันที” คุณกมลชัย หีดแก้ว วินมอเตอร์ไซค์ บริเวณจุฬาฯ ซ.9 กล่าวพร้อมรอยยิ้ม “ผู้คนส่วนใหญ่ ที่เดินผ่านจุดนี้จะหยุดชื่นชมและถ่ายรูปกัน กลายเป็น ที่ใครๆ ก็อยากมา เป็นผลพลอยได้ทำให้พวกผมมีรายได้เพิ่มขึ้นมากด้วย”

นี่คือผลสะเทือนและแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากศิลปะบนกำแพงที่ศิลปิน Street art กว่า 40 ชีวิตในโครงการ Chula Art Town มาร่วมกัน แต่งแต้มสีสันและเรื่องราว เปิดจินตนาการของผู้คนต่อพื้นที่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและบรรยากาศชุมชนเมืองให้คึกคักมีชีวิตชีวา

“เราต้องการพลิกฟื้นพื้นที่ชุมชนรอบจุฬาฯ และทำเป็น Art for Community เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการทำศิลปะเพื่อชุมชน” อ.ดร.สิริธร ศรีชลาคม รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Chula Art Town กล่าว

งานนี้ได้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ คัดสรรกำแพงที่เหมาะสม บริษัทอุไรพาณิชย์ และ ATM Spray ให้การสนับสนุนศิลปินและอุปกรณ์สีที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ดูแลการสร้างสรรค์งานศิลปะ

อ.ดร.สิริธร เล่าถึงแนวทางการเลือกกำแพงที่จะเป็นเสมือนผืนผ้าใบสำหรับงานศิลปะว่า หลังจากที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เลือกกำแพงที่เหมาะกับการสร้างงานศิลปะแล้ว ทางโครงการนำโดย อ.สิริธรก็จะดูความเหมาะสมของกำแพง ทั้งในเรื่องขนาดกำแพง ความเป็นไปได้ของการทำงานของศิลปิน เช่น ไม่กีดขวางเส้นทางจราจร มุมของผู้ชมงาน และความปลอดภัย เป็นต้น

“สำหรับภาพบนกำแพง เราจะดูเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งในแต่ละมุมมีรายละเอียดพื้นฐานของชุมชนที่แตกต่างกัน ศิลปินก็จะนำรายละเอียดเหล่านั้นมาสร้างสรรค์รูปแบบงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตามความถนัดของศิลปินแต่ละคน” อ.ดร.สิริธรเสริม

“อย่างในระยะแรกของโครงการ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนที่บริเวณสามย่านและสวนหลวง ภาพศิลปะจุดนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน และผู้เช่าอาคารสำนักงาน อีกทั้งยังสื่อถึงความเป็นชุมชนชาวจีนมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีการทำมาหากินอีกด้วย” อ.สิริธรกล่าว 

สำหรับระยะที่ 2 โครงการปักหมุดการสร้างสรรค์งานไว้ที่สยามสแควร์ และลิโด้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะพร้อมให้ชื่นชมผลงานช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ อ.สิริธรกล่าวว่า ผลงานศิลปะที่จุดนี้จะเป็นงานแนวอนาคต (ฟิวเจอร์) ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

“งานตรงจุดนี้จะเน้นสร้างความสว่างสดใสให้กับซอกมุมตึกที่อับทึบ กำแพงที่ว่างเปล่ามอมแมม งานศิลปะทำให้พื้นเหล่านั้นมีชีวิตชีวา เป็นจุดปลอดภัยขึ้นสำหรับผู้ที่ผ่านทาง รวมทั้งได้ใช้งานศิลปะแทนสัญลักษณ์ในการห้ามต่างๆ เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งน่าจะได้รับความสนใจมากกว่าการสื่อด้วยตัวหนังสือ”

นอกจากศิลปินแล้ว โครงการ Chula Art Town ยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แนวกำแพงคณะทันตแพทยศาสตร์อีกด้วย ภายใต้แนวคิด “สมเด็จย่ากับงานด้านทันตกรรมสาธารณสุข” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน

สิ่งที่สำคัญกว่าความงามบนกำแพง โครงการ Chula Art Town ได้สานสายสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้คนในชุมชนด้วย ซึ่งก็งดงามไม่แพ้ศิลปะบนกำแพง 

 “ศิลปินในโครงการต่างสะท้อนว่า พวกเขาเห็นความมีน้ำใจของคนในชุมชน ในขณะศิลปินกำลังสร้างสรรค์ผลงานอยู่ ก็มีคนในชุมชนนำอาหารการกินมาให้ อำนวยความสะดวก ชวนไปพักผ่อนกินน้ำ   เข้าห้องน้ำที่บ้าน ซาบซึ้งกันไปทั้งผู้ให้และผู้รับ” อ.สิริธรกล่าว

เดเอล ฮอร์แกน ศิลปินไทย-ออสเตรเลีย เสริมว่า “มีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เดินผ่าน 9 ใน 10 คนต้องเหลียวมอง แล้วเข้ามาถ่ายรูป รู้สึกว่างานศิลปะของเราได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว นั่นคือสร้างความสุขให้กับคนที่พบเห็น”

คุณวัลลภา โชคอุดมพร ร้านจอนนี่ จุฬาฯ ซ. 11 สะท้อนด้วยว่า บรรยากาศชุมชนที่เปลี่ยนไปด้วยศิลปะยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนในชุมชนให้อยากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบนี้เพื่อเพิ่มความสวยงามน่าอยู่ให้กับชุมชนของตนเองด้วย เพราะยังมีกำแพงเก่าที่ว่างเปล่าอีก!

“ผมอยากให้จุฬาฯ ขยายพื้นที่ในการทำโครงการศิลปะแบบนี้ออกไปอีก เพราะยังมีพื้นที่ที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าและไม่สวยงามอยู่อีกมาก” คุณกมลชัย วินมอเตอร์ไซค์ยิ้ม

ผู้ที่ชื่นชอบผลงาน Street Art แวะมาเยี่ยมชม ถ่ายภาพ และติดแฮชแท็ก#ChualArtTown

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook