9 วิธีดูผังบ้านแบบมือใหม่ สังเกตอย่างไรไม่ให้พลาดก่อนซื้อ

9 วิธีดูผังบ้านแบบมือใหม่ สังเกตอย่างไรไม่ให้พลาดก่อนซื้อ

9 วิธีดูผังบ้านแบบมือใหม่ สังเกตอย่างไรไม่ให้พลาดก่อนซื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดปีใหม่มานี้ หลายๆ คนซื้อบ้าน สร้างบ้าน สำหรับใครที่กำลังคิดจะซื้อบ้านและเป็นมือใหม่ ไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญหรือขาดผู้ให้คำปรึกษา Sanook! Home อยากให้คำแนะนำเรื่องการดูผังบ้าน จะสังเกตอย่างไรไม่ให้พลาดก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะเรื่องผังบ้านนั้นเป็นเรื่องใหญ่ หากตัดสินใจซื้อไปโดยไม่ได้เช็กเรื่องผังบ้านให้ถี่ถ้วน นั่นหมายความว่าคุณจะต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆ อีกมากมาย

1.บันไดหันออกตรงทางเข้าบ้าน ตามตำราจีนโบราณ หากมีบันไดที่หน้าทางเข้าจะทำให้พลังชี่ในบ้านไหลออกไปทางประตู กระนั้นก็ดี เงื่อนไขนี้เกี่ยวพันกับลักษณะธาตุประจำวันเกิดด้วย หากมีความเข้มข้นในระดับเดียวกันก็จะไม่ส่งผลอะไร หากพูดในเชิงการออกแบบ การเปิดประตูบ้านแล้วเจอกับบันไดทันทีนั้น ทำให้บ้านดูอึดอัด ไม่โปร่ง รบกวนความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยได้มาก ผังบันไดที่เหมาะสมควรมีเส้นสายในแนวโค้ง มีความกว้างเหมาะสม แสงสว่างส่องถึง และอยู่ด้านข้างมากกว่าตรงกลาง

2.ช่องทางเดินอยู่ตรงทางเข้าบ้านพอดี ทางเข้าบ้านถือเป็นหน้าตาของบ้าน เป็นความประทับใจแรกที่ส่งผลต่อความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ คนหลายคนตัดสินใจว่าบ้านหลังนั้นดีหรือไม่ในเวลาแค่ไม่กี่วินาทีตรงประตูหน้าบ้านเลยด้วยซ้ำ ช่องทางเดินที่ดีไม่ควรจะยาว แคบ และมืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปิดประตูทางเข้าแล้วเจอช่องทางเดินแบบนี้เลย ยิ่งเป็นการจัดวางที่มีปัญหา

บ้านสมัยใหม่หลายหลังถูกออกแบบมาให้เป็นดูเพล็กซ์ (Duplex) คือแบ่งบ้านหนึ่งหลังออกเป็นสองส่วน เหมาะสำหรับครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกไม่มาก บ้านแบบนี้มักมีช่องทางเดินที่ตรงกับทางเข้า ก่อนแยกออกไปเป็นห้องต่างๆ ด้านซ้ายเป็นห้องนั่งเล่น ด้านขวาเป็นห้องอาหาร เดินตรงไปด้านในเป็นห้องนอนฝั่งซ้าย-ขวา และห้องครัวอยู่หลังบ้าน ซึ่งเป็นผังที่ชวนให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าอบอุ่นในแบบครอบครัว

3.ห้องอาหารอยู่กลางบ้าน

ลักษณะผังแบบนี้คือห้องอาหารอยู่ตรงกลาง และทุกพื้นที่เชื่อมต่อกันผ่านห้องนี้ ดังนั้นหากคุณต้องการเดินไปพื้นที่ต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะห้องครัว ห้องครอบครัว หรือห้องนอน คุณจะต้องเดินผ่านห้องอาหารด้วย หากเจอผังบ้านแบบนี้ สิ่งที่คุณจะต้องพบเจอทุกวันหากมาอาศัยอยู่ก็คือ ความลำบากจากการต้องเดินผ่านพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ทุกครั้ง แทนที่จะสามารถเดินไปสู่อีกห้องหนึ่งได้โดยตรง

4.ห้องนอนสองห้องเชื่อมทะลุกัน

ในการซื้อบ้านคนมักจะพิจารณาแค่จำนวนห้องนอน โดยไม่ได้ดูถึงรายละเอียดเรื่องผังว่าสองห้องนอนนั้นเชื่อมกันหรือไม่ ที่จริงในเชิงอสังหาริมทรัพย์ ห้องนอนที่เชื่อมทะลุกันแบบนี้ อาจถูกพิจารณาถือว่าเป็นหนึ่งห้องนอน ดังนั้น หากคุณซื้อบ้านแบบสองห้องนอนและต้องการความเป็นส่วนตัว คุณควรเลือกแบบที่ทางเข้าห้องแยกกันจะดีกว่า

5.ห้องนอนใหญ่ไม่มีห้องน้ำในตัว

ถึงแม้ว่าห้องน้ำจะอยู่ห่างจากประตูห้องนอนออกไปแค่ก้าวเดียว แต่หากคุณไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้จากภายในห้องนอนแล้ว การวางผังของบ้านหลังนั้นถือว่าผิดพลาดจนไม่น่าซื้อเลย

6.ห้องนอนกับห้องนั่งเล่นหรือห้องอาหารห่างกันแค่ประตูกั้น

อีกหนึ่งผังห้องที่ไม่น่าอยู่ นั่นคือพอเปิดประตูห้องนอนออกมา ก็เจอกับห้องนั่งเล่นหรือห้องอาหารทันที เพราะการจัดวางแบบนี้นอกจากจะทำให้เสียงคนหรือเสียงทานอาหารรบกวนการพักผ่อนแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนตัวด้วย ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ใช่แมว ก็คงไม่อยากเห็นภาพเตียงนอนตอนกำลังทานอาหารอยู่เหมือนกัน ภาพที่เหมาะกับช่วงทานอาหารคือคนครอบครัว หรือแขกเหรื่อที่แวะมาเยี่ยมและนั่งคุยกันต่างหาก

7.ห้องน้ำที่อยู่ในตำแหน่งแย่ๆ

สิ่งที่แย่กว่าการเปิดประตูเข้าบ้านแล้วเห็นช่องทางเดินแคบๆ มืดๆ ก็เห็นจะเป็นการเปิดประตูแล้วเห็นห้องน้ำเต็มๆ รอรับที่ปลายทางนี่แหละ บ้านดีไซน์โบราณหลายหลัง ออกแบบโดยมีห้องน้ำไว้ตรงกลางทางเดิน แทนที่จะหลบไว้ริมซ้ายหรือขวา ซึ่งการจัดวางแบบนี้ชวนให้เกิดภาพที่ไม่งามนัก แม้ว่าจะปิดประตูห้องน้ำไว้ก็ตามที ตำแหน่งห้องน้ำที่ไม่ดีอีกจุดหนึ่งก็คือ ห้องน้ำสำหรับแขกที่ต้องเดินผ่านห้องอื่นเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นห้องซักผ้าหรือห้องนอนก็ไม่ควรทั้งนั้น

8.มองจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งไม่ได้

ความสำคัญของการมองเห็นไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้ก็คือช่วยทำให้บ้านดูใหญ่ขึ้น เป็นการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ว่าง ช่วยให้ผู้อาศัยรู้สึกปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด ซึ่งไม่ว่าบ้านขนาดเล็กแค่ไหนก็สามารถทำแบบนี้ได้ โดยใช้หลักการวางตำแหน่งประตูและแนวเส้นโค้ง นำสายตาไปสู่พื้นที่หลักส่วนกลางที่กว้างขวางกว่า

9.ห้องนั่งเล่นแบบแยกเดี่ยว

ผังแบบนี้จะจัดห้องนั่งเล่นไว้ตรงทางเดินฝั่งใดฝั่งหนึ่งโดยมีทางเข้าเดียวไม่เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ เลย ซึ่งผิดเป้าหมายของห้องนั่งเล่น ที่มีเจตนาให้เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยสนทนาสบายๆ ผังแบบนี้พบบ่อยในบ้านโบราณที่ถูกนำมาปรับปรุงใหม่

แต่อย่างไรก็ดี คงต้องบอกว่า ผู้ซื้อบ้านสมัยใหม่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับห้องนั่งเล่นกันแล้ว บ้านยุคใหม่ๆ จึงต้องจัดวางให้ตรงกับรสนิยม โดยการนำห้องนั่งเล่นออก แล้วเอาพื้นที่มาขยายให้กับห้องอเนกประสงค์ส่วนกลางหรือห้องสำหรับครอบครัวแทน หากบ้านที่คุณอยากจะซื้อไม่ได้จัดวางผังแบบที่ว่านี้ ก็ถือว่าบ้านหลังนั้นออกแบบได้ดี และน่าอยู่สำหรับคุณ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook