เตือน! เด็กเสี่ยงได้รับอันตราย จาก สารกำจัดแมลง

เตือน! เด็กเสี่ยงได้รับอันตราย จาก สารกำจัดแมลง

เตือน! เด็กเสี่ยงได้รับอันตราย จาก สารกำจัดแมลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย. เตือนผู้บริโภค เด็กมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ ในการกำจัดแมลงในบ้านเรือน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงอย่างถูกต้อง โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ กำจัดแมลงที่มีฉลากระบุเลขทะเบียน วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ควรอ่านฉลาก ให้ละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ได้รับ อันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง มาใช้ในบ้านเรือน อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้ในการป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลง ปลวก ยุง และสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ หรือ สัตว์อื่นที่อาจเป็นพาหะนำโรค เช่น หนู นกพิราบ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สเปรย์ฉีดพ่นอัดก๊าซ ผงเกล็ด ก้อน หรือของเหลว ซึ่งจะประกอบไปด้วยสารเคมีที่แตกต่างกัน หากมี การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องตามที่ระบุบนฉลาก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ นอกจากนี้ การใช้ ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์อื่นที่ไม่ถูกต้อง ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เด็กอาจได้รับอันตรายจากการ ปนเปื้อนของสารเคมีในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเด็กมีโอกาสที่จะสัมผัสกับผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์อื่น ที่เก็บไว้ หรือจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือน สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และสัมผัสกับสิ่งของ ที่ปนเปื้อนกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากการเอามือเข้าปาก คลาน หรือเล่นในพื้นที่ ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์

ดังนั้น ผู้บริโภคควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการ ป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายจากการผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการกำจัดแมลงหรือสัตว์อื่น จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทาง สาธารณสุข ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อย. ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียน จาก อย. ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงเลขทะเบียน วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนประกอบของสารเคมีที่แตกต่าง ส่งผลให้มีอาการเกิดพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ถูกต้องแตกต่างกัน ดังนี้

สารกำจัดยุงและแมลงสาบ ส่วนใหญ่จะเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (pyrethroids) มีอาการเกิดพิษที่ได้รับสารเคมี คือ คลื่นไส้ มีผื่นแดง คัน รู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ ที่ผิวหนัง อาจมีอาการจาม คัดจมูก ปวดศีรษะ มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรง บิดเกร็ง ถ้าได้รับปริมาณมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก คนที่เป็นโรคหอบควรระมัดระวัง ถ้าได้รับในปริมาณมากจะเกิดอาการ หอบได้

สารกำจัดหนู ส่วนใหญ่จะเป็นสารในกลุ่มป้องกันการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) จะมี อาการเกิดพิษ คือ หากรับประทานในปริมาณมาก ๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการตกเลือด โดยสังเกตได้จากการมีเลือดปนมากับอุจจาระ เลือดกำเดาไหล อาจมีอาการปวดท้องและหลังจากการ ตกเลือดในช่องท้อง รู้สึกอ่อนเพลีย และตัวซีด

รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงหรือสัตว์อื่น ผู้บริโภคควร ใช้อย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากให้ละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด ควรเก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็ก หรือเก็บในตู้ที่สามารถล็อคปิดได้ ไม่ให้เด็ก และสัตว์เลี้ยง อยู่ในบริเวณ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเก็บของเล่นเด็กออกจากบริเวณดังกล่าว ปิดฝาผลิตภัณฑ์ให้สนิททุกครั้ง หลังการใช้ งานหรือหยุดพักไปทำกิจกรรมอื่นใด เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะบรรจุเดิม ไม่ควรถ่ายใส่ภาชนะบรรจุอื่น สอนให้เด็กทราบว่าผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์อื่นเป็นอันตราย ไม่ควรสัมผัสโดยตรง ไม่วางผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของสารไวไฟ ไว้ใกล้กับแหล่งที่ให้เปลวไฟ หรือความร้อน ไม่เผาภาชนะบรรจุที่เป็นสเปรย์ อัดก๊าซ เนื่องจากอากาศที่เหลืออยู่ภายในอาจขยายตัว ทำให้เกิดการระเบิดได้ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส หรือใช้ผลิตภัณฑ์ หากเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขอาการในเบื้องต้น หากอาการไม่ทุเลาให้รีบนำผู้ป่วยพร้อมกับภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ ไปพบแพทย์

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา E-mail : toxic@fda.moph.go.th กรณีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail : 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการปราบปราม และ ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป


แหล่งข่าวโดย » สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook