ชี้! คนไทยไตวายอันดับ 3 ในอาเซียน เผยกินยาแบบผิดๆ

ชี้! คนไทยไตวายอันดับ 3 ในอาเซียน เผยกินยาแบบผิดๆ

ชี้! คนไทยไตวายอันดับ 3 ในอาเซียน เผยกินยาแบบผิดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตสูงถึงอันดับ 3 ในอาเซียน เปิดกลุ่มยาเอ็นเสด ในยาแก้ประจำเดือน ยาแก้ปวด แพทย์เตือนคนไทยกินยาแบบผิดๆทำไตพัง พบยาชุด สมุนไพรเถื่อน-ยาจีนเกลื่อนท้องตลาด หลงเชื่อกินไตวายถึงตาย จี้ อย. เร่งจัดการด่วน

ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวในวันแถลงข่าว “ยาที่เป็นอันตรายต่อไต” ว่า ในฐานะที่เป็นหมอที่รักษาผู้ป่วยไตมาโดยตลอด พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรซึ่งสูงติดอันดับ 3 ในอาเซียนและมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง

แต่ปัญหาคนไข้ไตที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเชื่อว่าการกินยามากๆ จะไปกระเทือนไตหรือเบื่อหน่ายในการกินยา

นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคไตด้วยสาเหตุจากการใช้ยาโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่ สเตียรอยด์หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มาเป็นเวลานาน ยาฆ่าเชื้อบางชนิด หรือยาจีน-ยาไทยที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ซึ่งในบางครั้งจะทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นหรือหยุดทำงานได้

“การดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต มี 4 หลักที่ควรทำเพื่อถนอมไตคือ
1) ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง
2) ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาทึ่กินอยู่
3) ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร
4) ควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์

ส่วนหลัก 4 ไม่เพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไต คือ
1) ไม่ควรหยุดยาเอง
2) ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง
3) ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก
4) ไม่ควรกินยาของผู้อื่น
หากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลงมาก”



อ.พิสนธ์

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม แดง ร้อน มีที่ใช้หลากหลาย เช่นใช้บรรเทาปวดจากโรคเกาต์ ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และการปวดทางทันตกรรม เป็นต้น

ตัวอย่างยาเอ็นเสด

ตัวอย่างยาเอ็นเสด

ยากลุ่มนี้หลายคนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูเฟน ไพร็อกสิแคม ไดโคลฟีแนค เมฟีนามิกแอสิด เซรีค็อกสิบ และเมลล็อกสิแคม หากใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ไตเสื่อมไตวาย จึงต้องใช้ให้ถูกขนาดหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ไม่ใช้ต่อเนื่องนานๆ ต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม

แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีการใช้ยาเหล่านี้อย่างพร่ำเพรื่อทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร้านขายยา รวมไปถึงการขายยาอย่างผิดกฎหมายตามร้านชำและรถเร่ โดยเฉพาะการซื้อขายในรูปแบบของ “ยาชุด” ซึ่งมีเอ็นเสดมากกว่า 1 ชนิดในยาชุดแต่ละซอง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้เกิดพิษต่อไตอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรควบคุมการใช้เอ็นเสดให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลในการจ่ายยานี้จากทุกแหล่ง ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชนและควรบังคับใช้กฏหมายต่อการขายยาอย่างผิดกฎหมายเพื่อช่วยปกป้องประชาชน

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกำหนดให้ภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาที่ 15 เรื่อง “การใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ได้กำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับเอ็นเสดไว้ 2 ตัวชี้วัด ที่โรงพยาบาลทั้งหลายควรปฏิบัติให้ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ การใช้เอ็นเสดซ้ำซ้อนในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 และหลีกเลี่ยงการใช้เอ็นเสดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 10

อ.นิยดา

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าโรคไตของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อภาระทางเศรษฐกิจทั้งต่อผู้ป่วยครอบครัวและประเทศ โดยพบว่างบประมาณในการล้างไตสูงขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาต่างๆ จำนวนไม่น้อย โดยการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคไต เช่น การใช้ยาชุดผสมสเตียรอยด์และยาต้านการอักเสบเอ็นเสดที่แพร่กระจายในหลายพื้นที่ และพบว่ามีผู้ใช้ติดต่อกันนานเป็นปีจนถึงขั้นไตวาย

นอกจากนี้ในชุมชนยังมีปัญหาความเสี่ยงต่อโรคไตได้แก่ การฉีดยาต้านอักเสบที่ไม่ถูกต้อง ยาที่อนุญาตขึ้นทะเบียนยาไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อไต เช่นยาสูตรผสมระหว่างยาต้านอักเสบเอ็นเซดกับสเตียรอยด์และวิตามิน มีการอนุญาตทะเบียนยาที่อ้างบำรุงไตหรือล้างไตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ป่วยอาจละเลยการดูแลไต จนโรคลุกลามได้

การกระจายของยาสมุนไพรแผนโบราณที่นำเข้าและมีการลักลอบใส่ยาต้านอักเสบจนมีผู้เสียชีวิต รวมถึงการไม่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบำรุงไตเกินจริง จนทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อหาซื้อมาบริโภค กระทั่งเกิดความเสียหายทั้งด้านการเงินและสุขภาพ

กพย. และเครือข่ายเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นมีการแก้ไขปัญหาดังนี้

1) เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยากับปัญหาการเกิดโรคไตผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคมที่เป็นเรื่องปลายน้ำ

2) จัดทำข้อมูลเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอมปน สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด โดยอาจทำผ่านระบบ Single Window ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทำขึ้น

3) ในเรื่องต้นน้ำ จำเป็นต้องมีการทบทวนทะเบียนตำรับยา ถอนทะเบียนยาที่ไม่มีประสิทธิผลหรือที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย หรือจัดประเภทยาใหม่ เช่นยาต้านอักเสบชนิดฉีด ต้องปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ

4) จัดระบบเฝ้าระวังโรคไต โดยการ scan หรือระบบตรวจคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงต่อโรคไตทั้งใน โรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ กำหนดวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา

5) การจัดระบบการควบคุมการกระจายยากลุ่มเสี่ยงทั้งยาชุด ยาตำรับไม่เหมาะสมให้เข้มงวดมากขึ้น ให้สามารถติดตามได้ว่าทำไมยาจึงออกจากโรงงานผลิต ไปอยู่ในยาชุดขายในชุมชนได้อย่างไร

6) ในการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมของบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องนำฐานข้อมูลการใช้ยาที่มีอยู่เพื่อชี้เป้าปัญหาการใช้ยา ลดปัญหาการจ่ายยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน รวมทั้งการเฝ้าระวังปัญหากรณีผู้ป่วยที่เกิดโรคไตจากการใช้ยาเข้ามารักษา

ธนพล ดอกแก้ว

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กล่าวว่า ตนป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว สาเหตุของการป่วยเป็นไตวายเกิดจากการใช้ยาสมุนไพรและการซื้อยากินเอง โดยเชื่อการโฆษณาว่ายาสมุนไพรสามารถบำรุงล้างไต ซึ่งมีราคาแพงถึง 7,000 – 25,000 บาท แต่กลับป่วยเป็นไตวาย เพราะยาเหล่านี้ไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ใช้ชีวิตที่ลำบากและทรมานมากมีชีวิตรอดมาได้ด้วยการฟอกเลือด 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ติดต่อกันถึง 10 ปี กว่าจะได้เปลี่ยนไต จึงไม่ควรเชื่อยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรวมทั้งยาสมุนไพรต่างๆที่เกินจริง

ความจริงแล้วผู้ป่วยโรคไตวายทั่วไปต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีวิธีการบำบัดทดแทนไต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตในระยะเริ่มต้น ถ้าหากซื้อยากินเองตามคำชวนเชื่อหรือคำโฆษณาอาจจะทำให้ไตวายเร็วขึ้นและเสียชีวิตได้




[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook