“เมาแล้วขับ” เป่าเจอถูกจับ...จากนั้นยังไงต่อ?

“เมาแล้วขับ” เป่าเจอถูกจับ...จากนั้นยังไงต่อ?

“เมาแล้วขับ” เป่าเจอถูกจับ...จากนั้นยังไงต่อ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

          หลายๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์โดนพี่ตำรวจเรียกไปเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยทั่วไปแล้ว เรามักเข้าใจว่าผู้ขับขี่ที่ถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับจะมีโทษปรับและโทษจำคุกเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีมาตรการคุมประพฤติและการบริการสังคมที่รัฐนำมาบังคับใช้ด้วย เพื่อให้ผู้ขับขี่เหล่านี้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดจากการเมาแล้วขับมากขึ้น ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ในย่อหน้าต่อๆ ไป

          เริ่มต้นกันที่ความหมายของคำว่า “เมา”

           หลายคนอาจจะสงสัย ว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าเมา? ในทางกฎหมาย หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมขึ้นไปก็จะถือว่าเมา จะเห็นได้ว่ามีตัวบทกฎหมายกำกับมาชัดเจน แน่นอนว่าความเมาในทางกฎหมายย่อมมีน้ำหนักมากกว่าความรู้สึกของตัวผู้ขับขี่ ดังนั้น ถ้าตำรวจเรียกไปเป่าก็ไม่ต้องเถียงว่า “ม่ายยยยยมาววววว”

           ความเข้มข้นของมาตรการที่นำมาใช้กับคนเมาแล้วขับจะขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจวัดได้จากผู้กระทำผิดแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ก็อาจจะให้รอลงโทษไปก่อน หรือในรายที่ถูกพิจารณาให้คุมประพฤติ ก็ต้องเข้าไปรับการอบรมเรื่องความปลอดภัย และสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมด้วยการช่วยรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่หลักหนาสาหัส ตามระดับความเมาที่ไม่หนักมาก

           ...แต่สำหรับคนที่เมากว่านั้น หรือมีแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 101 – 200 มิลลิกรัม ตามสถิติบอกว่า ผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้ มีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนปกติถึง 40 เท่า จะต้องเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ และเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดไว้ให้ เป็นกิจกรรมที่เน้นสร้างความตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึก ไม่ให้เกิดพฤติกรรมเมาแล้วขับซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เวทีเสวนาเสียงสะท้อนจากเหยื่อเมาแล้วขับ เป็นต้น

           นอกจากนี้ จะต้องเข้าร่วมงานบริการสังคม เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น บริจาคโลหิต ทำความสะอาดป้ายเครื่องหมายและทาสีขอบจราจร เป็นอาสาจราจร ช่วยอำนวยความปลอดภัยบนท้องถนน รวมไปถึงการเป็นจิตอาสาช่วยดูแลผู้ป่วยและคนพิการจากอุบัติเหตุ เพื่อให้เห็นภาพของความสูญเสียได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นยังไม่ถือว่าเข้มข้นที่สุด เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือคนเมากว่ายังมีคนเมาหยำเป ศาลอาจจะสั่งให้มีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัว ควบคู่ไปกับการคุมประพฤติ แน่นอนว่าจะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น

           ถ้าใครโดนมาตรการนี้ ก็เป็นที่รู้กันว่าจะต้องมีแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 201 – 300 มิลลิกรัม ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ทำให้ง่วง ซึม การรับรู้ช้าลง และถ้าใครที่ดื่มมากกว่าปริมาณนี้ ก็อาจจะหมดสติ หรือมีอันตรายถึงชีวิตได้

           ทั้งนี้ แอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ดื่มจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น เพศ น้ำหนักตัว ระยะเวลาตั้งแต่ดื่มไปจนถึงด่านตรวจ แต่ทางที่ดีที่สุดคือเลิกดื่ม หรือถ้าต้องดื่ม ก็ท่องจำให้ขึ้นใจว่า “ดื่มไม่ขับ” เพราะจะปลอดภัยกับชีวิตของคนรอบข้างและตัวผู้ดื่มเอง
////////////////////////////////////////

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook