“เหงื่อเป็นเลือด” โรคประหลาด ไม่ทราบสาเหตุ-วิธีรักษา

“เหงื่อเป็นเลือด” โรคประหลาด ไม่ทราบสาเหตุ-วิธีรักษา

“เหงื่อเป็นเลือด” โรคประหลาด ไม่ทราบสาเหตุ-วิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับวันโรคประหลาดที่พบได้ยากทั่วโลก จะเกิดขึ้นกับคนไทยมากขึ้นทุกที อย่างกรณีของ “น้องเชียร์” อายุ 11 ปี ชาวอยุธยา ก็มีอาการประหลาด คือพบเลือดไหลออกจากใบหน้าและลำตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีบาดแผลใดๆ เกิดขึ้น (อ่านรายละเอียดของข่าวนี้ ที่นี่) ระหว่างรับการวินิจฉันจากแพทย์ Sanook! Health จึงขออนุญาตนำข้อมูลเกี่ยวกับโรค “เหงื่อเป็นเลือด” จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาให้ได้ศึกษากันค่ะ

 

โรค เหงื่อเป็นเลือด

คณะแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้เปิดเผยถึงข้อมูลของโรค Hematidrosis (โรคเหงื่อเป็นเลือด) ว่าเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์การเกิดโรคน้อยมาก เริ่มมีรายงานตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 และตีพิมพ์ในประเทศรัสเซียเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามไม่มีการรายงานชัดเจนว่าค้นพบโรคนี้เมื่อใด ในประเทศไทยพบผู้ป่วยลักษณะเดียวกันนี้ 3 ราย มีผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช 1 รายที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Dermatopathology เมื่อปีค.ศ.2008

 

ลักษณะอาการของโรคเหงื่อเป็นเลือด

ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการเหงื่อออกเป็นเลือด บางรายพบลักษณะน้ำตาไหลเป็นเลือด เลือดออกบริเวณผิวหนังในตำแหน่งต่างๆของร่างกายโดยตรวจไม่พบบาดแผลที่บ่งชี้ว่าเป็นเหตุให้มีเลือด ออกในบริเวณดังกล่าว ประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในระบบเลือด ไม่พบภาวะเกร็ดเลือดต่ำหรือภาวะผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดที่สามารถอธิบายสาเหตุของอาการเลือดออกได้

 

สาเหตุของโรคเหงื่อเป็นเลือด

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บางรายงานพบว่าเป็นผลจากการอักเสบของเส้นเลือด บางรายงานพบการขยายตัวของเส้นเลือดมากกว่าปกติในตำแหน่ง ที่มีเลือดออก บางรายพบว่าสัมพันธ์กับความเครียด  โดยสรุป จากทุกรายงานใน ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้

การวินิจฉัยโรคเหงื่อเป็นเลือด

อาศัยจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการของผู้ป่วย การตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนังในตำแหน่งที่มีเลือดออกทันทีหลังจากที่มีเลือดออกสามารถช่วยในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตุอาการและพิจารณาตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนังขณะที่มีเลือดออกเพื่อใช้ประกอบ ในการวินิจฉัยต่อไป

 

การรักษาโรคเหงื่อเป็นเลือด

เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ปัจจุบันจึงมีเพียงรายงานการใช้ยาบางกลุ่มในการรักษาโรคนี้เท่านั้น บางรายรักษาด้วยยาแล้วอาการดีขึ้น กล่าวคือ อาการเหงื่อออกเป็นเลือดลดลง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรคดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยบางราย มีอาการน้อยลงหรือมีช่วงที่อาการสงบยาวนานได้ 

โดยสรุปแล้ว สำหรับข้อมูลในโลกปัจจุบันนี้ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดถึงสาเหตุของโรค รวมถึงวิธีการรักษาโรค hematidrosis ดังนั้นหากพบใครที่มีลักษณะอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพประกอบจาก Sanook News

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook