เลือกฉีด "วัคซีนโควิด-19" ต่างชนิดกันได้หรือไม่?

เลือกฉีด "วัคซีนโควิด-19" ต่างชนิดกันได้หรือไม่?

เลือกฉีด "วัคซีนโควิด-19" ต่างชนิดกันได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงที่หลายประเทศ เผชิญกับความท้าทายด้านการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็ว หนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เราสามารถฉีดวัคซีนรูปแบบ 2 โดส โดยใช้วัคซีนที่ต่างชนิดกันได้หรือไม่?

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหลายราย มองว่า การฉีดวัคซีนโควิดรูปแบบ 2 โดส ที่ใช้วัคซีนต่างชนิดกัน "น่าจะ" มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล แต่ทีมวิจัยต่างยังคงรวบรวมข้อมูลเพื่อความแน่ใจในประสิทธิภาพของการใช้ต่างวัคซีนในขณะนี้ ตามรายงานของเอพี

ดร.เคท โอไบรอัน หัวหน้าฝ่ายวัคซีนขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้ข้อมูลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติการใช้เพื่อการฉุกเฉินไปทั่วโลกตอนนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสอยู่แล้ว แต่วิธีในการผลิตนั้นแตกต่างกันออกไป ซึ่งหากยึดตามพื้นฐานของการทำงานของวัคซีน การใช้วัคซีนต่างชนิดกันอาจได้ผลในการป้องกันโควิด-19

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษ กำลังทดสอบการใช้วัคซีนโควิดในรูปแบบ 2 โดสที่ต่างชนิดกัน โดยทดสอบระหว่างวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา โนวาแวกซ์ และไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทค อีกทั้งยังมีการทดสอบแบบเดียวกันในกลุ่มทดลองขนาดเล็กในสเปนในเยอรมนีด้วยเช่นกัน

ณ ตอนนี้ มีข้อมูลที่ระบุว่า การใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการรับมือกับโควิด-19 ขณะที่การใช้วัคซีนต่างชนิดกันนี้ จะมีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์อยู่บ้าง เช่น ปวดเมื่อยตามตัว และหนาวสั่น ซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ในมุมมองของลอว์เรนซ์ ยัง นักไวรัสวิทยาจาก University of Warwick เห็นว่า การใช้วัคซีนต่างชนิดกันนั้นจะให้ภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่า และพบว่ามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายรายที่แนะนำการใช้วัคซีนต่างชนิดกันในบางกรณี

จากประเด็นที่วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยแอสตร้าเซนเนก้า มีส่วนเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดที่พบได้ยาก บางประเทศในยุโรป รวมทั้ง ฝรั่งเศสและเยอรมนี จึงแนะนำให้ผู้คนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดสแรกของแอสตร้าเซนเนก้า ให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดสสอง ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา แทนที่จะเข้ารับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าเหมือนเข็มแรก และเมื่อวันพฤหัสบดี แคนาดาเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศคำแนะนำในลักษณะเดียวกันนี้

แต่ในอังกฤษ เห็นว่า ผู้คนควรพุ่งเป้าไปที่การเข้ารับวัคซีนในรูปแบบ 2 โดสที่เป็นชนิดเดียวกันหากเป็นไปได้ โดยแนะว่าถ้าฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไปในเข็มแรก ก็ควรฉีดแอสตร้าเซนเนก้าต่อเป็นเข็มที่สอง ยกเว้นว่าบุคคลที่รับวัคซีนมีประวัติสุขภาพเกี่ยวกับปัญหาลิ่มเลือด หรือปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook