"เด็ก" กับ "หนังโป๊" พ่อแม่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกได้อย่างไร ?

"เด็ก" กับ "หนังโป๊" พ่อแม่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกได้อย่างไร ?

"เด็ก" กับ "หนังโป๊" พ่อแม่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กกับหนังโป๊ ฟังดูแล้วช่างมีความแตกต่างและห่างไกลจากคำว่าเหมาะสมโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงมักที่จะห้าม และปิดกั้นไม่ให้เด็กได้รู้จักกับหนังโป๊เพราะหวั่นใจกับพฤติกรรมที่จะไม่เหมาะสม แต่การปิดกั้นเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็นการดูแลลูกที่ถูกวิธีจริงหรือ ? มาหาคำตอบกันได้กับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ


เด็กกับหนังโป๊ สำคัญอย่างไร ทำไมต้องใส่ใจ

ในปัจจุบันการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้โดยง่าย ทุกคนมีสื่อและช่องทางของสื่ออยู่ในมือ การจะสืบค้นหรือหาข้อมูลที่ตนเองสนใจนั้นสามารถทำได้ในทันที สำหรับผู้ใหญ่ก็ยังสามารถที่จะมีสติในการแยกแยะข้อมูล จำแนกสิ่งที่เหมาะสมและสิ่งที่ควรระวังได้ แต่สำหรับเด็กๆ อาจจะยังไม่สามารถแยกแยะออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายต้องปวดหัว นั่นคือพฤติกรรมลอกเลียนแบบ และยิ่งเป็นที่ระแวงใจมากขึ้นไปอีกหากปล่อยให้ลูกอยู่กับสมาร์ทโฟนมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะพลาดหรือเผลอกดเข้าไปสู่เว็บไซต์ของหนังโป๊ ซึ่งหากเด็กมีการสอบถามถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น ผู้ปกครองก็สามารถที่จะรับมือและอธิบายได้ทันที แต่เด็กทุกคนไม่ได้มีกระบวนการไตร่ตรองที่เหมือนกัน เมื่อเสพสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัยของตนเองมากเข้า ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ โดยที่อาจจะแสดงออกที่บ้าน หรือที่โรงเรียนก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น


จัดการกับพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไรบ้าง

Michigan State University ได้ให้คำแนะนำในการรับมือและจัดการกับพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กๆ ไว้ว่า

1.สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับลูก

การพาลูกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ดี และสร้างสรรค์ ตลอดจนการพาเด็กไปพบปะกับผู้คนที่จะเสริมให้เด็ก ๆ ได้เป็นตัวของตัวเองและรู้จักคิดบวกได้อย่างมีเหตุและผลนั้นเป็นเรื่องที่ดี ผู้ปกครองควรหาเวลาพาลูกไปทำกิจกรรมที่เสริมสร้างการคิดบวกให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาที่เสี่ยงจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่เหมาะสม

2.จับสังเกตพฤติกรรม

เมื่อเด็กเริ่มแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ผู้ปกครองก็จะได้เห็นพฤติกรรมเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมที่ค้างคาใจและเป็นกังวลอยู่ ให้เลือกสนับสนุนพฤติกรรมที่ดีของเด็ก พยายามให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมด้านดีนั้นให้มากขึ้น

3.จำกัด และหลีกเลี่ยงสื่อที่จะก่อให้เกิดอิทธิพลทางลบ

รายการทีวี สื่อต่างๆ ทั้งในโทรทัศน์และโทรศัพท์ มีทั้งรายการที่สร้างสรรค์และรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง หรือความไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ผู้ปกครองควรจำกัดการรับชมสิ่งเหล่านี้ รวมถึงหลีกเลี่ยงสื่อเหล่านี้ให้ห่างจากเด็ก แต่ถ้าหากไม่สามารถที่จะระมัดระวังได้ตลอดเวลา ควรที่จะมีการให้คำแนะนำ อธิบายถึงความสมเหตุสมผล ให้เด็กได้เข้าใจและไขข้อสงสัยของเขา ว่าห้ามเพราะอะไร ไม่เหมาะสมอย่างไร อย่าปิดกั้นจนกระทั่งเด็กไม่ได้เรียนรู้ในความแตกต่างอื่น ๆ

4. พูดคุยกับลูก

ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่พ่อกับแม่สามารถที่จะอยู่คอยห้ามและเตือนลูกได้ การพูดคุยถึงปัญหาและสถานการณ์ที่เด็กๆ ได้เผชิญมา อธิบายว่าสิ่งนั้นเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงไม่สมควรและไม่เหมาะสม เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้จากการมองเห็นหรือดูเท่านั้น การฟังและทำความเข้าใจก็สามารถก่อให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กได้เช่นกัน

5. เป็นแบบอย่างที่ดี

คุณพ่อคุณแม่ต่างก็เคยเป็นเด็กมาก่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะปฏิบัติตนให้ดี เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก รวมถึงคอยสอนให้ลูกเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆ ทั้งที่เด็กควรทำ และยังไม่ควรที่จะทำ มอบความรักและความเข้าใจให้กับลูก หมั่นสร้างสภาพแวดล้อมและแนวทางของการคิดบวกให้เกิดขึ้นแก่เด็ก

วิธีคุยกับลูกเรื่องหนังโป๊

ผู้ปกครองไม่สามารถที่จะปกปิดในสิ่งที่เด็กไม่สมควรจะรับรู้ไปได้ตลอดทั้งชีวิต เด็กเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน แม้ไม่เห็นในวันนี้ ก็จะต้องเห็นในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้น การดูแลลูกที่ดี อาจไม่ใช่การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเสมอไป แต่เป็นการพูดคุย สร้างความเข้าใจ และให้เด็กได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง อาจจะเป็นวิธีที่พอดีและเหมาะสมมากขึ้น

สำหรับเรื่องของหนังโป๊ที่ผู้ปกครองทั้งหลายมักจะมองว่าไม่ใช่สื่อที่เด็กควรจะต้องดู แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นพื้นฐานมาก่อนก็จะเกิดความสับสน และไม่เข้าใจ ถึงแม้จะถูกต่อต้านจากพ่อแม่ แต่การเข้าถึงสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ทำให้ทุกอย่างสามารถที่จะค้นหาได้ง่ายๆ รวมถึงเว็บโป๊ต่างๆ ก็ยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของการค้นหา แค่เพียงคีย์เวิร์ดเล็กๆ ก็สามารถเชื่อมโยงไปยังเว็บโป๊ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะมีวิธีพูดคุยทำความเข้าใจกับลูก โดยสามารถใช้วิธีต่างๆ ดังนี้

1.สร้างความเข้าใจโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม

ผู้ปกครองมักจะคิดว่าเด็กยังไม่ควรดูหรือรู้จักกับหนังโป๊ ควรโตกว่านี้ก่อนถึงค่อยดู ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าการให้เด็กรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับหนังโป๊ก่อนที่เด็กจะไปเห็นสื่อเหล่านั้นด้วยตัวเองเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะถ้าหากเด็กไปพบกับภาพหรือวิดิโอเหล่านั้นโดยที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ นั่นต่างหากที่จะนำไปสู่พฤติกรรมหรือความเข้าใจที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การสอนเด็กให้รู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสามารถสอนเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เด็กอายุได้ 4-5 ขวบ หรืออาจจะหยิบยกและสอนเรื่องเหล่านี้ในขณะที่เด็กๆ กำลังใช้งานอินเทอร์เน็ตก็สามารถที่จะทำได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงวัยที่เหมาะสม

2.ใช้น้ำเสียงที่เรียบแต่เน้นถึงความสำคัญ

พ่อแม่หลายคนเมื่อเห็นลูกดูหนังโป๊ก็จะโกรธ และโมโห การกระทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เด็กสับสนและขาดความเข้าใจ ควรเปลี่ยนวิธีเป็นการอธิบาย ใช้โทนเสียงและน้ำเสียงที่เรียบง่าย ไม่โมโหหรือขุ่นเคือง แบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องทางเพศหรือหนังโป๊ หรือสอบถามความคิดเห็นของเด็กที่มีต่อหนังโป๊ อธิบายให้เข้าใจว่าภาพที่เห็นในหนังโป๊ ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด พยายามสร้างบรรยากาศของการพูดคุยและแบ่งปันความรู้

3. ให้เด็กได้ตั้งคำถาม

คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ไม่เพียงแต่จะห้ามและปิดกั้น แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ถามข้อข้องใจอีกด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กแนะนำว่าเวลาที่เด็กถาม ควรปฏิบัติต่อคำถามนั้นด้วยดีไม่ใช่ปฏิเสธ เด็กถามเพราะอยากรู้ หน้าที่ของผู้ปกครองคือการให้คำตอบ และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย หากมีคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ ให้พูดความจริงว่ายังไม่แน่ใจ แต่จะหาคำตอบมาให้ในภายหลังแน่นอน

4.รู้จักการใช้จังหวะในการพูดคุย

เวลาที่จับได้ว่าลูกดูหนังโป๊ แทนที่จะดุด่า หรือแสดงความไม่พอใจ ควรใช้จังหวะนี้ในการพูดคุย แชร์ประสบการณ์ต่างๆ เช่นทำไมอวัยวะเพศถึงขยายตัว ทำไมคนเราถึงมีขนในที่ลับ พูดคุยและตอบข้อสงสัย เพื่อที่เด็กจะได้เกิดการเปรียบเทียบ และเข้าใจในทุกบริบทของการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง

5. แบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้อง

บางข้อมูลอาจเป็นเพียงประสบการณ์ด้านเดียวของผู้ปกครอง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการแนะนำแหล่งข้อมูลหรือเว็บไซต์ที่ได้รับการรับรองและมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เมื่อเด็กๆ มีข้อสงสัยก็สามารถที่จะหาข้อมูลได้ในทันที

6.จำแนกความแตกต่าง

เซ็กส์ในชีวิตจริงกับเซ็กส์ในหนังโป๊นั้นมีความแตกต่างกัน ผู้ปกครองควรบอกให้เด็กเข้าใจในความแตกต่างนี้ รวมถึงนักแสดงที่อยู่ในหนังโป๊ก็แตกต่างกับในชีวิตจริงเช่นกัน โดยอาจจะบอกว่า ในชีวิตจริงคนเราจะไม่ใช้วิธีนี้ในการเข้าถึงกัน หรือการกระทำเช่นนี้ในชีวิตจริงไม่ได้สร้างความสุขทางเพศแบบในหนัง

7. อธิบายถึงคำพูดในหนังกับในชีวิตจริง

ในหนังบางเรื่อง เวลาที่ตัวละครมีเซ็กส์และใช้คำว่าไม่ เด็กอาจจะสับสนได้ว่าในเมื่อใช้รูปแบบของคำในเชิงปฏิเสธแล้วทำไมถึงมีภาพการกระทำเช่นนั้น ผู้ปกครองสามารถสร้างความเข้าใจให้เด็กเห็นความแตกต่างกัน เช่น คำว่า ไม่ ในหนังนั้นเป็นเพียงอารมณ์และการแสดง แต่คำว่าไม่ในชีวิตจริง หากต้องการปฏิเสธจริงๆ คำว่าไม่ ก็คือไม่ โดยเฉพาะผู้หญิงสามารถเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ในขณะที่ผู้ชายก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้เกียรติฝ่ายตรงข้าม

กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว

ในยุคปัจจุบันนี้ เนื่องด้วยภาระและหน้าที่การงาน ผู้ปกครองจึงเลือกที่จะให้ลูกอยู่กับสมาร์ทโฟน เพราะประหยัดเวลาในการที่จะต้องมาคอยดูแลลูกตลอดทั้งวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมาร์ทโฟนไม่ได้มอบความรักและความอบอุ่นให้กับเด็กเหมือนกับพ่อแม่ ดังนั้นการพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จึงเป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่สร้างสรรค์มากกว่า โดยสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ เช่น

1.ออกกำลังกายด้วยกัน

หาเวลาว่างพาครอบครัวไปออกกำลังกายด้วยการวิ่ง การเดิน หรือเต้นแอโรบิคที่สวนสาธารณะ นอกจากจะได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ก็ยังทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น

2.ชมภาพยนตร์ร่วมกัน

ในยุคที่ต่างคนต่างมีมือถือ ความใกล้ชิดกันในครอบครัวก็ลดน้อยลง หาเวลาโดยอาจจะเป็นวันหยุดวันใดวันหนึ่งที่ทุกคนในบ้านจะมาดูทีวีพร้อมกัน ในระหว่างที่ดูก็สามารถให้คำแนะนำหรือสอนลูกได้ด้วย

3.พาลูกไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์

เด็กแต่ละคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง บางคนชอบวาดภาพ ขณะที่บางคนชอบกีฬา ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่จะเพิ่มทักษะของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการให้ลูกได้อยู่ห่างจากโทรศัพท์ด้วย

4.ไปเที่ยวด้วยกัน

หากอยู่ที่บ้านแล้วไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันมากพอ การออกไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุดก็ช่วยเสริมสร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัวได้

5.รับประทานอาหารด้วยกัน

การรับประทานอาหารด้วยกัน นอกจากจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว ทุกคนก็ยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยหรือแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่กัน รวมถึงผู้ปกครองก็สามารถที่จะให้แง่คิดและความเข้าใจ ตลอดจนการตอบทุกข้อสงสัยให้กับลูกได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook