“สายตายาว” ปัญหาอื่นๆ และการดูแลสุขภาพดวงตาของวัย 40+

“สายตายาว” ปัญหาอื่นๆ และการดูแลสุขภาพดวงตาของวัย 40+

“สายตายาว” ปัญหาอื่นๆ และการดูแลสุขภาพดวงตาของวัย 40+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่ทยอยมาแวะเวียนทักทายผู้ใหญ่วัย 40+ กันเรื่อยๆ แล้ว ดวงตาก็เป็นปัญหาสำคัญที่หลายคนอาจไม่ค่อยให้ความสนใจกันมากนัก ทั้งปล่อยให้สายตายาวมองใกล้ไม่ชัด ถือหนังสือยืดสุดแขนทุกครั้งไป หรืออาจจะแค่ซื้อแว่นสายตามั่วๆ ใส่อันไหนชัดก็ซื้ออันนั้น แต่จริงๆ แล้ว สุขภาพดวงตาของวัยกลางคนอายุ 40 ปีขึ้นไปมีมากกว่าแค่ปัญหา “สายตายาว”

พญ. วชิรา สนธิไชย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ดร. มายูมิ ฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา และอาจารย์พิเศษภาควิชาทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวในงานฉลองครบรอบ 60 ปี เลนส์แว่นตาโปรเกรสซีฟแบรนด์ วารีลักซ์ ว่า วัยกลางคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มส่งสัญญาณปัญหา “สายตายาว” มองใกล้ๆ ไม่ค่อยเห็น ถ้าไม่ใส่แว่น ต้องเพิ่ง จ้องบ่อยๆ จนทำให้เราเกร็งตาจนปวดตา ตาล้า ไปจนถึงปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะในตอนเย็นที่เราใช้สายตามาอย่างหนักตลอดทั้งวันจะยิ่งออกอาการตาล้า ปวดตา ปวดศีรษะมากขึ้น

 

ทำไม วัย 40+ ถึงมีปัญหาสายตายาว?

พญ. วชิรา สนธิไชย อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เลนส์ดวงตาของคนเราจะมีความยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการโฟกัสภาพทุกระยะ ระยะใกล้เลนส์ของดวงตาจะป่องตัวออก เมื่อมองระยะไกลเลนส์ของดวงตาก็จะปรับตัวแบนลง แต่เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ของดวงตาไม่ยืดหยุ่นเหมือนแต่ก่อน ทำให้เมื่อมองระยะใกล้ เลนส์ไม่ป่องออกมาเท่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้มองระยะใกล้ได้ไม่ชัดเจน นี่จึงเป็นสาเหตุของปัญหาสายตายาวตามวัย

 

ปัญหาสุขภาพดวงตาอื่นๆ ของวัย 40+

นอกจากปัญหาสายตายาวตามวัยแล้ว วัย 40 ปีขึ้นไปยังเสี่ยงโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาที่เสื่อมลงตามวัยอีกมากมาย เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ที่หลายคนมักไม่เข้าตรวจสุขภาพของดวงตาอย่างละเอียด โดยให้ความสนใจกับการตรวจร่างกายประจำปีในส่วนอื่นๆ ของร่างกายมากกว่า และเข้าพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการแล้วเท่านั้น ดังนั้นปัญหาสุขภาพดวงตาของวัย 40 ปีขึ้นไปจึงมักพบในช่วงระยะเวลาที่แก้ไขได้ลำบาก

นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ยังมีส่วนสำคัญของปัญหา “ตาแห้ง” อีกด้วย นอกจากดวงตาของคนเราจะแห้งลงเมื่อเราอายุมากขึ้นแล้ว การมองหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เราลดจำนวนครั้งในการกระพริบตาลง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เราตาแห้ง จากค่าเฉลี่ยจำนวนการกระพริบตาของคนปกติอยู่ที่ 16 ครั้งต่อนาที กลายเป็น 3 ครั้งต่อนาทีเมื่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นในปัจจุบันผู้ป่วยหลายคนจึงมักมาพบแพทย์ด้วยอาการตาแห้งโดยไม่ทราบสาเหตุ

ส่วนใครที่ใส่คอนแทคเลนส์แทนการใส่แว่นมาตลอด การใส่คอนแทคเลนส์นานๆ เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาตาแห้งได้เช่นกัน และการใส่-ถอดคอนแทคเลนส์ในแต่ละครั้ง สามารถสร้างบาดแผลเล็กๆ ในดวงตาได้ เป็นอันตรายต่อดวงตาในอนาคตได้อีกด้วย  

 

“แว่นสายตา” วิธีแก้ปัญหาสายตายาวของวัย 40+ ที่สะดวกที่สุด

สายตายาวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  • สายตายาวตามวัย ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ วัยกลางคน (พบได้กับคนที่มีอายุราวๆ 40 ปีขึ้นไป)

  • สายตายาวตั้งแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของค่าสายตาตั้งแต่กำเนิด

 

ปัจจุบันการทำเลสิกแก้ปัญหาสายตายาวตามวัย ยังไม่สามารถเห็นผลได้ 100% ในระยะยาว (สำหรับปัญหาสายตายาวตั้งแต่กำเนิด สามารถรักษาด้วยวิธีเลสิกได้) หรือหากแก้ปัญหาด้วยการทำเลสิก ยังมีโอกาสที่ค่าสายตาจะกลับมายาวได้อีกครั้ง ดังนั้นแว่นสายตาจึงเป็นทางออกที่สะดวกสบาย และปลอดภัยมากที่สุดของวัย 40 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาเรื่องสายตายาว

 

เลือก “เลนส์” ให้เหมาะกับ “แว่น” ของเรา

เลนส์ของแว่นสายตาสมัยนี้มีให้เลือกมากมายเป็นสิบๆ ชนิด เพื่อให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของเรา หากคิดจะตัดแว่น จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์อย่างละเอียดว่าต้องการใส่แว่นเพื่อใช้ในโอกาสใดบ้าง เช่น

  • เลนส์ชั้นเดียวที่มีค่าสายตาเฉพาะระยะใกล้ๆ ในช่วงแขน เช่น อ่านหนังสือ เล่นมือถือ และถอดแว่นเมื่อต้องมองระยะไกล เช่น ดูทีวี

  • เลนส์สองชั้น เป็นที่มีเลนส์สำหรับมองใกล้แปะอยู่ที่ด้านล่างของเลนส์ สำหรับกิจกรรมที่ต้องทำทั้งระยะใกล้ และมองด้วยเลนส์ปกติสำหรับกิจกรรมระยะไกล

  • เลนส์โปรเกรสซีฟ หรือเลนส์ไร้รอยต่อ ที่สามารถปรับเลนส์ให้มีค่าสายตาหลายๆ ค่าในแต่ละจุดที่มองได้ภายในเลนส์เดียวกัน โดยไม่เห็นรอยต่อชัดเจน ให้ความสบายตาเมื่อสวมใส่เหมือนเลนส์ชั้นเดียว แต่สามารถครอบคลุมค่าสายตาทั้งระยะใกล้ ใกล้ได้เหมือนเลนส์สองชั้น

  • เลนส์เฉพาะทาง สำหรับผู้ที่ต้องการใส่แว่นตาเพื่อกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น นักวิ่งที่ต้องการแว่นเพื่อใส่ตอนวิ่งโดยเฉพาะ อาจจะเป็นเลนส์ทรานซิชั่นที่สามารถปรับสีของเลนส์ให้เข้มขึ้นได้เมื่อสัมผัสกับแสงยูวีแรงๆ หรือคุณหมอผ่าตัดที่ต้องการเลนส์กันฝ้าขึ้นเมื่อต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะผ่าตัดหลายชั่วโมง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเลนส์แว่นให้เหมาะกับสุขภาพดวงตาของแต่ละคนด้วย เช่น ถ้าค่าสายตาในเวลากลางคืนกับกลางวันแตกต่างกันมาก หรือคนที่ต้องการเลนส์ที่กรองแสงสีฟ้าได้ เมื่อต้องทำงานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

เรื่องน่ารู้ : แสงสีฟ้าที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ มีทั้งสีฟ้าอมม่วงที่ทำร้ายดวงตา และผิวหนังรอบดวงตาของเราให้เหี่ยวย่นก่อนวัยได้ แต่แสงสีฟ้าอมเขียว เป็นแสงที่ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ และมีผลต่อการนอนหลับพักผ่อนของเราให้สบายขึ้นได้ ดังนั้นควรเลือกซื้อเลนส์แว่นที่สามารถกรองเอาแสงสีฟ้าอมม่วงออก ไม่จำเป็นต้องป้องกันแสงสีฟ้าทั้งหมดก็ได้

 

เทคนิคการถนอมดวงตาของตัวเองอย่างง่ายๆ

ใช้หลัก 20 20 20 นั่นคือ ทุกๆ 20 นาทีของการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้พักสายตาอย่างต่ำ 20 วินาที โดยมองไปที่สิ่งของที่มีสีเขียว เช่น ต้นไม้ ในระยะ 20 ฟุตขึ้นไป เท่านี้ก็ช่วยให้สายตาของเราไม่ทำงานหนักจนเหนื่อยล้าอย่างทุกวันที่ผ่านมาได้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook