ไขข้อสงสัยว่าทำไมพ่อแม่บางคนถึงไม่เชื่อใจลูกตัวเอง

ไขข้อสงสัยว่าทำไมพ่อแม่บางคนถึงไม่เชื่อใจลูกตัวเอง

ไขข้อสงสัยว่าทำไมพ่อแม่บางคนถึงไม่เชื่อใจลูกตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องราวในบ้านหลังหนึ่งนั้น ๆ ไม่ใช่แค่คนเป็นพ่อเป็นแม่หรอกที่รู้สึกเป็นกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้าน หรือหนักอกหนักใจกับลูก ๆ แต่ลูกหลานหลายบ้านก็มีความรู้สึกหนักอกหนักใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองของตัวเองเหมือนกัน หลัก ๆ ก็คือรู้สึกว่าหลายสิ่งอย่างที่พวกท่านกำลังทำมันมากเกินไป จนเหมือนกับเป็นการบังคับ กดดัน คาดหวัง วาดกรอบ ที่ทำให้เด็กหนักจนเริ่มรับไม่ได้ และอีกปัญหาที่สำคัญมากก็คือ การรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เชื่อใจ จะทำอะไรด้วยตัวเองแต่ละอย่างเป็นเรื่องยาก น่าลำบากใจ มักจะโดนกีดกันหรือจบด้วยการไม่อนุญาตเสมอ ทั้งที่เด็กก็โตแล้ว

ประเด็น​เรื่อง​ความ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ ​เป็นต้นเหตุ​ของสถานการณ์​ตึงเครียด​ไม่​ใช่​น้อย​ระหว่าง​ลูกกับ​พ่อ​แม่ แม้เด็กจะเข้าใจดีว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วง แต่อย่างที่บอกก็คือหลาย ๆ อย่างมันมากเกินไป ตัวเด็กก็มีชีวิต มีหัวใจ แต่แทบไม่เคยได้รับอนุญาตให้ได้มีอิสระของตนเอง ทำอะไรต้องอยู่ในสายตาทุกอย่าง ต้องบงการควบคุมกันตลอด บางทีพูดหรือบอกอะไรก็ไม่ฟัง เหมือนไม่เชื่อใจไม่ไว้ใจกัน ทำให้บาง​ครั้ง​เด็กก็อาจ​รู้สึก​ว่า​พ่อ​แม่​ควร​เชื่อใจ​ลูกให้​มาก​กว่า​นี้​ไหม? เพราะนี่ก็คือลูกของพ่อกับแม่ ที่พ่อแม่เลี้ยงมานี่นา ทำไมล่ะ ทำไมถึงไม่เชื่อใจลูกตัวเอง

ลูกก็ไม่ได้ทำตัวให้น่าเชื่อใจ

ประเด็นหลักที่สำคัญเลยคือ ลูกบางคนก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือในสายตาพ่อแม่เท่าไรนัก โตแล้วแต่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างไปในทางเกเร แล้วเรียกร้องหาความเชื่อใจ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลอะไรที่พ่อแม่จะรู้สึกไม่เชื่อใจ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ค่อนข้างพูดยาก เพราะถ้าคนนอกที่ไม่รู้ว่าพฤติกรรมเด็กเป็นแบบไหนก็จะต่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองว่าเผด็จการ ไม่ให้อิสระ แต่ในทางกลับกันหากเด็กคนนั้นเป็นอิสระแล้วออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะโดนต่อว่าว่าไม่เลี้ยงลูกให้ดี ไม่อบรมสั่งสอนอีกเช่นกัน

คิดว่าลูกเป็นสมบัติ เอาตัวเองเป็นใหญ่ เผด็จการชีวิตลูก

มาจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองเองที่ต้องการจะควบคุมบงการชีวิตลูก เพราะมองว่าลูกเป็นสมบัติของตนเอง จึงพยายามที่จะขีดกรอบให้ลูกไว้อยู่แล้ว บงการ เผด็จการทุกอย่างเสร็จสรรพชนิดที่ลูกไม่มีสิทธิ์คิดหรือตัดสินใจอะไรเอง ในความเป็นจริง มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะนี้ ฉะนั้น ไม่ว่าลูกจะทำตัวน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ เป็นเด็กดีหรือเด็กเกเร หรือจะพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนที่เชื่อใจได้แค่ไหน ก็แทบจะไม่มีผลอะไร สุดท้ายพ่อแม่ประเภทนี้ก็จะเข้มงวด บังคับ กำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างในชีวิตลูกอยู่ดี ไม่ไว้ใจให้ลูกทำอะไรเพราะเดี๋ยวจะผิดกรอบที่วางไว้

สภาพสังคมและสภาพแวดล้อม

เด็กเป็นวัยที่อ่อนต่อโลก อ่อนประสบการณ์ เมื่อโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นอยากลอง มีแนวโน้มที่จะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ในขณะเดียวกันสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมทุกวันนี้มีแต่สิ่งยั่วยุเต็มไปหมด สังคมไม่ได้น่าอยู่ สภาพแวดล้อมก็ไว้ใจใครไม่ได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ ทำให้เด็กมีโอกาสเลียนแบบจากสิ่งที่เห็น สภาพสังคมแบบนี้เป็นสภาพที่พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นแล้วก็รู้สึกเป็นกังวล ห่วงบุตรหลานของตนเอง กลัวว่าจะไม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะคิดนู่นนี่นั่นได้เอง จึงพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตลูกแทน

เพื่อนของลูก

บางที ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่เชื่อใจลูกตัวเองหรอก ที่ไม่เชื่อคือ “เพื่อน” ของลูกต่างหาก เพราะการเลือกคบเพื่อนของบุตรหลานมักจะอยู่เหนือการควบคุมเสมอ เป็นไปได้ยากที่จะบงการให้คบคนนั้นเลิกคบคนนี้ และถึงจะห้ามคบเพื่อนบางคน สุดท้ายก็ไม่รู้อยู่ดีว่าแอบติดต่อกันหรือเปล่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำได้แค่สอนเรื่องการคบเพื่อน และให้ระวังตัวแม้จะเป็นเพื่อนสนิทก็ตาม ดูเหมือนจะเป็นวิธีเดียวที่เข้าใกล้การคบเพื่อนของลูกได้ดีที่สุด ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้มาก ฉะนั้น จึงเปลี่ยนมาเป็นการตั้งเงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่าง ๆ กับลูก จะควบคุมลูกได้ง่ายกว่า

รู้สึกว่าตนเองเข้าไปควบคุมได้ยาก

เด็กที่โตแล้วจะเริ่มออกห่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองไปเรื่อย ๆ ซึ่งการที่เด็กยิ่งโต ก็จะออกห่างจากการควบคุมไปเรื่อย ๆ เมื่อใดก็ตามที่เด็กมาขอทำอะไรบางอย่างที่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าไปควบคุมไม่ได้ ก็จะปฏิเสธเวลาที่เด็กมาขอ หรือพยายามจะหาวิธีให้เด็กเข้ามาอยู่ในการควบคุมของตนเอง ทำให้เด็กรู้สึกเครียด กดดันที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ปล่อยให้ทำอะไรเอง หรือให้มีให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระบ้าง ในขณะที่เด็กก็พยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าโตแล้วและรับผิดชอบตัวเองได้ ตรงนี้ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เด็กเตลิดได้

ไม่มั่นใจว่าตนเองอบรมสั่งสอนลูกดีพอหรือยัง

เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มักจะโทษตัวเองอยู่เสมอว่าที่ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือที่ไม่ค่อยได้ดั่งใจ เป็นเพราะตัวเองเลี้ยงลูกมาไม่ดีพอ (แต่ไม่ได้บอกให้ลูกฟัง) เพราะฉะนั้น ก็ย่อมรู้สึกไม่มั่นใจในผลลัพธ์ด้วยว่าลูกจะเป็นเด็กดีพอไหม จากการที่ตัวเองสอนมาแบบนี้ เมื่อลูกโตขึ้น เริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง พ่อแม่ประเภทนี้ก็จะไม่ค่อยกล้าปล่อยลูกไปเผชิญกับสังคมภายนอกเท่าไรนัก ยังคงมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่จะเชื่อใจลูกตัวเอง ตรงที่ก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองเลี้ยงดูลูกมาดีแล้วหรือยังที่จะปล่อยให้ออกไปเผชิญโลกกว้าง

อยู่บ้านอย่าง อยู่นอกบ้านอีกอย่าง

คำว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนก็เข้าใจแบบนั้นจริง ๆ เพราะพฤติกรรมของเด็กคืออยู่บ้านทำตัวเป็นเด็กดี แต่พอออกนอกบ้านหรืออยู่กับกลุ่มเพื่อนก็กลายเป็นอีกคนที่พ่อแม่ไม่รู้จัก ซึ่งจริง ๆ แล้ว กรณีนี้จะบอกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้จักบุตรหลานตัวเองจริง ๆ ก็ได้ ไม่รู้ว่าเขาคบเพื่อนแบบไหน ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนแบบไหน พอมีข่าวในลักษณะนี้บ่อย ๆ เข้า พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ บ้านก็อาจจะรู้สึกไม่เชื่อใจลูกหลานตัวเองได้เช่นกัน เพราะกลัวว่าจะโดนเด็ก ๆ เล่นละครใส่เวลาอยู่บ้าน กว่าจะพิสูจน์ความเชื่อใจกันได้ก็ต้องใช้เวลานานทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook