5 เหตุผลที่อธิบายว่า เรา “สำรวจอวกาศ” ไปเพื่ออะไรกัน?

5 เหตุผลที่อธิบายว่า เรา “สำรวจอวกาศ” ไปเพื่ออะไรกัน?

5 เหตุผลที่อธิบายว่า เรา “สำรวจอวกาศ” ไปเพื่ออะไรกัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แค่เรื่องบนโลกยังสำรวจกันไม่พออีกเหรอ ถึงได้หาไปไกลอย่างนอกโลก และที่สำคัญ คือมนุษย์บางกลุ่มจะสนใจสำรวจอวกาศไปทำไม อยู่ตั้งไกล แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องของอวกาศไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับคนไทย เพราะประเทศไทยเองก็มีความใฝ่ฝัน (และเริ่มลงมือ) ที่จะสร้างยานไปท่องอวกาศ หรือส่งไปเยือนดวงจันทร์บริวารของโลก เป้าหมายในอีก 7 ปีข้างหน้า ตามที่ ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เคยให้สัมภาษณ์

Tonkit360 จึงขอเสนอสาเหตุหลัก ๆ ที่ว่าทำไมเราถึงต้องออกไปสำรวจอวกาศ และทำไมเราถึงต้องสนใจว่าเทคโนโลยีในการสำรวจอวกาศไปถึงไหนแล้ว

1. หาโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะอพยพมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

การพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เกิดขึ้นเพราะความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สนใจอวกาศ ก็เริ่มมาจากความอยากรู้ว่านอกจากดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกแล้ว ในเอกภพยังมีอะไรอีกบ้าง ยังมีดาวเคราะห์ดวงไหนอีกไหมที่มนุษย์เราจะอพยพไปอยู่ได้ หากโลกของเราสิ้นอายุขัยแล้วจริง ๆ จึงต้องมีการออกไปสำรวจดูว่ามีดาวเคราะห์ดวงไหนที่สภาพแวดล้อมเหมาะกับสิ่งมีชีวิตเหมือนโลก ดาวเคราะห์ดวงไหนที่มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิต รวมถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะอพยพไปอยู่บนดาวดวงใหม่

อย่างที่เราเห็น ว่าทุกวันนี้โลกของเราเผชิญภัยพิบัติมากมายนับไม่ถ้วน ทำให้เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าวันสิ้นโลกที่เขาว่ากันนั้นจะมีจริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีจริงเราก็ต้องเอาตัวรอดจากภัยพิบัตินั้น ความหวังก็คือ การไปอยู่บนโลกใบใหม่นั่นเอง

2. หาองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การกำเนิดเอกภพ

การศึกษาวิทยาศาสตร์ถูกบรรจุให้อยู่ในการเรียนรู้รู้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานและความรู้ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด การสำรวจอวกาศจนได้ความรู้ใหม่ ๆ ก็จะนำมาอัปเดตความรู้ที่มนุษย์ควรรู้ เช่น ครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยจัดดาวพลูโตเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ของระบบสุริยจักรวาล แต่แล้ววันหนึ่งก็ปลดดาวพลูโตออก ทั้งที่ดาวยังอยู่ที่เดิม สำรวจไปสำรวจมาก็จัดดาวพลูโตอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์แคระ เป็นต้น

326360

องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโลกและอวกาศ สามารถนำมาพัฒนาต่อจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ได้ ฉะนั้น การสำรวจอวกาศของคนบางกลุ่มจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการยกระดับองค์ความรู้ของมนุษยชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความรู้ด้านต่าง ๆ ในเมื่อเอกภพกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

และองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์แต่ละดวงมีอายุขัยของมัน อย่างความรู้เรื่องกำเนิดเอกภพและสิ่งมีชีวิต และมนุษย์ยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้ทรัพยากรต่าง ๆ มีแต่จะหมดไป ธรรมชาติสร้างขึ้นมาทดแทนไม่ทัน การไปเยือนดาวเคราะห์ดวงอื่นก็เพื่อค้นหาแหล่งทรัพยากร แหล่งพลังงาน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์บนโลก หากท้ายที่สุดเราอาจไม่ถึงขั้นทิ้งโลก การได้ไปเยือนก่อนก็มีโอกาสจับจองก่อน เพราะมันยังไม่มีเจ้าของ

3. ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศมาพัฒนาใช้ในชีวิตประจำวัน

รู้หรือไม่? ว่าอุปกรณ์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นจากการแก้ปัญหาเมื่อมนุษย์ต้องไปอยู่นอกโลก เช่น อาหารแช่แข็ง ก็พัฒนามาจากอาหารที่นักบินอวกาศนำไปกินนอกโลก เครื่องซีทีสแกน เป็นเครื่องมือช่วยเหลือการมองเห็นและนำทางสำหรับนักบินอวกาศ ที่ต้องเดินทางในห้วงอวกาศที่มืดสนิท ฉนวนกันความร้อน ก็พัฒนามาจากชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก เพราะต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงจนเกิดความร้อน และกลายเป็นพลังงานส่งยานออกไปนอกโลก ดาวเทียม ที่ใช้สำรวจทรัพยากรของโลก และทำนายสภาพอากาศ

และในอนาคต หากความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศล้ำหน้าไปมากกว่านี้ เราอาจเห็นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นบนโลกก็เป็นได้ อาจเป็นอุตสาหกรรมทัวร์อวกาศ อุตสาหกรรมโรงแรมในอวกาศ อุตสาหกรรมเก็บขยะอวกาศ ด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีคู่แข่งน้อย โอกาสทำการตลาดก็มาก ใครจะรู้ว่าอาจสร้างเม็ดเงินมหาศาลในอนาคตก็เป็นได้

4. การสังเกตการณ์เทหวัตถุที่จะตกลงสู่พื้นโลก

โลกของเราเคยได้รับภัยรุนแรงจากนอกโลกอยู่บ่อยครั้ง เช่น อุกกาบาตตก ซึ่งการสำรวจอวกาศจะช่วยให้เราได้องค์ความรู้ในการสังเกตการณ์และคำนวณ วันเวลาที่อุกกาบาตจะตกหรือดาวหางจะพุ่งชนโลก การสังเกตจุดดำบนดวงอาทิตย์ ซึ่งช่วยในการทำนายความรุนแรงของพายุสุริยะ เพื่อที่จะได้เตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า แม้จะมาจากนอกโลกแต่ล้วนสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลก

ไม่เพียงเท่านั้น ประโยชน์ที่ได้จากการสำรวจอวกาศ ยังนำมาใช้คำนวณเพื่อทำนายการเกิดจันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก พระจันทร์ยิ้ม หรือปรากฏการณ์ใดก็ตามให้มนุษย์โลกอย่างเราได้ชมกัน ถ้าไม่มีการคำนวณหรือทำนายไว้ล่วงหน้า เราก็จะไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวดูปรากฏการณ์ที่สวยงามเหล่านั้นได้

326613

5. นัยทางการเมือง

การเดินทางออกไปท่องอวกาศนั้น นับเป็นการประกาศแสนยานุภาพความเป็นมหาอำนาจของบางประเทศมานานแล้ว เพราะการที่มนุษย์ชาติไหนสักชาติจะส่งยานอวกาศ ส่งมนุษย์โลกขึ้นไปท้าทายแรงดึงดูดของโลกนั้น แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เทคโนโลยี วิศวกร บุคลากร รวมถึงเงินทุนมหาศาล ทั้งหมดนี้ใช้เป็นหลักฐานได้ว่าประเทศนั้น ๆ ยิ่งใหญ่มากแค่ไหน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือสงครามเทคโนโลยีอวกาศ ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจโลกในช่วงสงครามเย็น อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต และปัจจุบันก็ยังแข่งขันกันด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับเมื่อครั้งสงครามเย็น คือแย่งชิงความเป็นใหญ่ในโลก ก็คือ สหรัฐอเมริกาและจีน

ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีอวกาศยังส่งเสริมเรื่องความมั่นคงของประเทศได้ เช่น เทคโนโลยีดาวเทียมในการสอดแนม เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อประโยชน์ทางการทหาร หรือการพัฒนาที่เราไม่อยากเห็นเป็นรูปเป็นร่าง คือการสั่งให้ดาวเทียมยิ่งขีปนาวุธ อะไรทำนองนี้

เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจทำให้เราต้องคิดใหม่ว่าความรู้เรื่องอวกาศ และการไปเที่ยวนอกโลกของคนบางกลุ่ม มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เพราะแท้จริงแล้วมันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด หลายสิ่งหลายอย่างที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ก็ได้มาจากการสำรวจอวกาศ ไม่ต้องดูไกล แค่ 1 สัปดาห์มี 7 วัน กลางวันกลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ ก็เป็นความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้จากการสำรวจอวกาศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook