เข้าหน้าฝนแล้ว! ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ

เข้าหน้าฝนแล้ว! ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ

เข้าหน้าฝนแล้ว! ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่คนบ่นเรื่องอากาศร้อนกันมานาน ในที่สุดก็ได้ชุ่มฉ่ำสมใจอยากกันแล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ประกาศว่าปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.นี้เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนต.ค. 2563

แต่การมาของหน้าฝนในปีนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะอาจทำให้ COVID-19 กลับมาระบาดระลอกสองได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นในสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จากเดิมที่สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานสุดประมาณ 4 ชั่วโมง จึงทำให้โอกาสแพร่ระบาดเกิดได้ง่ายยิ่งขึ้น

ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออกมักระบาดหน้าฝน

อีกทั้งหน้าฝนมักมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่าปีที่แล้วมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากกว่า 363, 0000 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งคือกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้เลือดออก ที่มักจะระบาดในหน้าฝนด้วย ซึ่งหากปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ดังนั้น ช่วงหน้าฝนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์เกี่ยวกับ COVID-19 จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เป็นอันขาด

ควรเปลี่ยนหน้ากากผ้าหากเปียกชื้น

โดยนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำว่า สิ่งที่ประชาชนยังต้องทำเหมือนเดิมคือการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

ส่วนสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมขึ้นมา คือการสำรองหน้ากากผ้าสำหรับใช้ต่อวันด้วย เมื่อใดที่ถูกฝนหรือละอองฝนจนเกิดความเปียกชื้น ขอให้เปลี่ยนใหม่ทันที

อากาศชื้นเอื้อต่อเชื้อแบคทีเรีย-จุลินทรีย์

ขณะที่กรมอนามัยแนะนำให้พกร่ม เสื้อกันฝน เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองต้องเปียกฝน โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ หากเปียกฝนใช้ผ้าขนหนูซับผมให้แห้งให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ ช่วงอากาศชื้น ๆ ในหน้าฝนยังเป็นอุณหภูมิที่เหมาะกับเชื้อโรค แบคทีเรียและจุลินทรีย์ทั้งหลายด้วย จึงควรล้างผัก ผลไม้ และวัตถุดิบทุกชนิดให้สะอาด โดยเฉพาะผักและผลไม้สดต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำโซเดียมไบคาร์บอเนต / น้ำส้มสายชู และล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook