เอารถเข้าศูนย์เขาคิด “ค่าแรง” อย่างไร?

เอารถเข้าศูนย์เขาคิด “ค่าแรง” อย่างไร?

เอารถเข้าศูนย์เขาคิด “ค่าแรง” อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ทุกท่านที่นำรถเข้าไปซ่อมหรือเช็กระยะที่ศูนย์บริการ เคยสงสัยไหมครับว่าศูนย์บริการแต่ละที่เขาคิดค่าแรงอย่างไร และรถแต่ละยี่ห้อมีค่าแรงเท่ากันหรือไม่ รวมถึงมาตรฐานของ “ค่าแรง” ของศูนย์บริการอยู่ตรงไหน ผมเองก็สงสัยเหมือนครับ (ฮา ๆ)

     จำกันได้ไหมครับ หากเป็นช่วงที่เราออกรถมาใหม่ ๆ เวลานำรถเข้าไปเซอร์วิสจะมีโปรโมชันที่บอกว่า “ฟรีค่าแรง” แต่พอใช้รถไปได้สักระยะ เริ่มที่จะคิดค่าแรง ทุกครั้งที่เราเห็นตัวเลขสุดท้ายและจ่ายเงินก็เริ่มที่จะปาดเหงื่อมากขึ้น แม้บางครั้งจะมีส่วนลดค่าแรง แต่ก็ได้แต่แอบคิดในใจ “นี่ลดแล้วเหรอ”

     วันก่อนผมเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กท่านหนึ่งโพสต์รูปประกาศจากศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งตัวย่อ H ว่าแต่ผมจะย่อทำไมครับเนี่ย! ข้อความดังกล่าวระบุว่าทางศูนย์บริการขอปรับขึ้นราคาค่าแรงตั้งแต่ 1 ส.ค. 65 เป็นต้นไป จาก 1 ชั่วโมง งานละ 515 บาท ไม่รวมภาษี เป็น งานละ 550 บาทไม่รวมภาษีครับ

     ยอมรับตามตรงนะครับ ที่ผ่านมาผมไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดเรื่อง “ค่าแรง” มากนัก แต่พอได้เห็นตัวเลขดังกล่าวก็ถึงกับอึ้งพอสมควรว่าค่าแรงที่ศูนย์บริการมันสูงขนาดนี้เลยเหรอ ที่สำคัญคิดเป็นรายชั่วโมงเสียด้วย และเมื่อมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าหากนำรถเข้าเช็กตอนเช้า และรับรถตอนเย็นค่าแรงไม่ทะลุ 5 พันเลยหรือ

     เพื่อความกระจ่างผมเลยยกหูหาพรรคพวกที่เป็นผู้จัดการโชว์รูมและศูนย์บริการรถยี่ห้อหนึ่ง (แต่ไม่ใช่ยี่ห้อ H นะครับ) ได้ความว่า ราคาค่าแรงของศูนย์บริการคิดเป็นรายชั่วโมงจริง แต่เป็นการคิดจากขั้นตอนการทำงานจากเริ่มจนจบงานในแต่ละเคส และแต่ละงานก็มีมาตรฐานกำหนดชัดเจนว่าใช้เวลาเท่าไหร่

s01

     ยกตัวอย่างการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ส่วนใหญ่จะใช้เวลาราว 15-20 นาที แล้วแต่ยี่ห้อศูนย์บริการนั้น ๆ สมมติว่าใช้เวลา 15 นาที หากเป็นตามราคาใหม่ของศูนย์ H ก็จะคำนวนค่าแรงได้ดังนี้ คือ 550 คูณกับ 0.25 ชั่วโมง (15 นาที) ก็จะเท่ากับ 137.5 บาท ไม่รวมภาษี ก็จะเป็นค่าแรงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องครับ

     ทีนี้เวลาเรานำรถเข้าศูนย์ บางทีมันไม่ได้ทำแค่อย่างเดียว การเปลี่ยนอะไหล่ต่าง ๆ ในส่วนอื่นก็คิดเป็นงานซ่อมด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อาทิ เปลี่ยนก้านปัดน้ำฝนก็ใช้เวลาไม่มาก หรือหากเปลี่ยนผ้าเบรกก็จะใช้เวลามากขึ้นมาหน่อย

     ทีนี้อีกคำถามที่ผมสงสัยคือ อ้าว! แล้วใครเป็นคนกำหนดจำนวนระยะเวลาในการซ่อม และหากช่างดันทำช้าเราไม่โดนค่าแรงเพิ่มเหรอ ซึ่งประเด็นนี้คำตอบคือ ศูนย์บริการเป็นผู้กำหนดระยะเวลางานซ่อมที่เป็นมาตรฐานไว้ครับ หากช่างทำเกินเวลาเราจะไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม และตัวของช่างเองก็จะถูกลงโทษหรือประเมินผลงานก็ว่ากันไป

     จริง ๆ แล้วฟังดูเหมือนแฟร์ ๆ นะครับในฐานะผู้บริโภค แต่หากลงลึงในรายละเอียด ทางศูนย์ก็ไม่เคยแจ้งเลย ว่าหากซ่อมงานนี้จะใช้เวลานานแค่ไหน เราจะโดนค่าแรงเท่าไหร่ มีแต่โทรมาถามว่าอะไหล่ตัวนี้เริ่มเสื่อมจะให้ดำเนินการซ่อมเลยไหม สุดท้ายผมก็ยังมองว่าเราเสียเปรียบอยู่ดี

     ฉะนั้น เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเมื่อนำรถเข้าศูนย์ “ค่าแรง” คิดอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเองล่ะครับว่าจะจ่ายแพงหน่อยซื้อความสบายใจจากศูนย์หรือไม่ หรือจะไปหาอู่นอกที่คิดค่าแรงถูกกว่าก็ไม่ว่ากันครับ

ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook