M-Flow ของดี แต่ต้องใช้เวลา

M-Flow ของดี แต่ต้องใช้เวลา

M-Flow ของดี แต่ต้องใช้เวลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     การที่คนเราทำอะไรจนเคยชินไปแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แม้สิ่งนั้นอาจดีกว่าของเดิม แต่หากขั้นตอนยุ่งยาก ลำบากกว่าของเดิม ก็ย่อมมีเสียงบ่นเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับ M-Flow ระบบเก็บเงินทางด่วนแบบใหม่ ที่กำลังเริ่มต้นในบ้านเราเวลานี้ครับ

     ทางด่วนที่เสียเงินหลัก ๆ ในบ้านเรา จะแบ่งเป็น 3 ประเภทครับ 1. ทางด่วนที่ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันมี 8 สายทั่วกทม. 2. มอเตอร์เวย์ ที่ดูแลโดยกรมทางหลวง และ 3. โทลล์เวย์ หรือทางยกระดับอุตราภิมุข ที่ดูแลโดยบริษัทยกระดับทางดอนเมือง จำกัด (มหาชน)

     ปัจจุบัน ทางด่วนที่ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สามารถใช้ Easy Pass ร่วมกับ M-Pass ของมอเตอร์เวย์ ที่ดูแลโดยกรมทางหลวงได้ แต่มีอยู่เจ้าเดียว คือ โทลล์เวย์ ที่ยังอนุรักษ์นิยม ไม่สามารถใช้ระบบจ่ายเงินอัตโนมัติร่วมกับทางอื่นได้ แถมราคาแพงซะด้วย

     ช่วงเดือนที่ผ่านมา หากใครใช้เส้นทางด่วนเป็นประจำ จะเห็นข้อความประชาสัมพันธ์ระบบเก็บเงินทางด่วนแบบใหม่ หรือ M-Flow ที่ย่อมาจาก Multi–lane free flow อยู่ทั่วกทม. เพราะเขาเพิ่งมีการเปิดให้ลงทะเบียน และทดลองใช้กับมอเตอร์เวย์บางด่านบ้างแล้ว

     เจ้าระบบเก็บเงินทางด่วนแบบใหม่นี้ ทำงานด้วย AI สแกนทะเบียนรถ ไม่ต้องติดบัตรใด ๆ ไว้ที่รถ ขับผ่านด่านได้โดยที่ไม่ต้องมีไม้กั้น ไม่ต้องเติมเงินเข้าระบบ เป็นระบบขับก่อนจ่ายทีหลัง ว่ากันว่าสามารถระบายรถที่หน้าด่านได้เร็วกว่าเดิม 5 เท่า เมื่อเทียบกับระบบ Easy Pass และ M-Pass เดิม

     ฟิลลิ่งเหมือนกับคุณขับขึ้นทางด่วนในช่วงวันหยุดที่บางด่านเปิดให้ขึ้นฟรีแบบนั้นแหละครับ คือ ขับผ่านด่านได้เลย ไม่ต้องหยุดรถ ซึ่งจะทำให้รถผ่านด่านได้ช่องละ 2,000-2,500 คันต่อชั่วโมง ตามกำหนดจะเริ่มใช้เดือนมกราคมปี 2565 และวางเป้าใช้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567

     ข้อมูลจากหน่วยงานที่ดูแลระบบ M-Flow บอกว่าสามารถขับผ่านได้ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง! ช้าก่อนนะครับ ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ถ้าขับด้วยความเร็วขนาดนั้นผ่านด่านที่กว้างไม่เกิน 4 เมตร ผมว่าอาจจะอันตรายเกินไป อย่างไรแล้วชะลอสักหน่อยก็ยังดีครับ

     แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ใช้คงต้องวุ่นวายกับมันอยู่สักระยะครับ โดยเฉพาะการลงทะเบียนที่ต้องใช้ทั้งเบอร์มือถือผู้ขับ บัตรประชาชน สำเนาเล่มรถ ภาพถ่ายรถ (ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง) รวมถึงต้องผูกกับบัตรเครดิต, เดบิต หรือบัญชีธนาคาร ที่ตอนนี้รองรับแค่กรุงไทยเท่านั้น

     อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ระบบ AI จะจัดการกับป้ายทะเบียนรถได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะบ้านเรามีทั้งรถป้ายแดง ที่ขับอยู่ 10 ชาติ ก็ไม่จดเป็นป้ายขาวอยู่เยอะพอสมควร หรือหากเป็นรถที่ถูกขโมยมา ถูกสวมทะเบียน AI จะรู้หรือไม่ และจะจัดการอย่างไร

     สุดท้ายที่ผมคิดว่าจะยุ่งยากหน่อยคือ เวลา ซื้อ-ขายรถ ต้องอย่าลืมอัปเดตเข้าไปในระบบเด็ดขาด เพราะหากคุณขายรถทะเบียนนั้น ๆ แล้ว มีโอกาสที่คุณโดนเก็บเงินค่าทางด่วนที่ไม่ได้ขึ้นแบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้นะครับ เอาเป็นว่าช่วงแรกมันอาจจะยุ่ง ๆ หน่อย แต่ถ้าเข้าที่มันน่าจะดีแน่นอน

     อ่อ อีกนิดครับ ไหน ๆ ถนนบ้านเราจะใช้ระบบนี้แบบเต็มรูปแบบในอีก 3 ปีข้างหน้า หวังว่าตอนนั้น ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ จะปรับปรุงด่านเก็บเงินให้ใช้ระบบเดียวกันได้เสียทีนะครับ

ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook