คุยสบายๆ กับ เซียน รถ : "มือใหม่" ...อันตรายแฝงจาก "รถคันแรก" ....

คุยสบายๆ กับ เซียน รถ : "มือใหม่" ...อันตรายแฝงจาก "รถคันแรก" ....

คุยสบายๆ กับ เซียน รถ  : "มือใหม่" ...อันตรายแฝงจาก "รถคันแรก" ....
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

                สวัสดีครับ..... ครับพ่อแม่พี่น้อง โอย...ทุกวันนี้ปัญหาสารพันเรื่องประเดประดังเข้ามา แต่เรื่องที่ดูหลายคนจะไม่สนใจหรือนอกกระแส ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่หลายคนหลงลืม และในช่วงปีที่ผ่านมาด้วยนโยบายรถคันแรก ก็คงปฏิเสธไม่ว่า อันตรายที่แฝงมาอย่างไม่คาดคิดจากนโยบายสุดโต่งนี้คือเรื่องความปลอดภัยและมันสำคัญมากต่อการขับขี่ โดยเฉพาะยุคโลกร้อน อารมณ์คนมันก้ร้อนตามไปด้วย


                "มือใหม่" คำที่เราบัญญัติ ขึ้นมาจากการขับขี่ของคนที่เพิ่งจะหัดขับรถ และลงถนนไม่นาน คงไม่มีใครไม่รู้จักคำนี้ ด้วยความไม่ชำนาญ ไม่มั่นใจ และอีกนานาเยอะแยะตาแป๊ะแตก ทำให้ คนเหล่านี้กลายเป็นบุคคลที่น่าเป็นห่วงและเช่นเดียวกันยังเป็นบุคคลที่อันตรายและอาจจะเป็นต้นเหตุให้ก่ออุบัติเหตุมากที่สุดด้วย

                ยอดใช้สิทธิ์รถคันแรกที่ยืนยันแล้วว่าในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา มีคนอีกกว่า 1.3 ล้านคันโดยประมาณหรืออาจจะน้อยกว่านั้นเป็นเจ้าของรถยนต์ใหม่ และ ในหมุ่คนเหล่านี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีเหล่ามือใหม่หัดขับ ที่เพิ่งจะจบมาหมาดๆจากโรงเรียนสอนขับรถ ที่ไม่ได้สอนอะไรมากกว่าการเดินหน้าถอยหลัง จำท่าสอบ จำกฎจราจร พาออกถนนเล็กน้อย แล้วปิดจ๊อบด้วยพาไปสอบใบขับขี่ได้เสร็จสมอารมณ์หมาย

                โรงเรียนสอนขับรถที่มีการสอนในลักษณะติวเตอร์เน้นย้ำสิ่งที่ต้องทำในเวลาสอบ ประกอบกับการสอบใบขับขี่ของบ้านเราที่เป็นระบบปิด หรือกล่าวง่ายๆ คือสอบในสนามและท่าขับขี่ที่ต้องการเพื่อให้ผ่านการสอบ ทำให้ผลคือ มือใหม่เหล่านี้เป็นเพียงคนขับรถได้ไม่ใช่คนขับรถเป็น  และเมื่อออกสู่โลกแห่งความจริง ทุกอย่างก็กลับตาลปัตรจากที่เรียนรู้มา

                ทุกวันนี้ในสังคมถนน เชื่อว่าหลายคนคงจะเจอมาแล้ว กับ หลากพฤติกรรมมือใหม่ มากมาย ทั้งขับๆ เบรกๆ  ไม่เปิดไฟเลี้ยว หรือขับรถเงอะๆเงิ่นๆ เกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเป็นมือใหม่ ที่เพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดากความไม่มีประสบการณ์ในการขับขี่หรืออาจจะมีแต่ก็น้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ เนื่องจากสิ่งที่รู้เรียนและฝึกมา กลับใช้บนถนนได้เพียงแค่เศษเสี้ยว จากโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น

                นั่นส่งผลให้เมื่อมือใหม่มาขับขี่จริงบนถนน โดยเฉพาะในบ้านเราที่การจราจรคับคั่งตลอดเวลาไม่สามารถเรียนรู้การขับขี่รถยนต์ที่ถูกต้อง ซึ่งยังต้องมีองค์ประกอบทางด้านมารยาท และ ประสบการณ์ที่ต้องสั่งสม และหลายครั้งที่มันนำมาสู่อุบัติเหตุ ไม่ใช่เพราะความประมาท แต่มาจากความไม่รู้และไม่มั่นใจเมื่อมาขับขี่บนถนนจริง

                แน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ และ หากเรามองโมเดลการสอบใบขับขี่ในประเทศไทย เทียบกับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าโลกเสรีอย่างอเมริกา การมีใบขับขี่ของเขากับเรานั้นช่างต่างกันเสียลิบลับ เพราะมันไม่ใช่แค่เพียงยากเท่านั้น แต่ยังต้องมีการบ่มเพาะทักษะการขับขี่ อย่างเป็นระบบโดยมีการให้ใบขับขี่ชั่วคราวทุกรัฐ หรือที่เรียกว่าระบบ  Graduated driver licensing (GDL)

                ระบบ  GDL  นี้เป็นระบบที่ใช้กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยมุ่งเป้าที่มือใหม่หัดขับ รวมถึงกลุ่มวัยรุ่น โดยการจำกัดพื้นที่การขับขี่ในถนน โดยออกเป็นใบขับขี่ประเภทผู้เรียนรู้ สามารถขับเองได้ แต่จะมีกฏเกณฑ์กำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามขับในเวลากลางคืน ห้ามขับโดยมีผู้โดยสารเป็นต้น จากนั้นในแต่ละปีจะมีการสอบเลื่อนขั้นจนกระทั่งไปสู่การเป็นนักขับขี่ โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมขนส่งและตำรวจที่ร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบ และมีการยืนยันแล้วว่าการใช้ระบบนี้ในการขับขี่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากผู้ขับขี่จะมีทักษะมากขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพ

                แม้บ้านเราความสนใจและใส่ใจต่อบรรดา "มือใหม่" จากกรมขนส่งทางบกจะยังมีไม่มากนัก และด้วยการทวีตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของบรรดา "มือใหม่ ทำให้คุณไม่สามารถปฏิเสธว่า ถนนวันนี้อันตรายมากขึ้นจากบรรดามือใหม่ ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่สร้างความสูญเสียทั้งกับเราและพวกเขา เพียงเพราะการขาดประสบการณ์และความเข้าใจที่ถูกต้อง...ซึงน่าจะถึงเวลาที่รัฐน่าจะพิจารณาแก้ไขปัญหาตรงนี้ ที่เป็นดั่งระเบิดเวลาทางด้านความปลอดภัย ไม่ใช่รอเวลาให้แก้ไขด้วยตัวมันเอง

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook