รีวิว Toyota Revo Smart Cab 2015 ใหม่ ทั้งแรง ทั้งลุย อ็อพชั่นเต็ม ครบเครื่องในคันเดียว

รีวิว Toyota Revo Smart Cab 2015 ใหม่ ทั้งแรง ทั้งลุย อ็อพชั่นเต็ม ครบเครื่องในคันเดียว

รีวิว Toyota Revo Smart Cab 2015 ใหม่ ทั้งแรง ทั้งลุย อ็อพชั่นเต็ม ครบเครื่องในคันเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ก่อนหน้านี้เราเคยทำรีวิว Toyota Revo Double Cab 4 ประตูกันไปแล้ว (อ่านที่นี่) ซึ่งนั่นก็ถือเป็นรถกระบะที่น่าใช้ที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดขณะนี้ แต่สำหรับกระบะประเภทตอนครึ่ง หรือแบบ 2 ประตูมีแค็บนั้น ก็นับว่าเป็นรถขายดีในบ้านเราเช่นกัน


     ด้วยเหตุนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จึงพาเหล่าสื่อมวลชนร่วมทดสอบ โตโยต้า รีโว่ สมาร์ทแค็บ ใหม่ กันถึงสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งแน่นอนว่าทีมงาน Sanook! Auto ก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมทดสอบ เพื่อกลับมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้คุณผู้อ่านได้พิจารณากัน

     การทดสอบครั้งนี้มีความพิเศษนอกเหนือจากการทดสอบบนถนนปกติทั่วไป ด้วยการนำเอา รีโว่ สมาร์ทแค็บ ลงวิ่งบนสนามช้างฯกันแบบเต็มรอบสนาม เพื่อทดสอบการยึดเกาะถนน, การเข้าโค้ง, อัตราเร่ง ฯลฯ รวมถึงยังได้สร้างเส้นทางแบบออฟโรด เพื่อทดสอบการขับขี่วิบากด้วยรถสภาพเดิมๆจากโรงงาน เพื่อดูว่าระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรีโว่ใหม่ จะทำงานได้ดีสมอย่างที่คุยเอาไว้หรือไม่

 

     สำหรับตัวถังสมาร์ทแค็บนั้น มีรุ่นย่อยให้เลือกถึง 14 รุ่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบขับเคลื่อนสองล้อ, ขับเคลื่อนสองล้อยกสูง (Prerunner) และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ รวมถึงเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร, 2.8 ลิตร และเครื่องยนต์เบนซินให้เลือกตามการใช้งานของแต่ละบุคคล

 

     Revo Smart Cab ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาใกล้เคียงกับรุ่นดับเบิ้ลแค็บเช่นกัน โดยในรุ่นท็อปสุด (2.8G 4WD) ติดตั้งไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ฮาโลเจน พร้อมไฟ Daytime Running Light แบบฮาโลเจน ควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ จากสวิตช์ภายในรถ มาพร้อมระบบ Follow-me-home สำหรับหน่วงเวลาปิดไฟหน้า เหมาะสำหรับส่องสว่างขณะเดินเข้าบ้าน เป็นต้น

     กระจังหน้าแบบโครเมี่ยมออกแบบให้รับกับชุดไฟหน้า พร้อมกันชนหน้าสีเดียวกับตัวรถ ติดตั้งไฟตัดหมอกไว้ด้านล่างกันชน กระจกมองข้างเป็นแบบโครเมี่ยม พร้อมติดตั้งไฟเลี้ยว สามารถปรับและพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า ขณะที่ไฟท้ายยังถูกติดตั้งไฟตัดหมอกมาให้ด้วย

 

     ห้องโดยสารภายในถูกตกแต่งด้วยสีดำ ติดตั้งเบาะนั่งแบบผ้าคุณภาพสูงสีน้ำตาล สามารถปรับสูง-ต่ำฝั่งคนขับได้ คอนโซลหน้าติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส รองรับแผ่น DVD 1 แผ่น มีพอร์ต USB/AUX มาให้ รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่านบลูทูธ และยังสามารถเชื่อมต่อแบบ A2DP เพื่อเล่นเพลงในโทรศัพท์ได้ ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 6 จุดรอบคัน รวมถึงติดตั้งระบบนำทางและกล้องมองหลังมาให้ด้วย

     เลื่อนลงมาเป็นระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ที่ให้ความเย็นถึงใจตามฉบับโตโยต้า ใกล้กันเป็นปุ่มควบคุมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบลูกบิด ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม พร้อมช่องจ่ายไฟแบบ 12 โวลต์ถึง 2 ตำแหน่งด้วยกัน ขณะที่กล่องเก็บของด้านหน้าเป็นแบบ 2 ชั้น โดยชั้นบนยังสามารถใช้เป็น Cool Box สำหรับเก็บเครื่องดื่มเย็นๆได้ เนื่องจากข้างในจะมีช่องลมแอร์เล็กๆ คอยเป่าความเย็นเข้ามายังกล่องที่ว่านั่นเอง

 

     เลื่อนมาทางฝั่งผู้ขับ จะพบกับหน้าปัดเรืองแสง Optitron ดูทันสมัย ติดตั้งหน้าจอ MID แบบกราฟฟิกสีเช่นเดียวกับที่พบใน ‘คัมรี่’ สามารถบอกรายละเอียดการขับขี่, ระบบนำทาง, ระบบเครื่องเสียง เป็นต้น พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นหุ้มด้วยหนัง ติดตั้งปุ่มสำหรับควบคุมเครื่องเสียง, โทรศัพท์ และปุ่มควบคุมหน้าจอ MID โดยตัวพวงมาลัยเองยังสามารถปรับได้แบบ 4 ทิศทาง ทั้งขึ้นลง-เข้าออกด้วย

     น่าเสียดายที่รุ่นสมาร์ทแค็บ ยังไม่มีกุญแจแบบ Keyless Entry มาให้ แต่ให้กุญแจรีโมทแบบพับได้มาแทน โดยปุ่มสตาร์ทที่ติดตั้งมาให้ในรุ่นดับเบิ้ลแค็บ ถูกแทนที่ด้วยแผ่นปิดพลาสติกธรรมดาๆ

 

     เครื่องยนต์ในรุ่นสมาร์ทแค็บ มีให้เลือกทั้งเบนซินและดีเซล ซึ่งไฮไลท์คงต้องยกให้เครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ล่าสุด ที่มีความจุ 2.4 ลิตร และ 2.8 ลิตรให้เลือก โดยเน้นออกแบบให้มีพละกำลังเพิ่มขึ้น แต่ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

     เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร รหัส 2GD-FTV (High) หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่นแบบคอมมอนเรล มาพร้อม VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด พร้อมระบบ iMT

     อีกรุ่นเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร รหัส 1GD-FTV (High) หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่นแบบคอมมอนเรล มาพร้อม VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ขยับกำลังสูงสุดเป็น 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 - 2,400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งแบบธรรมดา 6 สปีด และอัตโนมัติ 6 สปีด พร้อม Sequential Shift

 

     ส่วนระบบความปลอดภัยมีให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 3 จุด ทั้งฝั่งผู้ขับ ผู้โดยสาร และถุงลมหัวเข่าฝั่งผู้ขับ ติดตั้งระบบเบรก ABS/EBD เข็มขัดนิรภัยพร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงดึงอัตโนมัติ โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA พร้อมเสริมคานนิรภัยด้านข้างให้ด้วย

     อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า การทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ทั้งการขับขี่บนสนามแข่ง และการขับขี่แบบออฟโรด ซึ่งเราจะเล่าไปตามการขับขี่ทั้งสองรูปแบบเลยนะครับ



     เริ่มจากการขับขี่บนสนามแข่ง ซึ่งรถคันที่เราได้ขับเป็นรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดาพร้อมโหมด iMT สิ่งแรงที่สัมผัสได้คือแรงดึงอันมหาศาลพุ่งไปข้างหน้ายามกดคันเร่งแบบจมมิด ด้วยแรงบิดสูงสุดถึง 420 นิวตัน-เมตร  ซึ่งแม้ว่าการทดสอบจะไม่เอื้ออำนวยต่อการจับเวลาเพื่อหาอัตราเร่งที่แท้จริงนั้น แต่ตัวรถก็สามารถพุ่งทะยานแตะความเร็ว 140 กม./ชม.ได้อย่างรวดเร็วทันใจ

     ในช่วงเข้าโค้งนั้น จะสังเกตได้ทันทีว่าช่วงล่างของ รีโว่ ใหม่ ถูกเซ็ตมาให้นุ่มนวลขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ด้วยอาการโยนที่มีให้เห็นบ้างขณะมุดโค้งที่ความเร็วสูง แต่สำหรับการยึดเกาะถนนถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว แม้จะมีเสียงยางลั่นให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่ช่วงล่างก็ยังสามารถเก็บอาการขณะเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าถ้าไม่นับอาการโยนที่เป็นธรรมชาติของรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่าปกติแล้ว ช่วงล่างของ รีโว่ ก็เทียบเคียงได้กับรถเก๋งช่วงล่างเยี่ยมๆ คันหนึ่งเลยทีเดียว

 

     ในจังหวะเปลี่ยนเลนกะทันหันก็เช่นกัน แม้จะใช้ความเร็วถึง 80 กม./ชม. ตัวรถก็ยังอยู่ในการควบคุมเป็นอย่างดี ไม่มีอาการหน้าดื้อ หรือท้ายปัดให้เห็นแต่อย่างใด

     ขณะที่การขับขี่ในรอบที่ 2 นั้น ทาง Instructor ได้ทำการเปิดโหมด PWR เพื่อช่วยเรียกกำลังจากเครื่องยนต์ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการทดสอบโดยการเหยียบคันเร่งจมมิด จะไม่รู้สึกแตกต่างการโหมดปกติเท่าไหร่นัก แต่หากเป็นการเหยียบคันเร่งแบบปกติทั่วไป จะเห็นว่าคันเร่งสามารถตอบสนองได้รวดเร็วฉับไวกว่าเดิมอย่างชัดเจน ช่วยให้การขับขี่สนุกสนานยิ่งขึ้น

 

     ส่วนระบบ iMT จะช่วยปรับรอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสมขณะทำการเปลี่ยนเกียร์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนขึ้นหรือลง โดยทันทีที่ผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง สมองกลจะคำนวณรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับเกียร์นั้นๆ แล้วจึงเร่งเครื่องยนต์ (หรือลดเครื่องยนต์) ไปยังรอบดังกล่าวโดยอัตโนมัติ แม้ผู้ขับขี่เองจะไม่ได้เหยียบคันเร่ง เพื่อให้สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล ในจังหวะปล่อยคลัทช์นั่นเอง

 

     จากนั้นเรายังได้ทดสอบการขับขี่แบบออฟโรด ซึ่งดูจะถูกอกถูกใจบรรดาผู้ร่วมทดสอบอย่างมาก โดยรถที่ใช้ในการทดสอบเป็นรุ่นดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู ขับเคลื่อนสี่ล้อ มีทั้งการลุยโคลน, ฝ่าแอ่งน้ำ, ขึ้น-ลงเนินชัน ฯลฯ ให้เราได้ฝ่าฟันกัน ซึ่งรถทุกคันเป็นรถเดิมๆจากโรงงาน ไม่มีการปรับแต่งชิ้นส่วนใดๆ แม้แต่ยาง All Terrain ที่ติดตั้งมานั้น ก็เป็นรุ่นเดียวกับที่ใส่ในรถที่วางจำหน่ายอยู่ในโชว์รูมเช่นกัน

     เริ่มต้นจากการทดสอบลุยโคลนเป็นอันดับแรก เราใช้โหมดการขับขี่แบบ 4L หรือที่มักเรียกกันว่า ‘โฟว์โลว์’ ซึ่งเน้นการเรียกแรงบิดมากเป็นพิเศษ ซึ่งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรีโว่สามารถพาเราฝ่าดินโคลนเหลวๆ ไปพร้อมกับการปีนป่ายเนินได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เลี้ยงคันเร่งอย่างแผ่วเบา ควบคู่ไปกับการควบคุมทิศทางพวงมาลัยเท่านั้น

 

     ขับต่อมาเรื่อยๆ จะเป็นเนินสลับซ้าย-ขวา ซึ่งตัวรถจะต้องเอียงไม่ต่ำกว่า 35 องศา ทั้งด้านขวาและซ้ายสลับกันไป เล่นเอาเสียวสันหลังวาบกันไปตามๆกัน แต่ก็สามารถผ่านลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี

     เมื่อมาถึงเนินชัน จุดนี้เองเราได้ทดสอบระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HAC) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (DAC) โดยในโหมดขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4L จะช่วยรักษาแรงดันเบรกเพื่อออกตัวบนทางลาดชันเป็นเวลา 3 วินาที เพื่อให้ผู้ขับขี่เหยียบคันเร่งออกไปโดยไม่ทำให้รถไหล ขณะที่โหมดขับเคลื่อนแบบ 4H และ 2WD จะรักษาแรงดันเบรกไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ขับขี่จะเหยียบคันเร่งออกไป

 

     ส่วนการลงเนินชันนั้น รีโว่ก็มีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน DAC มาให้ ซึ่งระบบจะสั่งลดความเร็วลงทันทีเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบว่ามีการลงทางลาดชัน ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเบรกหรือใช้เอนจิ้นเบรกเข้าช่วย เพียงแต่คอยควบคุมพวงมาลัยเท่านั้นเอง ซึ่งความเร็วของตัวรถจะขึ้นอยู่กับองศาความชันที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ยิ่งชันมากความเร็วจะยิ่งลดน้อยลง

 

     หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบทั้งสองรูปแบบแล้วนั้น เรายังมีโอกาสได้ขับ รีโว่ สมาร์ทแค็บ บนเส้นทางหลวงมุ่งหน้ากลับมายังกรุงเทพฯ ซึ่งคันที่เราขับกลับนั้น เป็นรุ่น 2.4G เกียร์ธรรมดา ขับเคลื่อนสองล้อ ซึ่งแม้ว่าเครื่องยนต์จะมีขนาดเล็กลงกว่าที่เราเคยทดสอบกันมา แต่ก็ยังคงให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจ ซึ่งเราเองมองว่าก็เพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว

     ช่วงล่างของรุ่นสมาร์ทแค็บ แม้จะถูกปรับให้มีความนุ่มเพิ่มขึ้นแบบเดียวกับรุ่นดับเบิ้ลแค็บ แต่กลับให้ความรู้สึกมั่นใจในความเร็วสูงมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงล่างที่แข็งกว่ารุ่นดับเบิ้ลแค็บเล็กน้อย ช่วยให้การดูดซับแรงสะเทือนอยู่ในระดับ ‘พอดี’ ไม่แข็งเกินไป ไม่นิ่มเกินไป ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้งานบรรทุกสิ่งของด้านท้ายด้วย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ 4 ประตูส่วนใหญ่ที่เน้นใช้งานเพื่อการโดยสารมากกว่า

 

     สรุป โตโยต้า รีโว่ สมาร์ทแค็บ 2015 ใหม่ ถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหากระบะแค็บ ด้วยพละกำลังเครื่องยนต์ที่มีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ, อ็อพชั่นภายในครบเครื่อง, ปรับปรุงช่วงล่างนุ่มนวลขึ้น ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ประกอบกับความสดใหม่ในตลาด และชื่อเสียงของศูนย์บริการที่มีครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ เราจึงไม่แปลกใจเลยหาก โตโยต้า รีโว่ จะยังคงสามารถครองความเป็นเจ้าตลาดในบ้านเราได้อยู่ต่อไป

 

      ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญทีมงานเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 

 

อัลบั้มภาพ 54 ภาพ

อัลบั้มภาพ 54 ภาพ ของ รีวิว Toyota Revo Smart Cab 2015 ใหม่ ทั้งแรง ทั้งลุย อ็อพชั่นเต็ม ครบเครื่องในคันเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook