CPTPP คืออะไร ทำไมเสียงค้านเข้าร่วมถึงดังไปทั่วทั้งสังคม

CPTPP คืออะไร ทำไมเสียงค้านเข้าร่วมถึงดังไปทั่วทั้งสังคม

CPTPP คืออะไร ทำไมเสียงค้านเข้าร่วมถึงดังไปทั่วทั้งสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นคำศัพท์ที่ฮอตฮิตขึ้นมาทั่วทั้งสังคมอีกครั้งกับ CPTPP หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมนำระเบียบวาระการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ได้มากขึ้น ลองมาไล่อ่านบทสรุปตามหัวข้อด้านล่างนี้ที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เคยเผยแพร่มาแล้วเมื่อปี 2561 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน ถึงความหมายของ CPTPP

CPTPP คืออะไร?

CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความจริงแล้ว ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 (2006) มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2550 (2017) ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP

ปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. ญี่ปุ่น
  2. แคนาดา
  3. เม็กซิโก
  4. เปรู
  5. ชิลี
  6. ออสเตรเลีย
  7. นิวซีแลนด์
  8. สิงคโปร์
  9. มาเลเซีย
  10. บรูไน
  11. เวียดนาม

CPTPP ต่างจาก TPP ยังไง?

ความแตกต่างระหว่าง CPTPP และ TPP แบ่งได้เป็น 2 ข้อใหญ่ๆ

  1. ข้อแรก คือขนาดของเศรษฐกิจและการค้า แน่นอนว่าหลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกถอนตัวออกไป ทั้งเศรษฐกิจ การค้าและจำนวนประชากรรวมของ CPTPP ย่อมมีขนาดเล็กลง ถ้าดูจากตัวเลขของธนาคารโลกจะเห็นว่าขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15% ทำให้ CPTPP เสียตำแหน่งข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไป (ส่วนคนที่รับตำแหน่งนี้ต่อคือ RCEP มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 31% ของเศรษฐกิจโลก)

  2. ข้อที่สอง คือรายละเอียดของความตกลง หลังตัดสินใจเดินหน้าต่อในนาม CPTPP สมาชิก 11 ประเทศที่เหลือก็ระงับข้อบัญญัติ (provision) 22 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ เป็นต้น การระงับข้อตกลงที่ว่านี้ทำให้ CPTPP ดูผ่อนปรนและเข้มงวดน้อยกว่า TPP ก็จริง แต่ก็ยังถือว่าเป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงเพราะข้อบัญญัติส่วนใหญ่ยังคงไว้เหมือนเดิม เช่น การเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการในระดับสูง กฎหมายสิทธิแรงงาน เป็นต้น ที่สำคัญคือประเทศสมาชิกอาจพิจารณานำข้อตกลงที่ระงับไปกลับมาใช้ใหม่ก็ได้

โดยสรุปแล้ว CPTPP ก็คือ TPP ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?

ในฐานะที่เป็นชาติการค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าค่อนข้างสูงราว 123% ของ GDP ประเทศไทยก็ประกาศเตรียมพร้อมจะเข้าร่วม CPTPP ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีเป้าหมายจะเจรจาเข้าร่วมให้ได้ภายในปีนี้ คำถามถัดมาคือบ้านเราจะได้ประโยชน์อะไรจาก CPTPP บ้าง

  1. การส่งออก CPTPP คือจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ

  2. การลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป

  3. ความสามารถทางการแข่งขัน CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ เพราะ CPTPP มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนขึ้นกว่า TPP ทำให้ไทยได้ประโยชน์ในส่วนนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยา TPP เคยบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับการผูกขาดด้านยาเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาสามัญเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐและประชาชนทั่วไป ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็จะยิ่งสูงตาม แต่สุดท้ายข้อตกลงนี้ถูกระงับไป ไทยจึงไม่จำเป็นต้องเสียประโยชน์ส่วนนี้แล้วหากต้องการเข้าร่วมกับ CPTPP

ไทยจะเสียประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?

มาทางฝั่งผลเสียกันบ้าง 2 ธุรกิจไทยที่น่าจะโดนกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ

  1. ธุรกิจบริการ สำหรับภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป

  2. อุตสาหกรรมเกษตร ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ในไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ เนื่องจาก CPTPP จะเปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทั้งจากการลดภาษีสินค้านำเข้า การเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อกิจการท้องถิ่นได้

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ การเข้ามาของ CPTPP ก็เช่นกัน แต่ถ้ามองในระยะยาว การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP น่าจะเป็นผลดีกับไทยมากกว่า เพราะจะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนภายในประเทศปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบข้างต้นยังเป็นเพียงการคาดเดาข้อตกลงของ CPTPP ในปัจจุบัน จุดยืนของไทยอาจเปลี่ยนแปลงได้ หาก CPTPP ปรับกฎเกณฑ์เพื่อดึงสหรัฐฯ ให้กลับมาเข้าร่วม หรือมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมสำหรับประเทศสมาชิกใหม่ โดยน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ CPTPP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

อ่านข่าวเกี่ยวกับ CPTPP เพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook