CPTPP ต้องจับตา! สะพัดรัฐบาลเตรียมเซ็นตกลง หวั่นห้ามเกษตรกรไทยเพาะเมล็ดพันธุ์เอง

CPTPP ต้องจับตา! สะพัดรัฐบาลเตรียมเซ็นตกลง หวั่นห้ามเกษตรกรไทยเพาะเมล็ดพันธุ์เอง

CPTPP ต้องจับตา! สะพัดรัฐบาลเตรียมเซ็นตกลง หวั่นห้ามเกษตรกรไทยเพาะเมล็ดพันธุ์เอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แสดงความเห็นคัดค้านอย่างหนักในโลกออนไลน์ หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมอนุมัติลงนามในข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP/ซีพีทีพีพี) จนทำให้แฮชแท็ก #CPTPP ถูกพูดถึงมากที่สุดในหมู่ผู้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ในไทยเมื่อช่วงก่อนรุ่งเช้าวันนี้ (27 เม.ย.)

หวานกลุ่มทุนใหญ่?

สาเหตุที่หลายฝ่ายกังวลเป็นเพราะมีกระแสสะพัดว่า ถ้าหากรัฐบาลลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะบังคับให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ไม่ให้เกษตรกรทั่วประเทศเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกเอง แต่จะต้องซื้อจากบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น

เหตุนี้ทำให้เกรงว่าอาจยิ่งเพิ่มต้นทุนการทำเกษตรให้เกษตรกร ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและราคาพืชผลที่ตกต่ำ ในทางกลับกัน จะยิ่งทำให้กลุ่มทุนได้รับผลกำไรเพิ่มขึ้น ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางฐานะให้กับสังคมไทยหรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ริบอำนาจสภา-ประชาชน

ไม่ใช่แค่นั้น อีกสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ถ้าหากรัฐบาลลงนามในสนธิสัญญาอะไรกับต่างประเทศ ที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน อย่างกว้างขวาง ให้รัฐสภาพิจารณาภายใน 60 วัน แต่ถ้าพิจารณาไม่ทัน ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบ!!!

"ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ" มาตรา 178 รัฐธรรมนูญ 2560

ไม่ใช่แค่นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่บังคับให้รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนทราบอีกด้วย เพียงแต่ให้มีการแสดงความเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น 

คืบคลานเข้ามา ไม่ให้รู้ตัวก่อน

การคัดค้านนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งที่ข้อตกลง CPTPP โดยอ้างว่าไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ มากกว่าเสียประโยชน์

LUONG THAI LINH / POOL / AFPนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

จากนั้นเมื่อช่วงที่ผ่านมาของเดือนนี้ กระทรวงพาณิชย์ ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็ทำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งตลอดมาภาคประชาสังคมก็คัดค้านมาโดยตลอด

ขณะนี้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ลงนามในสัญญานี้ 11 ประเทศ คือ แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, บรูไน, เปรู, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เวียดนาม, สิงคโปร์ และ ออสเตรเลีย

นอกจากนี้ iLaw (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมด้านกฎหมาย ระบุอีกว่า นอกจากด้านการเกษตรแล้ว ถ้าหากรัฐบาลลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน อาทิ ยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การคุ้มครองนักลงทุน ฯลฯ

หวั่นคนไทยเข้าถึงยาต้าน HIV-มะเร็งยากขึ้น

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวขณะถ่ายทอดสด (ไลฟ์) ในเฟซบุ๊กเมื่อช่วงที่ผ่านมาของเดือนนี้ ว่าตนกังวลว่าถ้าหากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงนี้แล้ว คนไทยอาจเข้าถึงยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี และยามะเร็งยากขึ้น เพราะการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้ใช้ยาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตร (CL ยา) ได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีคนดังกล่าว ยังวิจารณ์รัฐบาลด้วยคำพูดที่เผ็ดร้อนว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ แต่ควรฝากความดีให้คนรุ่นหลังได้รับทราบบ้าง และโปรดเพลาการสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ลงบ้าง

"รัฐบาลชุดนี้ นอกจากจะไม่มีอะไรจารึกไว้ในแผ่นดินในเรื่องของการทำประโยชน์ให้คนข้างหลังได้พูดถึงได้คิดถึง แล้วยังทำสิ่งที่ไม่ดีตราอยู่ในแผ่นดินอีก เพราะฉะนั้น อยากฝากทั้งนายกฯและรองนายกฯว่า ท่านจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำไปเหอะ แต่คนที่จะจารึกความดีความชั่วของท่านไว้ในแผ่นดินนี้คือประชาชนคนไทย ขอให้คิดให้หนักก่อนที่จะไปเอาใจผู้ที่มีเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook