ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ แนะ “ไวรัสโคโรนา” หยุดได้ด้วยมาตรการที่จริงจัง

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ แนะ “ไวรัสโคโรนา” หยุดได้ด้วยมาตรการที่จริงจัง

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ แนะ “ไวรัสโคโรนา” หยุดได้ด้วยมาตรการที่จริงจัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ที่ “ไวรัสโคโรนา” กลายเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้นำมาตรการมากมายมาใช้รับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ โดยจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นกลุ่มประเทศที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด จนสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ในที่สุด

The New York Times ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับการต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้องมีการนำมาตรการที่เด็ดขาดมาใช้ทันที มาตรการโดยสรุปมีดังนี้

ต้องฟังนักวิทยาศาสตร์

โดยปกติ ทำเนียบขาวจะจัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารงานเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีประธานาธิบดีทรัมป์ หรือรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ หรือเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ผลัดเปลี่ยนกันมา แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า “นักการเมืองจะต้องปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์เป็นผู้นำในการรับมือกับไวรัส และอธิบายให้ชาวอเมริกันรู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร”

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ควรยืนอยู่หลังไมโครโฟนและอธิบายถึงแนวคิดที่ซับซ้อน อย่างกราฟการระบาด การเพิ่มระยะห่างทางสังคม และการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ รวมทั้งอธิบายถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นและทางออกที่เป็นไปได้ เพื่อชนะใจและสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน

นอกจากนี้ การแถลงข่าวเรื่องสำคัญไม่ควรจะใช้อารมณ์ แต่ต้องเน้นเรื่องการรักษาชีวิตและสร้างความเชื่อมั่นว่าคนหาเช้ากินค่ำจะสามารถอยู่รอดได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ใช่การอยู่รอดของตลาดหุ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรือสุขภาพของประธานาธิบดี

หยุดการระบาดระหว่างเมือง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งที่สำคัญลำดับต่อมา คือการเพิ่มระยะห่างทางสังคมอย่างจริงจัง นักระบาดวิทยากล่าวว่า หากชาวอเมริกันอยู่กับที่เป็นเวลา 14 วัน และนั่งห่างกัน 6 ฟุต โรคระบาดทั้งหมดจะหยุดแพร่กระจายทันที และหากมีการตรวจหาเชื้อที่เพียงพอสำหรับทุกคน แม้กระทั่งกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ก็จะสามารถพบผู้ป่วยและกักตัวได้ แล้ววิกฤตก็จะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่มีชุดตรวจถึง 300 ล้านชิ้น แต่เป้าหมายในการปิดเมืองและเพิ่มระยะห่างทางสังคม ก็เทียบเท่ากับการเสกให้คนอยู่กับที่แล้ว ดังนั้น การเดินทางและการติดต่อระหว่างผู้คนต้องลดน้อยลง ซึ่งก็ตรงกับความเห็นของ ดร.แอนโธนี เอส ฟอซี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านการแพทย์ในทีมเฉพาะกิจรับมือไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว ที่สนับสนุนมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชนทั่วประเทศ

ประสิทธิภาพของการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน เห็นได้ชัดจากกรณีของจีน ที่ตัดสินใจปิดเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ขณะที่ประเทศยังมีผู้ป่วยเพียง 500 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย การดำเนินมาตรการที่รวดเร็ว ส่งผลกระทบสำคัญคือ เมื่อไวรัสถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในมณฑลเดียว ประเทศจีนที่เหลือก็สามารถช่วยเหลืออู่ฮั่นได้ โดยการส่งบุคลากรทางการแพทย์ 40,000 คน ไปยังอู่ฮั่น เพิ่มกำลังการทำงานถึง 2 เท่า

หยุดการระบาดในเมือง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในเมืองจะมีจุดที่อันตรายอยู่ เช่น ร้านอาหาร ยิม โรงพยาบาล แท็กซี่ ซึ่งอาจจะมีเชื้อปนเปื้อนมากกว่าพื้นที่ที่คล้ายกันอื่นๆ หากมีใครสักคนจามขึ้นมา ดังนั้น ยิ่งหยุดการติดต่อของผู้คนได้ช้าเท่าไร ก็ยิ่งสร้างจุดอันตราย จึงต้องมีการจำกัดกิจกรรมในที่ชุมชน ยกเว้นการส่งอาหารและยา

เช่นเดียวกับมาตรการในจีนและอิตาลี ที่ผู้ที่กักตัวต้องปรับตัว ในอู่ฮั่น อพาร์ตเมนต์ต่างๆ จะตั้งกลุ่มสำหรับสั่งอาหาร ซื้อยาและผ้าอ้อม รวมทั้งของใช้จำเป็นอื่นๆ งดการรวมตัวกันของพนักงานส่งของในคลังสินค้า ขณะที่ ผู้ที่ติดเชื้อในเกาหลีใต้ต้องถูกกักตัวในที่พักของรัฐบาล โทรศัพท์และบัตรเครดิตจะถูกตรวจสอบเพื่อเช็คว่าคนผู้นั้นไปที่ไหนมาบ้างก่อนที่จะป่วย และจะมีการเปิดเผยสถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไปทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ทุกคนหลีกเลี่ยงสถานที่นั้นๆ และสำหรับผู้ที่ต้องกักตัว หากจีพีเอสแสดงว่าคนผู้นั้นออกนอกบ้าน จะถูกปรับ 8,000 เหรียญสหรัฐ

แก้ปัญหาเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัส

การตรวจจะต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยและได้รับความร่วมมือ ผู้ที่ป่วยหนักต้องได้รับการตรวจก่อน และผู้ตรวจต้องได้รับการป้องกัน โดยผู้เชี่ยวชาญได้ยกตัวอย่างการปฏิบัติงานในประเทศจีน ที่ผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจต้องอธิบายอาการผ่านเว็บไซต์แพทย์ทางไกล หากพยาบาลตัดสินว่าควรได้รับการตรวจ พวกเขาจะถูกส่งตัวไปยัง “คลินิกไข้” ที่จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ป่วยทุกคน ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณโรคปอดอักเสบ และหากต้องตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนา ก็ต้องรอที่ศูนย์ตรวจต่อไป ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต้องป้องกันร่างกายอย่างเข้มงวดเช่นกัน

แยกตัวผู้ติดเชื้อ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าต้องแยกตัวผู้ป่วยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยสหรัฐฯ ต้องพัฒนาทางเลือกในการแยกตัวผู้ติดเชื้อในบ้าน หากมีความเสี่ยงต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เช่น จัดตั้งสถานที่สำหรับให้ผู้ที่ไม่ป่วยหนักสามารถพักฟื้นในความดูแลของแพทย์และพยาบาล เช่นเดียวกับที่อู่ฮั่น ซึ่งก็มีศูนย์ที่เรียกว่า “โรงพยาบาลชั่วคราว” ที่มีลักษณะเหมือนหอพักผสมคลินิกปฐมพยาบาล มีเตียงและถังออกซิเจน แต่ไม่ได้มีเครื่องมือที่ใช้ในห้องไอซียู

ดร.บรูซ เอลเวิร์ด หัวหน้าหน่วยสังเกตการณ์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในจีน ผู้คนจะไม่ออกจากบ้านหรือออกไปเยี่ยมลูกที่เดินทางไปกักตัว โดยไม่มีสิทธิเข้าเยี่ยม เพราะรู้ว่าจะช่วยให้ครอบครัวปลอดภัย แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากลำบากในทางจิตใจ แต่พวกเขาก็ช่วยเหลือกัน เพราะถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว

ค้นหาอาการไข้

เนื่องจากจีน ไต้หวัน และเวียดนาม เคยได้รับผลกระทบจากโรคซาร์ส ในปี 2003 และเกาหลีใต้เคยประสบกับสถานการณ์โรคเมอร์ส ดังนั้นจึงมีการวัดไข้ในช่วงที่มีโรคระบาดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ ในเมืองส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย ก็จะมีการวัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถโดยสาร รถไฟ หรือรถไฟใต้ดิน อาคารสำนักงาน โรงละคร หรือแม้แต่ร้านอาหาร รวมทั้งล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

ส่วนในประเทศจีน บางเมืองมีการนำเสนอภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเคาะประตูบ้านเพื่อวัดไข้ หากประชาชนไม่ยอม ก็จะถูกควบคุมตัว เมืองหนิงโปเสนอเงินรางวัลให้ใครก็ตามที่เปิดเผยตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา จำนวน 1,400 เหรียญสหรัฐ
มาตรการบางอย่างอาจจะยากสำหรับชาวอเมริกัน เช่น การยอมให้สมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัวไปยังวอร์ดห้ามเยี่ยม โดย ดร.ลูเซียนา บอริโอ ผู้อำนวยการฝ่ายการเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และความมั่นคงด้านชีวภาพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) กล่าวว่า “หลายคนถูกละเมิดสิทธิ” เพราะฉะนั้น วิธีการสมัครใจ เช่น การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการรักษาชีวิตของครอบครัวและเพื่อน น่าจะได้ผลในประเทศตะวันตก

แกะรอยการติดต่อ

การตามหาและตรวจเช็คผู้ที่ติดต่อกับผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวก ถือเป็นสิ่งจำเป็น ทว่าขณะนี้ หน่วยงานด้านสุขภาพของเมืองต่างๆ ไม่มีกำลังคนในการแกะรอยโรค แม้กระทั่งซิฟิลิสหรือวัณโรค ไม่ต้องพูดถึงคนที่เคยติดต่อกับผู้ป่วยไวรัสโคโรนา ดังนั้น ดร.บอริโอจึงแนะนำให้วัยรุ่นอเมริกันใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อตามรอยการติดเชื้อ ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ถูกใช้ในเอเชีย แต่ในวิธีที่ต่างกัน

วิธีการของจีนค่อนข้างรุกล้ำความเป็นส่วนตัว การใช้รถไฟใต้ดินในบางเมือง ประชาชนต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพื่อให้คะแนนว่าตนเองมีความเสี่ยงแค่ไหน ส่วนแอปพลิเคชันของเกาหลีนั้นจะบอกผู้ใช้งานอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดเคยมีผู้ป่วยเดินทางเข้าไป

ดร.เฮย์แมนน์กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ นักศึกษาจะถ่ายรูปว่าใครนั่งตรงไหน ก่อนที่จะเริ่มการสอน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อ ก็จะทราบว่าใครนั่งใกล้ผู้ติดเชื้อบ้าง ซึ่งเป็นวิธีที่ฉลาดมาก

ทำให้หน้ากากอนามัยหาซื้อง่าย

มีข้อมูลน้อยมากที่ระบุว่าหน้ากากทางการแพทย์สามารถป้องกันผู้ที่ร่างกายแข็งแรงไม่ให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียหลายแห่งพยายามกระตุ้นให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ในบางเมืองของจีน ที่มีการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย โดยตำรวจจะใช้โดรนในการตามจับคนบนถนน สั่งให้กลับบ้านและสวมหน้ากากอนามัย

ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นตรงกันว่าผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการไอจาม แต่หากหน้ากากอนามัยชี้ว่าผู้สวมเป็นผู้ป่วย คนอื่นๆ ก็จะไม่ยอมสวมหน้ากาก หากทุกคนถูกบังคับให้สวมหน้ากาก ผู้ป่วยก็จะสวมหน้ากาก และไม่มีการตีตราผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นย้ำว่า ชาวอเมริกันควรถูกสอนและตักเตือนกันอย่างจริงจังให้เลิกจับมือและกอดกัน และใช้วิธีทักทายอย่างอื่นแทน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

รักษาบริการที่สำคัญเอาไว้

การแทรกแซงโดยรัฐบาลกลางเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกภาคส่วนในช่วงการระบาดใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลกลางเป็นผู้เดียวที่สามารถบังคับใช้กฎหมายพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอาหาร น้ำ ไฟฟ้า แก๊ส โทรศัพท์ และปัจจัยพื้นฐาน สามารถใช้ได้ตามปกติทั้งในเมืองและชนบท นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังย้ำว่า การตัดสินใจในระดับสูงต้องทำอย่างรวดเร็ว

ผลิตเครื่องช่วยหายใจและออกซิเจน

ตัวเลขคร่าวๆ ของเครื่องช่วยหายใจขณะนี้อยู่ที่ 175,000 เครื่อง ในโรงพยาบาลอเมริกันทุกแห่ง และสินค้าในคลังอาจไม่เพียงพอต่อคลื่นของผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจ เช่นเดียวกับเครื่องปั๊มอากาศและออกซิเจนเข้าสู่ปอด ที่มีราคาสูงถึง 25,000 ต่อชิ้น และอาจจะมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบจากโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตกล่าวว่า ไม่มีวิธีการที่ง่ายดายในการเร่งการผลิตให้เร็วขึ้น แต่เป็นไปได้ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการสร้างอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่ม

ผู้ให้บริการก็ต้องการทางเลือก

บทเรียนหนึ่งของจีนคือ ผู้ป่วย COVID-19 จะถูกสอดท่อหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ และรอดชีวิตได้โดยใช้ออกซิเจนเท่านั้น เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ ต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มอุปทานให้กับการผลิตออกซิเจนแบบท่อและถัง

ปรับปรุงโรงพยาบาล

โรงพยาบาลในสหรัฐใช้มาตรการในการรับมือกับผู้ป่วย เช่น หยุดการผ่าตัดประเภทรอได้ และจัดตั้งห้องแยกตัวผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยติดเตียง บ้านพักและโรงพยาบาลจะต้องห้ามเยี่ยมผู้ป่วยทันที และตรวจเช็คสุขภาพของบุคลากร

ตัดสินใจว่าเมื่อไรควรปิดโรงเรียน

การปิดโรงเรียนเป็นเรื่องปกติของการเพิ่มระยะห่างทางสังคม และโรงเรียนก็เป็นสถานที่ทำงานของผู้ใหญ่หลายคน เพราะฉะนั้น เมื่อเชื้อโรคแพร่กระจายในโรงเรียน ก็ควรจะปิด แต่การปิดพื้นที่ที่มีโรงเรียนอยู่ทั้งหมดก็จะกระทบต่อความสามารถในการสู้กับการระบาด เนื่องจากพยาบาล แพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่สามารถออกมาทำงานได้ ส่วนเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำก็จะไม่สามารถกินอาหารที่โรงเรียนได้

รับสมัครอาสาสมัคร

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลจีนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากอาสาสมัครหลายพันคน โดยประชาชนที่ถูกกักตัวหลายคนสมัครเป็นเจ้าหน้าที่วัดไข้ เจ้าหน้าที่แกะรอยผู้ที่ติดต่อกับผู้ป่วย คนงานสร้างโรงพยาบาล คนส่งอาหาร แม้แต่คนเลี้ยงเด็ก หรือคนทำงานในสุสาน ซึ่งหลังจากฝึกอบรมแล้ว อาสาสมัครสามารถทำงานในระดับล่าง แต่เป็นภารกิจด้านการแพทย์ที่สำคัญ เช่น การพยาบาลขั้นพื้นฐาน งานเจ้าหน้าที่เทคนิคแล็บ หรือทำความสะอาดห้องต่างๆ ในโรงพยาบาล

พลเรือเอกทิม ซีเมอร์ ผู้ประสานงานของโครงการ President’s Malaria Initiative และผู้นำหน่วยรับมือโรคระบาดของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ของผม ความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าประชาชนได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมมากแค่ไหน”

จัดลำดับความสำคัญของการรักษา

แพทย์ฝ่ายรักษาในจีน อิตาลี และฝรั่งเศสใช้ความเป็นไปได้ 2 อย่าง ในการช่วยเหลือผู้ป่วย ได้แก่ ยาต้านเชื้อมาลาเรีย คลอโรควิน และไฮดรอกซีคลอโรควิน และยาต้านไวรัส เรมเดซิเวียร์ ซึ่งยังไม่มีใบอนุญาตให้ใช้ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ายาเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัส ในขณะที่หลายประเทศพยายามทดสอบยาชนิดนี้ หากยาได้ผลในผู้ป่วยวิกฤต ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะใช้ปริมาณน้อยในผู้ป่วยอื่นๆ

ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ การสร้างแอนติบอดีจากเลือดของผู้ที่หายจากอาการป่วย โดยเซรุ่มจากเลือดบริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่าอิมมูโนโกลบิน อาจจะสามารถใช้ในปริมาณน้อย เพื่อป้องกันร่างกายของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้

คิดค้นวัคซีน

ความหวังสูงสุดคือการมีวัคซีนเพื่อปกป้องทุกคน และบริษัทหลายแห่งและรัฐบาลก็เร่งกำหนดคุณสมบัติของวัคซีนแล้ว แต่ ดร.ฟอซีได้อธิบายหลายครั้งว่า การทดสอบวัคซีนที่มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยต้องใช้เวลา อย่างน้อย 1 ปี หากไม่มีอะไรผิดพลาด

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนกล่าวว่าอุปสรรคไม่ใช่เรื่องระบบราชการ แต่เป็นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการสร้างแอนติบอดี้ รวมทั้งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะปรากฏ

หลังจากที่ทดสอบกับสัตว์ วัคซีนจะนำมาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพแข็งแรง 50 คน เพื่อดูว่าจะมีผลข้างเคียงที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้หรือไม่ และเพื่อวัดปริมาณที่ใช้ในการสร้างแอนติบอดี้ให้เพียงพอต่อการปกป้องร่างกาย หากกระบวนการนี้ได้ผล จะมีการรับสมัครอาสาสมัครหลายพันคนในพื้นที่ที่ไวรัสแพร่ระบาด อาสาสมัครครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีน อีกครึ่งไม่ได้รับ และเจ้าหน้าที่จะรอดูผล หากผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ติดเชื้อ ก็สามารถผลิตวัคซีนได้ต่อไป

ขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ประเทศที่ร่ำรวยต้องจำไว้ว่า ยิ่งพวกเขาดิ้นรนต่อสู้กับไวรัสมากเท่าไร ประเทศที่ยากจนกว่าก็จะยิ่งลำบากและต้องการความช่วยเหลือ และที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียที่ประชาชนติดเชื้อก็สามารถเสนอความช่วยเหลือโดยส่งผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่จำเป็น แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ส่งหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่และชุดตรวจให้แก่สหรัฐฯ

ดร.เทดรอส อัทนอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวในการประกาศเรื่องการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศอื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และช่วยกันปกป้องทุกคน ทุกเชื้อชาติ จากภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

“เราต้องดูแลกันและกัน” ดร.เกเบรเยซุสกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook