เมื่อผ่อนบ้านหมดแล้ว ทำอย่างไรต่อ

เมื่อผ่อนบ้านหมดแล้ว ทำอย่างไรต่อ

เมื่อผ่อนบ้านหมดแล้ว ทำอย่างไรต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แน่นอนว่าการมีบ้าน นั้นเป็นเหมือนปลายทางความฝันของใครหลาย ๆ คน แต่หนทางกว่าจะไปถึงการได้ครอบครองบ้านของตัวเองอย่างสบายใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะกับคนส่วนใหญ่ที่ต้องมีการกู้สินเชื่อบ้าน โดยต้องผ่อนบ้านไปเป็นเวลาหลายปี

สำหรับใครที่ยังคงต้องผ่อนบ้านอยู่ก็ขอให้มีกำลังใจสู้ต่อไป แต่สำหรับคนที่ผ่อนบ้านกับธนาคารหมดแล้ว ก็ต้องบอกว่ายินดีด้วย เพราะคุณกำลังจะครอบครองบ้านหลังนี้อย่างสบายใจเสียที แต่รู้หรือไม่? หลังจากที่ผ่อนบ้านหมดแล้ว ยังมีขั้นตอนที่ต้องเตรียมตัวอีกเล็กน้อย เพื่อให้บ้านกลายเป็นชื่อของเราโดยสมบูรณ์ มีขั้นตอนอย่างไรดูได้ที่นี่

ผ่อนบ้านหมดแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?

1. เตรียมตัวรับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคาร

หลังจากที่เราสามารถผ่อนบ้านได้จนครบยอดชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว เราสามารถรอรับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคารที่เราทำผ่อนบ้านกับธนาคารได้เลย โดยทางธนาคารจะส่งใบแจ้งหรือติดต่อมา เพื่อให้เราไปติดต่อขอรับโฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้พร้อมกับดำเนินการด้านเอกสารใบมอบอำนาจการโอนเพื่อเป็นหลักฐานว่า เราได้ทำการผ่อนบ้านจนครบกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ถ้าหากเราได้ผ่อนบ้านจนครบกำหนด แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร เราสามารถแจ้งกับทางธนาคารได้เลยว่าต้องการไถ่ถอนโฉนด โดยธนาคารจะดำเนินเรื่องให้ตามขั้นตอนแรก โดยระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 1 วัน

2. ติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อรับโฉนดคืน

หลังจากที่เราได้รับเอกสารการมอบอำนาจการโอนและโฉนดที่แสดงว่าเราผ่อนบ้านจนหมดจากธนาคารแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ไปติดต่อสำนักงานที่ดินที่เป็นพื้นที่เดียวกับภูมิลำเนาที่เราอาศัยอยู่

โดยเป็นขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าเราผ่อนบ้านครบกำหนดและโฉนดนี้หลุดจำนองแล้ว โดยขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร โดยชื่อของเจ้าของบ้านในโฉนดที่ดินและบ้าน จะถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อของเรา

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าขั้นตอนของการไถ่ถอนนี้คือการโอน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นคนละกรณีอย่างสิ้นเชิง เพราะการไถ่ถอนหมายถึงการที่เรานำโฉนด ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้พ้นจากสภาพหลักประกันมาเป็นชื่อของเราอย่างเต็มตัวเท่านั้น โดยเรามีชื่ออยู่ในโฉนดนั้นแต่แรก และภายหลังจากที่เราผ่อนบ้านจนครบยอดชำระ โฉนดที่ดินและบ้านซึ่งเป็นหลักประกันนี้ก็ถือว่าพ้นจากสัญญาอย่างชอบธรรม ไม่ถือเป็นการโอนแต่อย่างใด

เอกสารและค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมเพื่อทำการไถ่ถอนโฉนด

สำหรับขั้นตอนของการไถ่ถอนโฉนดที่สำนักงานที่ดิน นอกเหนือจากเอกสารที่เราต้องเราได้รับจากธนาคารที่แสดงว่าเราผ่อนบ้านหมดแล้ว อาทิ โฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้, เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธนาคารกับผู้รับจำนอง (ถ้ามี) ยังมีเอกสารที่ต้องเตรียมไปเพิ่มเติม ได้แก่

- บัตรประชาชน

- ทะเบียนบ้าน

- ค่าใช้จ่ายสำหรับการไถ่ถอนจำนอง อาทิ ค่าธรรมเนียม และค่าพยาน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100-200 บาท

ขั้นตอนการติดต่อสำนักงานที่ดิน

เมื่อเตรียมเอกสารทั้ง โฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้, เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธนาคารกับผู้รับจำนอง (ถ้ามี), บัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน และค่าใช้จ่ายสำหรับการไถ่ถอนจำนองเรียบร้อยแล้ว ให้รวบรวมเอกสารทั้งหมดไว้ด้วยกัน

จากนั้นไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินโดยทำเรื่องของการไถ่ถอนโฉนด เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมมา หลังจากนั้นให้เราชำระค่าธรรมเนียม เมื่อชำระค่าธรรมเนียมเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จการจ่ายเงินให้ โดยเราสามารถนำใบเสร็จนี้ไปยื่นเพื่อรอรับโฉนดที่ดิน เพียงเท่านี้ก็จะได้รับโฉนดที่ดินที่ปลอดภาระผ่อนบ้านมาเป็นของเราอย่างเต็มตัว โดยขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น

ผ่อนบ้านหมดก่อนกำหนดต้องทำอย่างไร?

ในกรณีที่เรามีความสามารถในการผ่อนบ้านให้หมดก่อนที่จะครบกำหนดสัญญา มักจะพบกรณีที่ต้องเสียค่าปรับในการผ่อนบ้านครบก่อนกำหนด ซึ่งในความจริงแล้ว การผ่อนบ้านครบก่อนกำหนดจะเสียค่าปรับหรือไม่นั้น มักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญากู้บ้านจากธนาคาร

โดยกรณีที่ต้องเสียค่าปรับ มักเกิดจากการรีไฟแนนซ์บ้านก่อนครบระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดไว้ โดยจะต้องเสียค่าปรับประมาณ 2-3% ของวงเงินสินเชื่อเดิมหรือวงเงินสินเชื่อคงเหลือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร

ผ่อนบ้านหมดก่อนกำหนด จัดการกับประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้านอย่างไร

สำหรับบางคนที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA และสามารถผ่อนบ้านหมดก่อนช่วงเวลาคุ้มครองของประกันจะหมดลง สามารถเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตในช่วงเวลาที่ยังเหลือคืนอยู่ได้ โดยจะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืน ซึ่งกำหนดไว้ในกรมธรรม์

โดยการเวนคืนกรมธรรม์นี้มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เราสามารถติดต่อบริษัทประกันภัยหรือติดต่อธนาคารที่เราผ่อนบ้านไว้ เพื่อกรอกแบบฟอร์มขอเวนคืนกรมธรรม์ โดยบริษัทประกันจะคำนวณเงินค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือคืนให้กับเรา

แต่อย่างไรก็ตาม หากผ่อนบ้านหมดแล้วแต่ยังไม่ได้ไปทำเรื่องเวนคืนประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน ความคุ้มครองของประกันจะยังดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาตามกรมธรรม์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook