วัย 40 อัพ เสี่ยง "จอประสาทตาเสื่อม"

วัย 40 อัพ เสี่ยง "จอประสาทตาเสื่อม"

วัย 40 อัพ เสี่ยง "จอประสาทตาเสื่อม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดวงตาคงจะไม่ได้เป็นเพียงหน้าต่างของหัวใจ เพราะดวงตาเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ที่ทำหน้าที่เปิดรับข้อมูลเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางความคิด การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายในชีวิตเรา โดยในกระบวนการรับรู้ผ่านระบบการมองเห็นนั้น ภาพหรือแสง จะต้องเดินทางเข้าไปในลูกตา ผ่านส่วนประกอบต่างๆ ของตา ได้แก่ กระจกตา และเลนส์แก้วตา จนไปตกกระทบที่จอประสาทตา ที่เป็นผนังชั้นในของลูกตา อันประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทตาจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพที่ได้ผ่านเส้นประสาทตา ไปสู่สมอง เพื่อทำการแปลสัญญาณเป็นภาพในที่สุด

ส่วนประกอบของดวงตา

โดยส่วนที่มีความสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของจอประสาทตา คือ บริเวณจุดกลางรับภาพที่เรียกว่า macula ที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจน หากจุดกลางรับภาพนี้เสีย จะทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ชัดเจน อาจมีอาการเหมือนมีวัตถุมาบังในตรงกลางของภาพ หรือมีการรับภาพในลักษณะที่บิดเบี้ยวไป รวมทั้งอาจทำให้ความสามารถในการเห็นภาพที่ระยะต่างๆ สูญเสียไป

ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก จะชวนมาทำความรู้จักกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ที่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ แม้ว่าโรคจอประสาทตาเสื่อม อาจเกิดได้กับผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ  หรือเกิดจากโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจึงอาจถือได้ว่าเป็นการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการของโรค ได้แก่

  1. อายุ เนื่องจากพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  2. พันธุกรรม พบว่าอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม
  3. บุหรี่ โดย มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
  4. ความดันเลือดสูง โดยคนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
  5. วัยหมดประจำเดือน พบว่าผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน estrogen จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

โรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เกิดจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตา มีการเสื่อม  และบางลงทำให้ความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง อาการลักษณะนี้ จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ

ลักษณะที่สอง คือ โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย ทว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอด เนื่องมาจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติเจริญเติบโตอยู่ใต้จอประสาทตา และผนังชั้นพี่เลี้ยง และมีการรั่วซึมของเลือด รวมถึงสารเหลวจากเส้นเลือดเหล่านั้น ทำให้จุดกลางรับภาพเกิดอาการบวม ผู้ที่มีอาการจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และมืดลงในที่สุด

รับทราบถึงอาการของโรคแล้ว ก่อนที่จะเริ่มเป็นกังวล เรามาดูกันว่าควรจะระมัดระวัง สังเกตสัญญาณของโรคกันอย่างไรบ้าง เพื่อที่ว่าหากรู้กันแต่ในระยะแรก ก็จะยังสามารถทำการรักษากันได้ทัน อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน และยากที่ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นได้ในระยะเริ่มแรก เนื่องจากส่วนมากยังสามารถใช้ตาอีกข้างหนึ่งในการชดเชยการมองเห็นได้ ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ยกเว้นกรณีที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในตาทั้ง 2 ข้าง ที่ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมองตรงกลางของภาพไม่ชัด ขาดหาย มืดดำไป หรือภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยวจากปกติ

เนื่องจากการสังเกตอาการของโรคอาจจะทำได้ยาก จึงแนะนำว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 64 ปี ที่แม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา รวมถึงการตรวจจอประสาทตา ทุกๆ 2 – 4 ปี และ สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกๆ 1 – 2 ปี เพราะการตรวจพบและทำการรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เนื่องจากจอประสาทตาที่เสื่อมไปแล้ว การรักษาจะสามารถทำได้เพียงการหยุด หรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลยหากตรวจพบช้าและมีความรุนแรง

เพราะฉะนั้น ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา การมองเห็น หรือกังวลว่าอาจจะเป็นอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม อย่าลืมรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันแต่เนิ่นๆ จะได้ทำการรักษากันได้ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook