รู้จัก "มะเร็งปอด" ที่ไม่ได้มาจาก "สูบบุหรี่"

รู้จัก "มะเร็งปอด" ที่ไม่ได้มาจาก "สูบบุหรี่"

รู้จัก "มะเร็งปอด" ที่ไม่ได้มาจาก "สูบบุหรี่"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์มะเร็งปอดในปัจจุบันนับเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่น่าเป็นห่วงของประเทศไทย และมีผลต่อการเพิ่มภาระทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยประมาณ 23,713 ราย และเสียชีวิตประมาณ 20,395 ราย ซึ่งนับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับสองในประเทศไทย

"มะเร็งปอด" ที่ไม่ได้มาจาก "สูบบุหรี่"

ปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นเมื่อเกิดมะเร็งขึ้นจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง ในด้านของปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้เช่น การสูบบุหรี่และการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มือสองหรือมือสาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอด รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การสัมผัสกับแก๊สเรดอนและสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เช่น แร่ใยหิน โครเมียมและรังสี 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยภายใน ที่เป็นเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากยีนที่ผิดปกติทำให้เซลล์ในปอดแบ่งตัวอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมนั้นจะพบได้มากในผู้ป่วยชาวเอเชียที่อาจไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ไม่ได้สูบบุหรี่ เป็นต้น

706603

คุณจิตนิภา ภักดี หรือคุณออย ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด EGFR ระยะที่สี่ ได้ร่วมเล่าประสบการณ์ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงอาการปัจจุบัน 

“ส่วนตัวเป็นมะเร็งปอดชนิดที่เกิดจากพันธุกรรมโดยมียีนผิดปกติเป็นชนิด EGFR ตอนตรวจพบมีอายุเพียง 29 ปีและค่อนข้างดูแลสุขภาพดีพอสมควร ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ และคนในครอบครัวก็ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งต่อให้เราเป็นมะเร็งได้เลย ก่อนที่จะตรวจพบมะเร็ง ออยมีอาการไอเรื้อรัง แต่ไม่ได้มีเสมหะหรือเจ็บคออย่างใด จึงประมาทและไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรมาก 

“จนเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยกว่าปกติ และน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ จึงยอมไปพบแพทย์ในที่สุด ระหว่างที่รอผลตรวจอาการก็เริ่มแย่ลงตามลำดับ เริ่มหายใจไม่ปกติ และน้ำหนักลงไปกว่า 9 กิโล ต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR จึงเริ่มการรักษาทันที ด้วยการทานยามุ่งเป้า โดยได้เริ่มทานยามาประมาณ 17 เดือน จากที่เรามีอาการผิดปกติหอบหายใจไม่ค่อยสะดวก 

“หลังจากที่ทานยามุ่งเป้าไปเพียงหนึ่งสัปดาห์อาการก็เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลข้างเคียงอย่างเดียวคือมีผื่นคล้ายสิวขึ้นที่หน้าและลำตัว และทุกวันนี้เราก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติเท่ากับตอนก่อนเป็นมะเร็ง การที่ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลร่วมเดินทางไปด้วยกัน แล้วตั้งสติและทำความเข้าใจกับโรคที่เราเป็น รับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราเดินทางไปกับมะเร็งได้ง่ายขึ้น 

“หากเราดูแลตัวเองดีๆ ก็อาจมีแนวทางรักษาใหม่ๆ เข้ามาในอนาคตทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น จึงอยากให้ทุกคนมีความหวังในการรักษาเสมอ มะเร็งหมือนเข้ามาเตือนใจเราให้รักตัวเองและหันมาใส่ใจคนรอบข้างและกลับมาดูแลตัวเองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดเราควรเลี่ยงการพบปะผู้คน และป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดเพราะเรามีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหากติดโควิด ออกกำลังกายคลายเครียด ดื่มน้ำเยอะๆ ระมัดระวังตัวเองดูแลสุขภาพกายและใจให้ดีที่สุด”

295684

คุณสลิลลา หงษ์นคร กล่าวในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด ALK ระยะที่สี่ ว่า 

“ส่วนตัวเป็นผู้ดูแลคุณแม่ที่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ ตรวจพบประมาณเดือนเมษายน 2560 โดยคุณแม่เป็นคนที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จนมาวันหนึ่งคุณแม่เริ่มรู้สึกอึดอัดเหมือนหายใจไม่เต็มปอด และหายใจไม่สะดวก โดยเป็นไม่มากแต่รู้สึกได้ว่าผิดปกติ ดังนั้นจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และพบว่ามีน้ำอยู่ในปอด จากนั้นจึงตรวจพบเซลล์มะเร็ง และหลังจากทำ ซีที สแกน และตรวจชิ้นเนื้อ จึงทราบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ ชนิดที่ยีนกลายพันธุ์ ALK 

“ในฐานะผู้ดูแล ตอนแรกค่อนข้างหนักใจว่าเราจะผ่านตรงนี้ไปได้อย่างไร กังวลทุกหนทาง แต่สุดท้ายเราต้องเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางการแพทย์ปัจจุบัน คอยให้กำลังใจและดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี แต่เราไม่สามารถกำหนดสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ จึงเรียนรู้กับตัวเองว่านอกจากคนรอบข้างจะต้องให้กำลังใจผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องส่งพลังใจกลับมาให้ผู้ดูแลเช่นกัน เพื่อสร้างพลังบวกซึ่งกันและกัน อยากฝากถึงผู้ป่วยว่าอย่าท้อแท้ เพราะคนเราต้องมีความหวังและกำลังใจอยู่เสมอเพื่อตัวเราเองและคนที่เรารักแล้วเราจะผ่านมันมาได้ เหมือนในทุกวันนี้ที่คุณแม่กลับมามีชีวิตที่ปกติ”

ทำอย่างไร เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปอด

รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า การเดินทางของผู้ป่วยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 4 ขั้นหลักๆ คือ

  1. ก่อนที่จะตรวจพบมะเร็งผู้ป่วยควรสังเกตการณ์อาการและความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงวิธีป้องกันและแนวทางการตรวจคัดกรอง 
  2. เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว เราจะมีการตรวจยืนยันอย่างไร เช่น เป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะที่เท่าไหร่ มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือไม่ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนของการวินิจฉัย 
  3. ควรศึกษาว่ามีแนวทางการรักษาตามชนิดและระยะอย่างไร ผ่าตัดได้ไหม ต้องฉายรังสีไหม มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เหมาะกับยามุ่งเป้าหรือไม่ เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย 
  4. ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ บางคนรักษาเป็นเดือน แต่หลายคนจำเป็นต้องรักษานานเป็นปีถึงหลายปี จึงควรต้องมีการติดตามดูแลอาการและผลข้างเคียง หากเป็นมะเร็งปอดระยะต้น ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่หากเป็นมะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายก็สามารถรักษาและเฝ้าระวังอาการไปได้เรื่อยๆ 

ทั้งนี้เส้นทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป บางรายอาจรักษาได้อย่างราบรื่นเพราะมีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา แต่หากผู้ป่วยดื้อยาก็อาจประสบอุปสรรคระหว่างทางและอาจต้องมีการปรับแนวทางการรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์การรักษาที่ดีกว่า โดยตลอดการเดินทางของผู้ป่วย ผู้ดูแลหรือญาติควรช่วยให้กำลังใจกับผู้ป่วยและเดินไปด้วยกัน ช่วยสนับสนุนพวกเขาทำให้การเดินทางของพวกเขาเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

วิธีรักษามะเร็งปอด

ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า แนวทางการรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของของมะเร็ง โดยประโยชน์ของการรู้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะอะไร คือ

  1. เราสามารถรู้ได้ว่าพยากรณ์ของโรคจะเป็นอย่างไร
  2. เราต้องวางแผนการรักษาแบบไหน
  3. จุดมุ่งหมายจะเป็นอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 1-2 เราสามารถที่จะผ่าตัดได้ เพราะจุดมุ่งหมายคือการหายขาด ระยะที่สามหรือลุกลามเฉพาะที่ถือเป็นระยะกลางๆ ถึงแม้ยังไม่ได้เกิดการกระจายไปที่จุดอื่นของร่างกายแต่มะเร็งเป็นก้อนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงอาจผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องใช้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงเพื่อให้ก้อนยุบลงแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัด หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสามปลายๆ ผ่าไม่ได้แล้วจะรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง ส่วนผู้ป่วยระยะที่สี่ หรือระยะแพร่กระจายการรักษาจึงจะเป็นการให้ยาเพื่อเพิ่มระยะเวลารอดชีวิต ลดการกำเริบ บรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากตัวโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิต 

ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะที่สี่ไม่ใช่การหายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อลดอาการและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการเลือกยาและแนวทางการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ในระหว่างและหลังการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งปอดควรเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรับยารักษาอย่างต่อเนื่อง ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที สแกน อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์เจ้าของไข้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ทานยามุ่งเป้าควรติดตามอาการและผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบอยู่เสมอ 

ผู้ป่วยระยะสี่ควรติดตามอาการทุกสามเดือนเพราะมะเร็งอาจเกิดการดื้อยา และอาจต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษาบ้างเป็นบางกรณี ส่วนในช่วงโควิดแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อโควิดสูง เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับปอดเช่นกัน จึงมีอัตราเสี่ยงต่อโรครุนแรงและอัตราเสียชีวิตที่สูงกว่าคนปกติ 

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการ เช่นอาการหอบหรือไอที่เพิ่มขึ้น หรืออาการของเชื้อไวรัส เช่น ไข้สูง ปวดเนื้อปวดตัว เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ซึ่งควรไปพบแพทย์ทันที และรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์เจ้าของไข้ 


ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดได้ที่ช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้

LungAneMe: เฟสบุ๊ค LungAndMe ยูทูป LungAndMe LINE Official @LungAndMe เว็บไซต์ www.LungAndMe.com คลับเฮ้าส์ @LungAndMe

กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแล: พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องมะเร็งปอดได้ในเฟสบุ๊คกลุ่ม ห้องนั่งเล่นพูดคุยเรื่องมะเร็งปอด (สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลเท่านั้น)

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง: เฟสบุ๊ค Thai Cancer Society : TCS เว็ปไซต์ www.thaicancersocitey.com

มะเร็งสมาคมวิทยา: เว็บไซต์ http://www.thethaicancer.com/index.html

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook