9 โรคที่เกี่ยวกับ "เส้นผมและหนังศีรษะ" ที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

9 โรคที่เกี่ยวกับ "เส้นผมและหนังศีรษะ" ที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

9 โรคที่เกี่ยวกับ "เส้นผมและหนังศีรษะ" ที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศีรษะของเรามีโอกาสเป็นโรคได้หลายอย่าง และที่พบได้บ่อยในคนไทยมีในทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา มาเช็กกับข้อมูลที่ Sanook Health ได้มาจาก รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป (หมอโบนัส) หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และแพทย์ประจำคลินิก Absolute Hair Clinic กันว่าคุณกำลังเสี่ยงโรคอะไรอยู่หรือเปล่า


9 โรคที่เกี่ยวกับ "เส้นผมและหนังศีรษะ"

โรคของเส้นผมและหนังศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่ถ้าแบ่งตามอายุจะพบโรคของเส้นผมที่พบบ่อยในช่วงอายุต่างๆ กัน ทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน-สูงอายุ ดังนี้ 

โรคของเส้นผมที่พบบ่อยตามช่วงอายุต่างๆ กัน

วัยเด็ก

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อมชนิด alopecia areata 

รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ระบุว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อมชนิด alopecia areata พบได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีผมหรือขน อาจเกิดผมร่วงหย่อมเดียวหรือหลายๆหย่อมรวมกัน หรือผมร่วงเป็นทั้งศีรษะ เรียกว่า alopecia totalis  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ไปทำลายเส้นผมตัวเอง ผมร่วงชนิดนี้ควรรีบมาพบแพทย์

  • โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ tinea capitis

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Hello คุณหมอ ระบุว่า เชื้อราบนหนังศีรษะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชันนะตุ” เป็นการติดเชื้อราที่รากผม เส้นผม และหนังศีรษะ ไม่ได้เกิดจากหนอนหรือปรสิตใดๆ โดยเชื้อราจะทำให้เกิดผื่นวงแหวนมีขอบชัดเจนที่หนังศีรษะ ลักษณะตรงกลางเรียบและขอบนูน การติดเชื้อนี้ส่งผลต่อทั้งหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้เกิดอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อมๆ หนังศีรษะลอกหรือที่เรียกว่ารังแค

กลากที่หนังศีรษะเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมวก หมอน

  • โรคเหา pediculosis capitis 

อ.พญ.จรัสศรี ฬยาพรรณี และ ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคเหา เกิดจากการติดตัวเหา ซึ่งเป็นแมลง มีลักษณะรูปร่างตัวเรียวยาว ขนาด 3-4 มม. มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว จึงทําให้ติดโรคกันง่าย ตัวแมลงจะวางไข่บนเส้นขนและหลั่งสารหุ้มปลายด้านหนึ่งของไข่ให้เกาะแนนติดอยู่ ไข่เหามีขนาดยาว 0.5 มม. มองเห็นด้วยตาเปล่า

การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การสัมผัสโดยตรง สัมผัสเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หมวก ที่จัดแต่งผมและหวี เป็นต้น พบบ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

วัยรุ่น

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อมชนิด alopecia areata 
  • โรคผมร่วงจากการดึงผมตัวเอง trichotillomania 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า โรคดึงผมตนเอง (trichotillomania) หมายถึง โรคผมร่วงที่เกิดจากการดึงหรือถอนผมตนเอง โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำ สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขนที่ยาวในขนาดที่สามารถดึงออกได้ เช่น ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา และหัวหน่าว เป็นต้น

ผมร่วงจะมีได้หลายลักษณะ หลายขนาด อาจเป็นหย่อมเล็ก หรือกระจายหลายหย่อมทั่วศีรษะ หรืออาจกระจายทั้งศีรษะ รูปร่างของหย่อมผมร่วงมีลักษณะแปลก ตำแหน่งของผมร่วงส่วนใหญ่เป็นที่ศีรษะ แต่สามารถพบได้ในตำแหน่งอื่นที่มีขนได้แก่ ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเคราและหัวหน่าว ผิวหนังบริเวณผมร่วงจะมีลักษณะปกติ อาจพบเส้นผมลักษณะเส้นสั้นๆ มีความยาวไม่เท่ากัน บริเวณปลายผมมีลักษณะทื่อ และอาจพบผมหักงอในบริเวณผมร่วง

  • ผมร่วงชนิด telogen effluvium 

รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ระบุว่า ผมร่วงชนิด telogen effluvium เป็นภาวะผมร่วงที่มีเส้นผมระยะ telogen หลุดร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงมากผิดปกติ มากกว่า 100 เส้นต่อวัน หรืออาจสูงถึง 1000 เส้น ลักษณะร่วงทั่วศีรษะ แต่จะเห็นเด่นชัดบริเวณขมับ ในรายที่ผมร่วงไม่มากอาจไม่ทันสังเกต 

ผมร่วงชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเกิดตามหลังภาวะเจ็บป่วย ไม่สบาย หลังมีไข้สูง เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ภาวะช็อก ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หลังคลอดบุตร ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างฉับพลัน โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคความผิดปกติของไทรอยด์ หรือฮอร์โมน ภาวะขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน มีความเครียดจัด หรือผิดหวังอย่างรุนแรง รวมไปถึง ตามหลังการได้รับยาบางชนิดเป็นต้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการผมร่วงตามหลังสาเหตุเหล่านี้ประมาณ 2-3 เดือน และจะเป็นอยู่นาน 3-6 เดือน ก็จะหายได้เองอย่างสมบูรณ์

วัยกลางคน-สูงอายุ

  • ภาวะผมบางจากพันธุกรรม androgenetic alopecia 

ข้อมูลจาก สาขาวิชาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในเพศชายภาวะผมบางนี้มีสาเหตุจากปัจจัยหลักสองส่วน

ได้แก่ ฮอร์โมนเพศแอนโดรเจนและพันธุกรรม มีผลทำให้รากผมสร้างเส้นผมที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ (miniaturization) นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นผมจะคงอยู่ในระยะที่แข็งแรงที่สุด (anagen phase) สั้น

ลง สำหรับในเพศหญิงปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่มีผลร่วมด้วย เช่น ฮอร์โมนเพศ ระดับธาตุเหล็กสะสมในร่างกาย เป็นต้น

  • ผมร่วงชนิดก่อให้เกิดแผลเป็น frontal fibrosing alopecia 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ศุภะรุจ เลื่องอรุณ อาจารย์แพทย์ด้านตจวิทยา (ผิวหนัง) วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ผมร่วงชนิดก่อให้เกิดแผลเป็น frontal fibrosing alopecia มีลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนแดง และมีขุยบริเวณรอบโคนเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบที่ตลอดแนวไรผมบริเวณ หน้าผากและจอนผม อาการของโรคอาจจะเป็น ลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ได้ ส่วนอาการร่วมอื่นที่พบบ่อย คือ อาการผมร่วงมาก ขึ้น และอาจมีอาการเจ็บ แสบร้อน คันที่หนังศีรษะ

  • ภาวะผมร่วงหลังได้รับเคมีบำบัด chemotherapy induced alopecia/ anagen effluvium 

โรคของหนังศีรษะที่พบบ่อย

โรคหนังศีรษะอักเสบ Seborrhiec dermatitis, โรครังแค, โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นต้น

โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ (scalp psoriasis)

รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ระบุว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ผิวหนังมีการอักเสบแดงลอกของผิวหนังเรื้อรัง พบประมาณร้อยละ 0.3-2 ของประชากรทั่วไป 

อาการของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ

ผื่นมีลักษณะเป็นขุยสะเก็ดสีขาวเงิน แผ่นหนา ขนาดค่อนข้างใหญ่ ติดแน่นกับหนังศีรษะที่มีอาการอักเสบ แดง ขอบเขตชัด ผื่นมักจะเป็นปื้นเลยบริเวณไรผมออกมาส่วนต่างๆ ของใบหน้า หลังหู ต้นคอด้านหลัง บางครั้งพบจุดเลือดออก

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีผื่นสะเก็ดเงินบริเวณอื่นของร่างกายด้วย เช่นบริเวณข้อศอก เข่า ลำตัว หลัง หรือสะดือ รวมไปถึงที่เล็บมักพบลักษณะของโรคสะเก็ดเงินร่วมด้วย 

สาเหตุโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งความผิดปกติของยีน ร่วมกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ การบาดเจ็บของผิวหนัง ผิวไหม้แดด การติดเชื้อ ยาบางชนิด รวมไปถึงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน และความเครียดด้วย

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

ในผู้ป่วยที่ผื่นมีความรุนแรงน้อย สามารถใช้ยาทา ร่วมกับให้แชมพูในกลุ่ม coal tar หรือ antifungal shampoo ร่วมด้วย ในรายที่เป็นมาก มักจะต้องให้การรักษาด้วยยารับประทาน หรือยาฉีด

 

ทั้งนี้ หากใครมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับเส้นผมและหนังศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook