ไขข้อข้องใจ "โควิด-19" ติดต่อผ่านทาง "ดวงตา" ได้หรือไม่?

ไขข้อข้องใจ "โควิด-19" ติดต่อผ่านทาง "ดวงตา" ได้หรือไม่?

ไขข้อข้องใจ "โควิด-19" ติดต่อผ่านทาง "ดวงตา" ได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในทุกการระบาดของโรคต่าง ๆ เรามักได้ยินคำว่าโรคบางโรคสามารถ "แพร่เชื้อทางตา" รวมถึงกรณี การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ

นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า การติดเชื้อทางดวงตาจะมี 2 ลักษณะ คือ

  1. เชื้อโรคที่มุ่งโจมตีให้เกิดอันตรายกับดวงตา เช่น โรคตาแดง ถ้าเชื้อโรคเข้าเยื่อบุในดวงตาก็ทำให้ตาอักเสบตาแดงได้ ในส่วนนี้ก็ตรงไปตรงมา

  2. เชื้อไวรัสที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ตรงนี้ติดจากตาได้อย่างไรนั้น ต้องชี้แจงว่า ระหว่าง "ดวงตา" กับ "โพรงจมูก" จะมีช่องที่เชื่อมต่อถึงกันอยู่ เรียกว่า "ท่อระบายน้ำตา" ซึ่งจะเห็นว่าเวลาคนเราร้องไห้จะมีน้ำมูกไหลด้วย ดังนั้น เมื่อรับเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจมาที่ดวงตา ก็จะส่งต่อเชื้อเหล่านี้เข้ามาตามท่อระบายน้ำตาลงสู่โพรงจมูกและทางเดินหายใจต่อไปนั่นเอง

แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็นไวรัสที่ไม่ได้ลอยอยู่ ในอากาศโดยลำพัง แต่จะมากับเสมหะ หรือน้ำลายของผู้ป่วย เวลาไอ หรือจาม ดังนั้นโอกาสที่คนปกติเมื่อเดินไปในที่ชุมชนแล้ว จะมีไวรัสลอยมาติดเยื่อบุตาขาว หรือมีปริมาณมากจนไหลลงท่อระบายน้ำตานั้น เป็นไปได้น้อยมาก และยังไม่มีรายงานการติดด้วยวิธีนี้ จึงไม่จำเป็นต้องสวมแว่นตาเพื่อป้องกันเชื้อโรคแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เชื้อจะติดผ่านเยื่อบุตาลงไปสู่โพรงจมูกได้สำคัญคือ "มือ" เช่น ถ้าคนป่วยเอามือมาปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม แล้วไปจับสิ่งของต่าง ๆ อาทิ ราวบันได ลูกบิดประตู หรือตามที่ ต่าง ๆ แล้วคนทั่วไป สัมผัสเชื้อนั้นแล้วไม่ล้างมือ เอามาขยี้ตาก็มีโอกาสติดเชื้อผ่านช่องทางนี้ได้


โรคติดต่อทางน้ำลายยังมีอีกมาก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่รณรงค์ให้คนไทยใส่ใจกับ "สุขลักษณะพื้นฐาน" อย่างการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้อย่างมาก พญ.พรรณพิมล ระบุว่า การปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานนั้น ความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดี และถ้าดูจากพฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือว่าดีขึ้น มีการรับประทานอาหารปรุงสุกมากขึ้น

ประการต่อมาคือการใช้ช้อนกลาง เวลาต้องรับประทานอาหารร่วมกับคนหมู่มาก จะเป็นตัวที่ ช่วยตัดการติดเชื้อทางน้ำลายจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง โดยโรคติดต่อทางน้ำลายที่สำคัญๆ คือ

  1. ไข้หวัดใหญ่

  2. คอตีบ

  3. คางทูม

  4. วัณโรค

  5. โปลิโอ

  6. ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ 
    เป็นต้น

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าการใช้ช้อนกลางร่วมกันแล้วพาลไปมีความเสี่ยงทำให้เกิดติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น ก็เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องแนะนำให้ "ล้างมือบ่อย" ซึ่งการล้างมือถือเป็นมาตรการสำคัญที่ควรทำให้เป็นนิสัย ต้องทำก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

พฤติกรรมการล้างมือของคนไทยถือว่าดีขึ้น แต่เพียงครึ่งเดียว อยากให้มากกว่านี้ ซึ่งปัญหาที่ยังมีคนล้างมือน้อยอยู่ เหมือนว่าเรายังไม่คุ้นชิน เพราะสำรวจในเด็กพบว่าถ้าในโรงอาหารไม่มีจุดสำหรับล้างมือแล้วหวังว่าเด็กจะเดินไปห้องน้ำล้างมือมีน้อยมาก แต่หากจัดให้มีที่ล้างมือไว้แล้วเด็กก็จะล้าง และเมื่อทำบ่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัยเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook