"เนื้องอกมดลูก" รู้ทัน รักษาก่อน หายง่ายกว่า

"เนื้องอกมดลูก" รู้ทัน รักษาก่อน หายง่ายกว่า

"เนื้องอกมดลูก" รู้ทัน รักษาก่อน หายง่ายกว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แนะผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพราะการตรวจพบในระยะเริ่มแรกมีผลดีต่อการรักษา เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย 


เนื้องอกมดลูก คืออะไร ?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้องอกมดลูก เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยเกิดได้ที่ผิวด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูก หรืออยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งผู้หญิงช่วง อายุ  30 -45 ปี มีความเสี่ยงมากที่สุด สำหรับอาการของเนื้องอกมดลูก ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่บางรายก็อาจมีอาการเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด หรือจำนวนของเนื้องอก โดยอาการที่มักพบได้ เช่น ประจำเดือนมากกว่าปกติ รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณท้องน้อย หรือท้องน้อยมีขนาดโตขึ้น ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก ปวดหลัง หรือปวดขา ท้องผูก ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์ทันที การวินิจฉัยของแพทย์นั้นทำได้จากการตรวจภายใน และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่า


ปัจจัยเสี่ยง เนื้องอกมดลูก

ปัจจัยของการเกิดเนื้องอกมดลูกนั้น มีหลายปัจจัย เช่น

  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด อาจจะเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้

  • กรรมพันธุ์

  • ฮอร์โมนเพศหญิง หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสริมฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินไป


อันตรายจาก เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย ความอันตรายของเนื้องอกมดลูก คือ การที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่แล้วไปมีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น เช่น ถ้าเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก หรือบางรายประจำเดือนมากกว่าปกติ จนบางครั้งเกิดภาวะซีดรุนแรงหรือเรื้อรัง


การรักษาเนื้องอกมดลูก

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า การรักษาเนื้องอกมดลูก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ลักษณะของเนื้องอก อัตราการเติบโตของเนื้องอก รวมถึงปัจจัยของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการมีบุตร เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่บางรายอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกออก หรืออาจจะต้องตัดมดลูกออก ในบางกรณี เช่น เนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก หรือมีเลือดออกมาก เป็นต้น 


ตรวจหาความผิดปกติของมดลูกทุกปี ลดเสี่ยงอันตรายจากเนื้องอกมดลูก

ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพราะการตรวจพบในระยะเริ่มแรกมีผลดีต่อการรักษามากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook