จักษุแพทย์เตือน “ไรขนตา” ทำตาอักเสบ ติดเชื้อ

จักษุแพทย์เตือน “ไรขนตา” ทำตาอักเสบ ติดเชื้อ

จักษุแพทย์เตือน “ไรขนตา” ทำตาอักเสบ ติดเชื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จักษุแพทย์เตือน หากมีอาการคัน เคืองตา เปลือกตาอักเสบ ตากุ้งยิง ขนตาร่วงบ่อย ตาแห้ง อาจเกิดจากตัวไรขนตาที่ทำให้เกิดตาอักเสบได้

 

ไรขนตา คืออะไร?

แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ตัวไรขนตา คือสิ่งมีชีวิตประเภทเชื้อปรสิตที่อาศัยอยู่บนใบหน้าของมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตคนละชนิดกับไรฝุ่น โดยไรขนตาจะอยู่ที่รากผม รูขุมขน ต่อมไขมันซึ่งอยู่ติดกับรูขุมขน บริเวณที่พบมาก ได้แก่ ขนตา ใบหน้า ขนคิ้ว เส้นผม จมูก รวมถึงอวัยวะที่มีความมันบริเวณเปลือกตามีทั้งขนตาและต่อมน้ำมันที่สร้างน้ำมันตรงแกนเปลือกตา

 

อันตรายจากไรขนตา

ตัวไรจะกินน้ำมันเป็นอาหาร แทบทุกคนจะมีตัวไรขนตานี้เหมือนกัน แต่อาจไม่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เพราะการผลิตน้ำมันในเด็กยังไม่มากพอที่จะเป็นอาหารให้กับตัวไรขนตาเพาะพันธุ์ จำนวนไรขนตาที่มีความหนาแน่นของตัวไรมากกว่า 5 ตัวต่อตารางเซนติเมตร มักก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบตามมาได้

 

อาการดวงตาอักเสบจากไรขนตา

ตัวไรขนตาไม่ได้ทำให้เกิดโรคโดยตรง แต่เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของตัวไรที่ขับถ่ายสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองและอักเสบ อาจก่อให้เกิดอาการขนตาร่วงบ่อย คัน เคืองตา เปลือกตาอักเสบ ตากุ้งยิง ตาแห้ง เมื่อชำระล้างทำความสะอาด อาบน้ำสระผม ไรขนตาบางส่วนจะร่วงหล่นและตายใน 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าตัวไรตกไปอยู่ในสภาวะที่มีน้ำมันและความชื้น อาจมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

แพทย์หญิงอารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล หัวหน้าคลินิกดูแลรักษาโรคเปลือกตา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยมีระดับภูมิต้านทานต่ำลงหรือผู้สูงอายุที่มีต่อมน้ำมันค่อนข้างอุดตัน ทำให้น้ำมันคั่งค้าง จนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ตัวไรขนตาจะสร้างเซลล์เป็นปลอกสีขาวๆเหมือนขี้รังแคที่ขนตา อาจทำให้เปลือกตาอักเสบ บวม แดง บางครั้งเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของตัวไรปล่อยสารที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ตาแดง มีน้ำตาไหล

 

วิธีป้องกันดวงตาอักเสบจากไรขนตา

  1. ซักปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนให้บ่อยครั้งขึ้น 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง

  2. ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น

  3. หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำเสมอ

  4. กำจัดตัวไรที่โคนขนตา ด้วยแชมพูเด็กหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตา โดยเฉพาะชนิดที่มีส่วนประกอบของทีทรีออย ทำความสะอาดที่โคนขนตาได้ทุกวัน

 

หากต่อมไขมันที่ขอบเปลือกตามีการอักเสบมาก อาจรับประทานยาเพื่อปรับสภาพต่อมไขมันของเปลือกตา ลดการอักเสบ และอาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ในรายที่ไม่มีการอักเสบติดเชื้อไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าไรขนตา เพราะถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับเราแบบถ้อยที ถ้อยอาศัย เพียงแต่ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่ต้องกังวลหรือตื่นตัวกับการมีเชื้อนี้จนเกินไป วิธีการรักษาจึงไม่ใช่การฆ่าไรขนตา แต่เป็นการรักษาอาการอักเสบ รักษาความสะอาดเพื่อให้ตัวไรขนตาลดลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook