8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ

8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ

8 วิธีแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ” ของผู้สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา รับประทานอาหารให้พอดี ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ไม่อ่านหนังสือหรือดูทีวีบนเตียง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับในผู้สูงอายุให้มีคุณภาพที่ดี

 

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การรับรสที่เปลี่ยนไปทำให้รับประทานอาหารไม่อร่อย  สายตามัวลง เป็นต้อกระจก หูได้ยินไม่ชัด ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวลดลง รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย

มีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ ได้แก่

  • การงีบหลับในเวลากลางวัน

  • การนอนไม่เป็นเวลา

  • การเข้านอนก่อนที่จะง่วง หรือเข้านอนเมื่อผ่านเวลานอนไปแล้ว

  • ใช้เตียงเพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ รับประทานอาหาร เนื่องจากข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว

  • มีสิ่งรบกวนในห้องนอน เช่น เสียงดัง มีแสง ห้องร้อน

  • ความไม่สบายตัวจากโรคประจำตัว

  • ปัญหาทางด้านจิตใจ

 

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง ดังนั้น บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม

 

วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแพทย์มักจะรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ฝึกเข้านอน และตื่นนอนเป็นเวลา

  2. รับประทานอาหารให้พอดี

  3. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าและบ่าย

  4. งดสูบบุหรี่

  5. ลดแอลกอฮอล์

  6. ไม่อ่านหนังสือหรือดูทีวีบนเตียง

  7. หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

  8. ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน

 

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลง ทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น การรักษาโดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook