สัมผัสธรรมชาติและการเรียนรู้ที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก”

สัมผัสธรรมชาติและการเรียนรู้ที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก”

สัมผัสธรรมชาติและการเรียนรู้ที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


“ถึงแล้วตื่นได้แล้วจ้า”

    หลังพักสายตามานับแต่ประจำที่นั่งผู้โดยสารรถตู้จากเมืองเชียงใหม่ แม้เส้นทางจะคดโค้งสูงชัน จนรู้สึกได้ถึงแรกเหวี่ยงขณะหลับสักปานใด แต่ก็ไม่อยากฝืนลืมตาตื่น เพราะกลัวสาวงามในดวงใจหนีหายไปจากความฝัน นานๆ จะพบกันบนทางวิบาก แต่ก็ต้องจำใจตื่นเพราะเสียงปลุกของสาวใหญ่วัยทองที่มาพร้อมกันจากกรุงเทพฯ บวกกับรถหมดระยะพอดี

    เจ้าหน้าที่จาก “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก” ทักทายต้อนรับพวกเรา พร้อมแนะนำสถานที่เป็นเบื้องต้น ก่อนนำของว่างคือพายเห็ดและกาแฟสด อันเป็นผลผลิตของศูนย์ฯ ตีนตกแห่งนี้ให้ได้ชิม

    “เราทดลองนำเห็ดหอมมาแปรรูป เพราะเราศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเห็ดมานาน แต่ไม่ได้ขยายออกไปมาก การเพาะเห็ดในท่อนไม้ ทั้งไม้ก่อและไม้เมเปิ้ล โดยการฝังเชื้อลงไปในไม้ ซึ่งทำกันมาแต่ดั้งเดิมเราก็ยังทำลักษณะนั้นอยู่ ก็พยายามลดลงเนื่องจากกลัวปัญหาเรื่องการไปตัดไม้ แต่จะส่งเสริมการเพาะเห็ดถุง ซึ่งเรามีโครงการผลิตก้อนเชื้อเห็ดใช้เอง ปัจจุบันเราไม่สามารถผลิตได้เอง เนื่องจากพื้นที่และการขยายไปยังศูนย์ต่างๆ ยังไม่มากพอ เรากำลังพัฒนาที่จะทำให้สามารถเก็บผลผลิตจากเห็ดได้ทั้งปีต่อไปในอนาคต” 


  
 
    ดร.ชนะ  พรหมทอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บอกกับพวกเรา ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกตั้งอยู่ที่บ้านธารทอง หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2524 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ เป็นจำนวนเงินประมาณ 300,000 บาท เพื่อที่จะให้เป็นศูนย์พัฒนาสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟ เป็นอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยงหรือชา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชนย่านนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าในบริเวณพื้นที่ มีไม้ก่อที่เหมาะแก่การเพาะเห็ดหอม ซึ่งจัดเป็นวัสดุพื้นบ้านที่เกษตรกรสามารถหาได้ง่ายเป็นจำนวนมาก และการเพาะเห็ดหอมนั้นไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ในการเพาะอีกประการหนึ่ง

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ได้นำพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานมาใช้จ่ายในการซื้อที่ดินของราษฎรที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป๊อก หมู่ที่ 1, บ้านแม่ลาย หมู่ที่ 2, บ้านแม่กำปอง หมู่ที่ 3 และบ้านธารทอง หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลในช่วง 700 – 1,200 เมตร ประชากรทั้้งสี่หมู่บ้านในเขตที่ศูนย์ฯ ดูแลมีประมาณ 300 ครอบครัว เป็นคนเมือง นับถือศาสนาพุทธ

    “งานหลักของศูนย์ฯ คือ ส่งเสริมอาชีพรวมถึงสาธิตการปลูกพืช ซึ่งพืชหลักก็คือกาแฟพันธุ์อราบิก้า เพราะภูมิประเทศภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดนี้ แหล่งผลิตกาแฟแหล่งใหญ่ของเชียงใหม่ก็คือ พื้นที่ดอยสะเก็ด ในเขตกิ่ง อ.แม่ออน แห่งนี้ ปริมาณผลผลิตในปีหนึ่งๆ ที่ส่งโครงการหลวง อยู่ในราวสองร้อยกว่าตัน กาแฟคุณภาพดีในบ้านเราก็เป็นผลผลิตจากพื้นที่บริเวณนี้แทบทั้งสิ้น” ดร.ชนะ ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่พวกเรา

    คอกาแฟมักจะคุ้นชื่อ อราบิก้า(Arabica) และ โรบัสต้า(Robusta) ซึ่งเป็นสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกในบ้านเราตามความเหมาะสมของพื้นที่ อราบิก้า จะเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 เมตร ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ รสหอมกลมกล่อม มีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าพันธุ์โรบัสต้าประมาณ 1 เท่า ผลผลิตของกาแฟทั่วโลกเป็นกาแฟพันธุ์นี้ 75 % ส่วนกาแฟพันธุ์โรบัสต้าปลูกในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ถูกกับอากาศร้อนชื้นมากกว่าอากาศเย็น จึงนิยมปลูกกันในบริเวณภาคใต้ กลิ่นหอมฉุนกว่าอราบิก้า การปลูกกาแฟในพื้นที่ศูนย์ฯ ตีนตก จะใช้วิธีที่เรียกว่า “กาแฟอินทรีย์”

    “กาแฟที่ปลูกบริเวณนี้เราเรียกว่า กาแฟอินทรีย์ คือเราจะใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่ที่ดินแปลงที่จะใช้ปลูกกาแฟอินทรีย์นั้น มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องไม่มีการใช้สารเคมีมาเป็นเวลา 5 ปี”  คุณไทยรัฐ สิทธิพาณิช หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อธิบายถึงคำว่ากาแฟอินทรีย์ในเราฟัง

    “เราจะแยกเมล็ดพันธุ์ในการปลูก ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 – 1,000 เมตร ก็เป็นเมล็ดพันธุ์อีกแบบ ถ้าสูงกว่านั้นก็จะเป็นอีกอย่าง ถึงแม้กาแฟจะเติบโตได้ในที่สูง แต่ถ้าสูงมากไปมันก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำค้างแข็ง”

    โดยทั่วไปต้นกาแฟจะเริ่มติดดอกออกผลหลังการปลูกได้ 2 - 3 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวิธีการปลูก จะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ การเก็บเกี่ยวจะทำในช่วงพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสภาพของพื้นที่ปลูก ในรอบปีหนึ่งๆ จะมีการเก็บเกี่ยวประมาณ 4 ครั้ง ในแต่ละต้นคือ
ครั้งที่ 1 เมื่อผลกาแฟสุกประมาณ 50% ของต้น
ครั้งที่ 2 หลังการเก็บผลกาแฟครั้งแรก ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์
ครั้งที่ 3 หลังจากการเก็บผลกาแฟครั้งที่สอง ประมาณ 2 -3 สัปดาห์
ครั้งที่ 4 เก็บหลังจากครั้งที่สาม ประมาณ 2 -3 สัปดาห์

    ผลของกาแฟเรียกว่า Coffee Cherry มีลักษณะค่อนข้างกลม ขณะยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะมีสีแดง แต่ละผลจะมีเมล็ดกาแฟอยู่ 2 เมล็ด แต่ผลกาแฟประมาณ 5 – 10 % จะมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียวซึ่งเรียกว่า พีเบอร์รี่ (Peaberry) การเก็บกาแฟต้องเก็บทีละผล หลังจากเก็บแล้วต้องนำมาปลอกเปลือก โดยใช้เครื่องปลอกเปลือกที่ต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วยขณะเครื่องทำงาน ต้องทำภายใน 24 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว เพราะหากเก็บไว้นาน ผลของกาแฟจะเกิดการหมัก (fermentation) ขึ้น ซึ่งจะทำให้สารกาแฟมีรสชาติเสียไป

    เมื่อปลอกเปลือกแล้วก็จะนำไป กำจัดเมือกที่หุ้มเมล็ด แล้วล้างให้สะอาดก่อนที่จะนำไปทำให้แห้ง  โดยใช้วิธีตากแดดบนภาชนะหรือแคร่ไม้ไผ่ที่ยกพื้นสูงเหนือดิน โดยตากตอนกลางวันและเก็บตอนเย็น ใช้เวลาตากประมาณ 7 -10 วัน เมล็ดของกาแฟตากแห้งจะอยู่ในรูปที่เรียกว่า กาแฟกะลา (Parchment Coffee) คือจะมีเปลือกแห้งปกคลุมอยู่ การเก็บกาแฟกะลาจะเก็บในกระสอบป่านที่สะอาด ไม่มีกลิ่น ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทดี เมื่อสีกะลาออกด้วยเครื่อง จะได้ สารกาแฟ (Green Coffee) สีเขียวอมฟ้า เสร็จแล้วนำมาคัดแยกโดยตะแกรงร่อน เพื่อแบ่งเกรดตามมาตรฐานของโครงการหลวง ก่อนนำไปแปรรูปเป็นกาแฟคั่วในชื่อ ”กาแฟดอยคำ โครงการหลวง – Doi Kham Coffee By Royal Project of Thailand” ต่อไป

    “กาแฟโครงการหลวงก็จะใช้มาตรฐานของโครงการหลวง ส่วนชาวบ้านที่เค้าจะทำเอง เค้าก็มีแนวทางของเค้า ทางเราเพียงทำหน้าที่แนะนำให้ความรู้ และวิธีการต่างๆ แก่เค้า” คุณไทยรัฐ กล่าวเสริม

    การสนับสนุนส่งเสริมการปลูกกาแฟของโครงการหลวง ได้สร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ป้ายวงคำ ญาติฝูง หนึ่งในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ หลังได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการหลวงเกี่ยวกับการปลูกกาแฟ จากอาชีพเก็บใบชาจนปัจจุบันทำเมล็ดกาแฟคั่วส่งขายในชื่อศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง

    “ตอนแรกทดลองปลูกก่อน ส่วนกาแฟคั่วนี่มาทีหลัง ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่ากาแฟสด มันคืออะไรเราไม่รู้จักเลย แต่แฟนป้าเค้าเคยเห็น พอได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ก็เลยลองทำดู เริ่มแรกคั่วกับกระทะเพราะเรายังไม่มีเงินซื้อเครื่อง แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็นไ้ด้วันละแปดกิโล ทำนานๆ แขนสองข้างนี่แทบเสียไปเลย ตอนหลังเลยไปกู้สหกรณ์เพื่อซื้อเครื่องมาใช้”

    ป้าวงคำ บอกว่าชีวิตป้าเปลี่ยนไปเพราะกาแฟ และกาแฟทำให้ป้าได้จับเงินแสนเป็นครั้งแรกในชีวิต “ป้าเคยไปออกงานครั้งแรกที่เมืองทองธานี ขายกาแฟสดในนามโครงการหลวง ไม่น่าเชื่อว่าจะขายดี ทำกันไม่ได้หยุดได้พัก ขายสามวันได้เงินร่วมแสน ป้าดีใจมากเลย ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้เห็นเงินแสน ทำให้เรามั่นใจว่าเรามาถูกทาง พ่อแม่ปู่ย่าตายายเก็บเมี่ยง จะเห็นเงินหมื่นยังยากเลย ต้องบอกว่าโครงการหลวงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของป้าดีขึ้นในทุกๆ ด้านจริงๆ”

    นอกจากเห็ดหอมและกาแฟ ภายในศูนย์ฯ ยังมีโรงเรือนเพาะเห็ดหูหนูขาว และที่ทำให้พวกเราตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษคือโรงเรือนวานิลลา ซึ่งโครงการหลวงได้ทดลองปลูก เพราะเล็งเห็นว่าเป็นพืชที่จะทำรายได้เป็นอย่างดีในอนาคต

    “วานิลลาคือกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง เพียงแต่ดอกไม่สวย มีฝักคล้ายถั่ว หนึ่งปีอกดอกเพียงครั้งเดียวและใช้เวลาเกือบปีกว่าฝักจะแก่ เสร็จแล้วต้องนำมาบ่มอีกสี่ห้าเดือน ถ้าไม่บ่มก็จะไม่มีกลิ่นหอม”

    วานิลลาใช้เป็นส่วนผสมสำหรับแต่งกลิ่นอาหาร ซึ่งเป็นวานิลลาสังเคราะห์ที่ต้องสั่งนำเข้า 100% บริโภคเข้าไปมากๆ อาจเป็นอันตรายต่อตับ ปัจจุบันทางโครงการหลวงได้ดำเนินการขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ศูนย์ฯ ขุนวาง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเนื่องจากเป็นพืชที่ดูแลง่าย โดยมูลนิธิโครงการหลวงจะเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร

    นอกจากจะให้ความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ยังมีบริการบ้านพักจำนวน 6 หลัง พื้นที่กางเต็นท์ริมน้ำและบริการเต็นท์-ถุงนอนให้เช่า รวมถึงอาหารและปาร์ตี้บาร์บีคิวยามค่ำ ชิมเห็ดหอมสดย่างหอมกรุ่น พร้อมการแสดงพื้นเมืองจากเด็กๆ ตื่นเช้ามาทำบุญใส่บาตร จิบกาแฟดอยคำ ตบท้ายด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้านแม่กำปอง หากสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่


- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โทร.0 5331 8316
- คุณไทยรัฐ สิทธิพานิช หัวหน้าศูนย์ฯ โทร.08 9953 4925
- ศูนย์บริการท่องเที่ยวโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวง
  โทร. 0 5381 0765-8 ต่อ 104,108

    การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางจากแยกดอนจั่นหมายเลข 1317 ผ่านบ้านห้วยแก้ว ไปตามเส้นทางไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จากสามแยกบ้านห้วยแก้วเลี้ยวขวาอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก 

บ้านแม่กำปอง... เงียบสงบแต่ไม่เงียบเหงา

     ถัดขึ้นมาจากศูนย์ฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่กำปอง ชุมชนคนเมืองเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 51 กิโลเมตร ก่อนเข้าหมู่บ้านจะเป็นที่ตั้งของ วัดคันธาพฤกษา (แม่กำปอง) วัดเก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 เดิมเป็นอาราม ต่อมาได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2499 แม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่มีความงดงามคลาสสิกด้วยไม้ประดับจากธรรมชาติ ประเภทกล้วยไม้ มอส เฟิร์น ที่ขึ้นอยู่บนหลังคาวิหารและกุฎี บอกเล่าได้ถึงความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำ ของพื้นที่ย่านนี้ได้อย่างดี
 บ้านแม่กำปองเป็นหนึ่งใน 60 หมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ได้รับเลือกให้เป็น หมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยว - OTOP Village Champion ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า คนในชุมชนนั้นๆ จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างเข้มแข็ง ต้องมีผลิตภัณฑ์ 0TOP ที่โดดเด่น มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สามารถรักษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ ของท้องถิ่นไว้ได้ แต่ก่อนหน้านั้น หมู่บ้านแม่กำปองเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของการเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง จนได้รับตราสัญลักษณ์โฮมสเตย์มาตรฐานไทย เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา

     พ่อใหญ่พรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ผู้ริเริ่มจัดทำหมู่บ้านท่องเที่ยวอนุรักษ์ เล่าถึงการจัดทำโฮมสเตย์ให้ฟังว่า
 
     “เริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 สมัยที่มาเป็นผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก เนื่องจากเห็นว่าหมู่บ้านมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติที่เพียบพร้อม จึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ร่วมพัฒนาบริเวณหมู่บ้านและแหล่งท่องเที่ยว ด้วยสภาพที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่ท่ามกลางหุบเขา อากาศเย็นสบาย ทัศนียภาพสวยงาม ชาวบ้านอยู่กันแบบเรียบง่าย บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ชาวบ้านก็ยังไม่ทิ้งวิถีชีวิตเดิมๆ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก”

     “หมอนใบชา” เป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้าน มีลักษณะเด่นคือมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย เป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของกลุ่มแม่บ้าน ที่นำเอาใบชาแก่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์มาตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาอบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น แล้วนำมาเย็บใส่เป็นไส้หมอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมอนอิง หมอนข้าง หมอนรองคอ ทั้งนำมาเย็นเป็นถุงดับกลิ่นอับชื้นในรถหรือตู้เสื้อผ้า



    
     บ้านแม่กำปองได้จัดกิจกรรมในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ทั้งท่องเที่ยวดูวิถีชีวิต ดูการเก็บใบเมี่ยง และชมกระบวนการทำเมี่ยงแบบดั้งเดิม ทำสมุนไพร ชมไร่กาแฟ เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติทั้งระยะไกล ที่สามารถเดินขึ้นถึง “ดอยล้าน” ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ในวันที่อากาศดีจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของ เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ได้ทั้ง 3 จังหวัด บนดอยมีลานกางเต็นท์ ชมดอกพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม 
ภายในหมู่บ้านมีน้ำตกแม่กำปอง น้ำตกสูง 7 ชั้น มีน้ำตลอดทั้งปี ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าไปเลาะไปตามลำน้ำจากหมู่บ้านไปถึงตัวน้ำตกได้ หากขับรถไปตามเส้นทางที่ตัดผ่านหมู่บ้านไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ในเขต อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

     บ้านแม่กำปองมีกิจกรรมผจญภัย “Flight of the Gibbon” ซึ่งเอกชนไปดำเนินการขอเช่าพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขห้ามตัดต้นไม้และทำลายสภาพแวดล้อม เป็นกิจกรรมสำหรับผู้ที่ชอบความตื่นเต้น ห้อยโหนจากเรือนยอดไม้ในมุมมองของชะนี ผ่านสวนกาแฟและหุบเขาด้านล่าง ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ได้รู้จักหมู่บ้านแม่กำปอง ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่เดิมแล้ว

ชิมชีสควายนม... ที่แม่ทาเหนือ


     ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยน้ำดิบ หมู่ที่ 2 ต.ทาเหนือ กิ่ง อ.แม่ออน ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 3 ตำบล คือ ต.ออนเหนือ ต.ทาเหนือ และ ต.แม่ทา เริ่มต้นขึ้นในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือเมื่อปี 2521 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ขุนแม่ทาเหนือให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า

 


 

 

   การดำเนินงานในระยะแรก ได้รับความร่วมมือจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เข้าร่วมโครงการในรูปของการปลูกสร้างสวนป่า โดยมุ่งหวังที่จะให้ราษฎรมีรายได้จากงานดูแลรักษาป่า ต่อมางบประมาณด้านการดูแลรักษาป่าลดน้อยลงในปี 2530 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ จึงเริ่มต้นพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร ซึ่งมีงานส่งเสริมการปลูกผักเป็นงานหลัก

 

 

 

 

 


    พืชผักที่ทำการส่งเสริมมีหลายอย่าง ทั้งแตงกวาญี่ปุ่น ถั่วเข็ม ถั่วหวาน ฯลฯ และข้าวโพดฝักอ่อนอินทรีย์ โดยใช้พันธุ์แปซิฟิก 271 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนโดยเฉพาะ ใช้เวลาการปลูกประมาณ 45 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ แต่ภายในหนึ่งต้นจะมีข้าวโพดเพียง 3 ฝักเท่านั้น ส่วนต้นและเปลือกก็จะนำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ยหมักบางส่วน สามารถรับประทานได้ทั้งฝักสดและนำไปประกอบอาหาร ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตข้าวโพดฝักอ่อนอินทรีย์ ในปริมาณ 200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เพื่อส่งขายในประเทศเป็นหลัก แต่กำลังขยายตลาดไปต่างประเทศคือไต้หวัน สิงคโปร์ ภายในศูนย์ยังมีแปลงสาธิตการปลูกมะเดื่อฝรั่ง ซึ่งกำลังนิยมในบ้านเรา โดยวิธีรับประทานผลสด แม้หน้าตาจะดูประหลาดแต่รสชาติอร่อยมากๆ 

     ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ ได้ทดลองสาธิตเลี้ยงควายนม เพื่อนำน้ำนมไปผลิตเนยแข็งหรือชีส โดยใช้ควายสายพันธุ์ “มูร่าห์” จากประเทศอินเดีย ซึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมบ้านเราได้ดี หากว่าตามหลักโภชนาการแล้ว นมควายมีคลอเลสเตอรอลต่ำ แต่โปรตีนและสารอาหารมากกว่านมวัว นมแกะและนมแพะ ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตโยเกิร์ตและมอสซาเรล่าชีส ซึ่งเป็นชีสชนิดเดียวกับที่ใช้ในพิซซ่า 

 

 

  


   ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้ผลิตมอสซาเรล่าชีสจำหน่ายเอง และกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทดลองเลี้ยง นอกเหนือไปจากการปลูกผักปลอดสารพิษ

 

 

 

ดูพริกหวานสีสวยที่...  แม่สาใหม่

 


   
 ไหนๆ ได้โอกาสแนะนำศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแล้ว เลยจะขอต่ออีกแห่ง เส้นทางอาจจะกระโดดออกไปนิด ตามเส้นทางเชียงใหม่ - แม่ริม – สะเมิง ประมาณ 38 กิโลเมตร ก็จะถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

    

 
    บ้านแม่สาใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ชาวม้งอยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งในอดีตได้บุกรุกผืนป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดและปลูกฝิ่น ต่อมาทางศูนย์ฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้เชียงใหม่ ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ดำเนินการทดลองวิจัยพืชผักเมืองหนาว และผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเมืองหนาว เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับคนในหมู่บ้านแทนการปลูกฝิ่น ในยุคแรกๆ ชาวบ้านไม่ค่อยให้การยอมรับเนื่องจากรายได้ต่ำกว่าการปลูกฝิ่น แต่เมื่อถูกทางการปราบปรามห้ามปลูกฝิ่นโดยเด็ดขาด ชาวบ้านจึงหันมายอมรับและดำเนินการตามที่ศูนย์ฯ แนะนำ จนกระทั่งยึดเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างในปัจจุบัน

    ภายในศูนย์ฯ จะมีโรงเรือนปลูกพริกหวานแดง พริกหวานเหลือง ผลโตสีสด ซึ่งใช้วิธีโยงเชือกระหว่างลำต้นกับโรงเรือน เพื่อไม่ให้ลำต้นล้ม มีทั้งโรงเรือนแบบใหม่ และแบบดั้งเดิมที่ใช้ไม้ไผ่สร้าง ภายในศูนย์ยังมีสถานที่บรรจุหีบห่อผลผลิต สำหรับส่งไปจำหน่าย โรงเืรือนองุ่นไร้เมล็ด ซึ่งจะมีผลผลิตในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคมและเมษายน - พฤษภาคม แปลงวิจัยไม้ผลเช่น แมคคาเดเมีย สวนกล้วยไม้และแปลงวิจัยไม้ดอกเมืองหนาว 

 

    สำหรับท่านที่ต้องการท่องเที่ยว พลาดไม่ได้กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยผากลองและป่าดงเซ็ง ซึ่งเป็นเส้นทางชมธรรมชาติ มีจุดชมวิว พรรณไม้ สัตว์ป่า ที่น่าสนใจให้ศึกษา มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ภายในศูนย์ฯ และโฮมสเตย์ของชุมชนในหมู่บ้านไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน 

ท่านที่สนใจท่องเที่ยวในเส้นทางโครงการหลวง ติดต่อไปได้ที่
ศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวโครงการหลวง
โทร. 0 5381 0765-8 ต่อ 104,108
หรือ 08 4224 9803, 08 1472 1274, 08 1366 4269  และ  www.thairoyalprojecttour.com

 บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ


ขอบขอบคุณ
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่
- ศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวง
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
- ศุนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

 

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ ของ สัมผัสธรรมชาติและการเรียนรู้ที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook