เข้าไปในเมืองลับแล

เข้าไปในเมืองลับแล

เข้าไปในเมืองลับแล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัมผัสอุตรดิตถ์ในมุมมองใหม่

ขอเพียงสัจจะวาจา
แม่มายเมืองลับแล
หญิงที่ควรยกย่อง เชิดชูในคุณความดี
ยอมเสียสละความรักเพื่อธำรงจารีตประเพณี
ของการรักษาวาจาสัตย์ไว้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของชาวเมืองลับแลทุกคน

     เรื่องของเรื่องเมืองลับแล…เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็กๆ  อำเภอหนึ่ง ที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์  แต่เดิมนั้นคงเป็นเมืองที่ยากต่อการเดินทางไปถึง   ด้วยเส้นทางอันคดเคี้ยว  ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย  จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองลับแล  ซึ่งหมายความว่า เมืองที่มองไม่เห็น 

     มีเรื่องเล่ากันมาช้านานว่า  กาลครั้งหนึ่งมีชาย (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง…ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอลับแล)  ได้เข้าไปในป่า  แล้วพบเห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมาจากบริเวณชายป่า นางเหล่านั้นได้นำใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง  ซึ่งใบไม้นั้นเปรียบเสมือนกุญแจประตูสู่เมืองลับแล

     ด้วยความสงสัย  ชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้  เมื่อได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับกลับไป  แต่มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ของตนไม่พบ เพราะชายหนุ่มผู้นี้แอบหยิบมา   นางวิตกเดือดร้อนมาก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ  ขอติดตามนางกลับไปด้วย  เพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล… 

     หญิงสาวนางนั้นก็ยินยอม  นางได้พาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองลับแล  ซึ่งทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางได้อธิบายว่าคนในเมืองนี้ล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด…จากนั้นนางได้พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง  ระหว่างนั้นชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย  มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ  ต่อมาชายหนุ่มจึงได้แต่งงานและอยู่กินกับนางผู้นี้ จนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

     จวบจนมาถึงวันหนึ่ง  ขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้เป็นพ่อจำต้องเลี้ยงบุตรอยู่ที่บ้าน บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "นั่น…แม่เจ้ามาแล้วๆ"  ทั้งที่แม่ของเด็กน้อยยังไม่มา  ในเวลานั้นมารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ  เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์  นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย…  

     แต่ด้วยความเป็นห่วง นางก็จัดหาย่ามใส่ของให้สามีพร้อมกำชับว่า “อย่าเปิดออกดูจนกว่าจะถึงบ้านเมืองของตน”  จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง  ชายหนุ่มโศกเศร้าเสียใจ แต่ก็จำใจต้องเดินทางกลับบ้านเมืองของตนไปตามที่ภรรยาชี้ทางให้   

     ระหว่างทางที่เดินกลับนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อยๆ พรางสงสัยถึงของในย่ามที่ภรรยาให้มา  จึงตัดสินใจเปิดออกดูโดยลืมนึกถึงคำสั่งของภรรยา  เมื่อเปิดออกมาพบเห็นเป็นแง่งขมิ้นธรรมดา  จึงทิ้งเสียกลางทาง  แล้วนำติดตัวกลับไปเพียง 1 แง่ง เท่านั้น

     ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน  ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้  แต่เขาได้ทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนกลับไปเพื่อค้นหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ 

     ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดูก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก  จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม 

     จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะอนุมานได้ว่าที่เมืองลับแล  แต่เดิมนั้นเคยเป็นเมืองใหญ่ เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน  เพราะได้มีการขุดพบกลองมโหระทึก และพร้าสำริด ได้ในบริเวณดังกล่าว 

     ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายลง ชนกลุ่มแรกที่มาอยู่ในบริเวณเมืองลับแล นั้นอพยพมาจากอาณาจักรเชียงแสน (โยนกนาคพันธุ์)  โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมือง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็นในยามพลบค่ำ  แม้ตะวันจะยังไม่ตกดินบริเวณนี้ก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์  ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับ แลง" (คำว่า “แลง” แปลว่า “เวลาเย็น”) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ลับแล" ซึ่งกลายมาเป็นชื่ออำเภอลับแลในสมัยปัจจุบัน 

     ผู้คนที่อพยพมาจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบเขาและตั้งชื่อ บ้านว่า "บ้านเชียงแสน"  เมื่อได้ทำมาหากินกันระยะหนึ่งคนกลุ่มนั้นได้ไปอัญเชิญเจ้าชายฟ้าฮ่า มกุมาร จากอาณาจักรโยนกเชียงแสน มาเป็นผู้นำของตนที่ป่าลับแล  โดยให้ชื่อว่าเมืองลับแล  

     ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับแลในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้โปรดให้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ และยุบเมืองทุ่งยั้งมารวมกับเมืองลับแล และสถาปนาเมืองลับแลขึ้นเป็นอำเภอ   

     ต่อมาในปีเดียวกันนี้  พระพิศาลคีรี ได้ย้ายอาคารที่ทำการไปตั้งที่ม่อนจำศีล (ห่างจากที่ว่า การ อำเภอปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ครั้นถึง พ.ศ. 2457 สมัยพระศรีพนมมาศ (เมื่อ ครั้งเป็นหลวงศรีพนมมาศ) เห็นว่าห่างไกลจากตัวเมืองลำบากแก่ราษฎรไปติดต่อ  ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสงวนที่ม่อนจำศีล เป็นที่ประดิษฐานพระเหลือ (พระพุทธรูปที่สร้างจากทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก) เพราะทรงเห็นว่าทิวทัศน์ของม่อนจำศีลคล้ายกับเมืองชวา  จึงได้ย้ายอาคารที่ทำการจากม่อนจำศีล มาอยู่ที่ ม่อนสยามินทร์ (ชาว บ้านเรียกม่อนสามินทร์) เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน

     ปัจจุบันอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอที่มีความน่าสนใจ เหมาะสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเกษตรกรรม  วัดวาอารามในอำเภอลับแล อาทิ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง ได้มีการจัดงานประเพรีอัฐมีบูชา หรือ ประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง ขึ้นทุกปี ในช่วงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มีความเก่าแก่ และหาชมได้ยากในปัจจุบัน  ชาวอำเภอลับแล และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีอันดีงามนี้ โดยจัดให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุตรดิตถ์สืบต่อกันมาทุกปี

     นอกจากนี้ ด้วยสภาพภูมิประเทศอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน ทำให้ชาวบ้านในอำเภอลับแล สามารถผลิตผลไม้ประเภททุเรียนพันธุ์หลงลับแล และ หลินลับแล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ปลูกได้ในพื้นที่อำเภอลับแลเท่านั้น  มีรสชาติอร่อย ราคาแพง แต่สามารถหาซื้อรับประทานได้  โดยทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และ หลินลับแล นั้นจะออกในช่วงเดือนมิถุนายน และ กรกฎาคม   

     หากนักท่องเที่ยวมีความสนใจ ทางอำเภอลับแลได้จัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ชมสวนทุเรียน และโบราณสถานต่างๆ ในอำเภอลับแล ไว้คอยบริการ นักท่องเที่ยวจะได้ชมวิถีชีวิตของชาวสวนทุเรียน ซึ่งมีการเก็บเกี่ยว การขนส่งทุเรียนจากต้นข้ามภูเขา โดยการใช้รอกลวดสลิง  และการขับขี่รถจักรยานยนต์บรรทุกทุเรียนลงมาจากภูเขาด้วยความชำนาญ  นอกจากทุเรียนแล้ว ก็ยังมีผลไม้อื่นอีก เช่น ลางสาด , ลางกอง (สายพันธุ์ผสมกับ ลางสาด) นับได้ว่า หากมาเที่ยวเมืองลับแล้ว คงต้องใช้เวลา 2 – 3 วัน จึงจะเดินทางท่องเที่ยวชมวิถีชีวิต ซึมซับประสบการณ์ใหม่ของชาวอุตรดิตถ์ ได้อย่างครบถ้วน 

     อำเภอลับแล  ดินแดนที่หลายคนเคยสงสัยถึงความลี้ลับสับสน วันนี้ประตูเมืองลับแลได้เปิดออกแล้ว  เปิดให้ผู้คนจากภายนอก ที่มีศีลธรรมอันดีได้เข้าไปเยือนยล ชมปุถุชนความเป็นอยู่ สู่อดีตบรรพกาล ตำนานเมืองลำแล

นุ  บางบ่อ...เรื่อง / ภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่
ที่ว่าการอำเภอลับแล
โทร. 0 5543 1089
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอุตรดิตถ์
โทร. 0 5543 1439
ททท. สำนักงานแพร่
โทร. 0 5452 1118 , 0 5452 1127
www.easternlanna.org

แนะนำที่พัก
โรงแรมสีหราช   อำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์
โทร. 0 5541 1106 , 0 5541 2172

แนะนำ อาหารพื้นเมือง – กาแฟสด - สินค้าหัตถกรรม
ม่อนลับแล
โทร. 0 5543 1439

หมี่พัน ลับแล
อาหรพื้นบ้าน ของชาวลับแล (สอบถามชาวอำเภอลับแล จะรู้จักกันดี) สามารถซื้อกลับไปรับประทานได้

ร้านลมเย็น (ถนนสายพิษณุโลก – เด่นชัย)
โทร. 0 5541 4611 , 08 1675 6098
www.lomyenfood.com

สถานีตำรวจท่องเที่ยว จังหวัดอุตรดิตถ์
โทร. 0 5524 5357-8

โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
โทร. 0 5541 4484-8

ขอขอบคุณ
เจ้าหน้าที่ ททท. สำนักงานแพร่  ทุกท่าน
เอื้อเฟื้อการเดินทางในการไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

 

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ เข้าไปในเมืองลับแล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook