"เอสซีจี" ชวนคนรุ่นใหม่ เดินตามรอย “พ่อ” ในทริป “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

"เอสซีจี" ชวนคนรุ่นใหม่ เดินตามรอย “พ่อ” ในทริป “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

"เอสซีจี" ชวนคนรุ่นใหม่ เดินตามรอย “พ่อ” ในทริป “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     พลังของคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และสืบสานสิ่งที่ “พ่อ” ได้วางรากฐานไว้ เอสซีจี จึงจับมือคนรุ่นใหม่ แฟนเพจ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต พร้อมตัวแทนชุมชน จากจังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น ร่วมออกเดินทางศึกษาเส้นทางแห่งความอุดมสมบูรณ์ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ณ จังหวัดลำปาง และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ในทริป รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย ในโครงการ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต ชนิดเรียนชัด ทำจริง ตลอด 2 วันเต็มจนเข้าใจและสามารถหอบประสบการณ์กลับบ้าน พร้อมเดินหน้าลงมือพัฒนาบ้านเกิดได้ทันที

     เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องจะช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ดั่งเช่นที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ได้เล่าให้ฟังถึงพระราชดำริของ ในหลวง ร.9 ว่า “เราต้องปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก คือ เป็นการสร้างสภาวะรอบ ๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว เพราะแนวทางคือถ้ามีน้ำไหลลงมา หรือฝนตกจะค้างอยู่ในแอ่งนี้ จะเปรียบได้กับ ‘ถุงน้ำเกลือ’ แทนที่น้ำจะไหลออกไปหมด ก็ให้ค่อย ๆ หยดซึมเข้าไป คราวนี้ความชื้นจะอยู่บนภูเขาบริเวณนี้นานขึ้น ความสมบูรณ์ก็กลับคืนมา”


     การมาเรียนรู้เส้นทางของ “พ่อ” ครั้งนี้เริ่มต้นที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริฯ มาใช้จนเป็นผลสำเร็จตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยปณิธานที่ว่า “โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าไม้เขียวที่นั่น” โดยแต่ละชุมชนมีเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับฝายที่แตกต่างกันไปตามแต่พื้นที่ อย่าง บ้านสาแพะ ที่เคยประสบปัญหา ถึงแม้จะมีบ่อน้ำหมู่บ้านมากถึง 200-300 บ่อ แต่ไม่เพียงพอที่จะทำการเกษตรได้ทั้งปี ผู้คนอพยพออกหากินต่างถิ่น ก่อนที่หมู่บ้านจะเหลือแต่ความแห้งแล้ง ชุมชนจึงต้องตื่นตัวแก้วิกฤติ จนในปัจจุบันพื้นที่กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชนได้ เราจึงได้มาเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จจากประสบการณ์จริงและวิธีการบริหารจัดการน้ำจากผู้คนในท้องถิ่น และก็ค้นพบว่า

     นอกจากฝายชะลอน้ำจะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำและป่าแล้ว ยังช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชน และยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

     และเรื่องหนึ่งเลยที่มาปลุกพลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่มาร่วมทริปในครั้งนี้คือ เรื่องราวของ น้องสมาร์ท - วัชระพงษ์ สุขพรรณ์ เยาวชนบ้านสาแพะ ที่มีอายุเพียง 19 ปี แต่กลับเป็นแกนกำลังสำคัญในการพาเด็ก ๆ ในชุมชนไปเรียนรู้ เรื่องการรักษ์น้ำ จากพื้นที่จริงเปรียบเสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างศาสตร์ความรู้ของผู้ใหญ่ ให้เด็ก ๆ เข้าใจจนทำให้ชุมชนนี้ได้รับการปลูกฝังเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างหยั่งรากลึก

     เมื่อเรียนรู้ทฤษฎีจนเข้าใจ ก็ถึงเวลาลงพื้นที่ดูความสำเร็จของชุมชน เช่น การบริหารจัดการแก้มลิงหนองโป่งบ้านแป้นใต้ เกษตรปราณีต แปลงผักบ้านสาแพะ การขยายความรู้สู่เครือข่าย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน เยี่ยมชมฝายชะลอน้ำแบบผสมผสาน และร่วมสร้างฝายกับชุมชน ณ ลำห้วยโป่ง และ ลำห้วยต้นผึ้ง

     ในการร่วมกันสร้างฝายนี้ เห็นเลยว่าต้องอาศัยความสามัคคีของทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก อย่างคำแนะนำจากความเชี่ยวชาญของคนในชุมชน แรงและกำลังของคนรุ่นใหม่ที่รับฟัง และทำตามอย่างตั้งใจ หลายคนที่มาร่วมสร้างฝายครั้งนี้ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่มุ่งมั่นที่จะศึกษา ลงมือทำ เพื่อเป็นกำลังสำ คัญ และกลับไปต่อยอดในการเป็นต้นแบบพัฒนาชุมชนบ้านเกิดในจังหวัดของตัวเองด้วย

     และเมื่อเวลาผ่านไปฝายชะลอน้ำเหล่านี้จะเริ่มแปรสภาพเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และช่วยชะลอความเร็วยามน้ำหลาก กักเก็บน้ำในยามแล้ง ทำให้การดูดซับน้ำของต้นไม้ดีขึ้น อีกทั้งยืดระยะการร่วงหล่นของใบไม้ในฤดูแล้งให้ยาวขึ้น จำนวนไฟป่าลดลง ระบบนิเวศคืนสู่สมดุล มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ทั้งยังสามารถต่อระบบประปาภูเขานำน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร

     นอกจากสร้างฝายแล้ว ยังมีโอกาสได้ศึกษาเส้นทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ... เส้นทางของ “พ่อ” ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย


     ที่ซึ่งได้รับการขนานนามว่า "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" เพราะสร้างให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมและเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฎิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามพระราชดำรัส “การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ”


     และปิดท้ายการเรียนรู้ด้วย Workshop ระดมความคิด การทำแผนบริหารจัดการน้ำและแผนการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนอื่น ๆ ในพื้นที่ของตนเอง โดย อ.คณิต ธนูธรรมเจริญ เลขานุการสมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน และ อ.คณิต ยังได้เล่าถึงปัจจัยความสำเร็จของการนำแนวพระราชดำริไปใช้ดำเนินการในพื้นที่ ที่มีด้วยกัน 5 เรื่องที่สำคัญคือ 1. การมีส่วนร่วม 2. การพึ่งตนเอง 3. การมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ 4. การใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสม และ 5. เลือกใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับภูมิสังคม

     นับว่าการเดินทางมาทริป “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ในโครงการ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต ครั้งนี้ ได้เรียนรู้ทั้งหลักการสำคัญ และได้ลงมือปฏิบัติ พร้อมที่จะนำประสบการณ์อันเป็นประโยชน์นี้กลับสู่ชุมชนบ้านเกิดอย่างแท้จริง

     แต่สำหรับการเดินทาง สานต่อที่พ่อทำ ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะยังจะมีการเดินทางสร้างฝายชะลอน้ำ ลงพื้นที่จริงเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ให้กับชุมชนอื่น ในจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 14 กรกฎาคม กาญจนบุรี 22 สิงหาคม และ ขอนแก่น ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อส่งต่อความยั่งยืน สู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต

     ดั่งที่ “พ่อ” ได้สอนแล้ว ทำให้ดูแล้ว และได้ผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราคนรุ่นใหม่ และชุมชนที่ต้องผนึกกำลังต่อยอดความรู้เรื่องป่า และน้ำ ให้สมบูรณ์พร้อมสู่รุ่นลูก รุ่นหลานเหมือนที่ “พ่อ” มักพูดบ่อยๆ ว่า “น้ำคือชีวิต”

 

 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook