ผู้ว่าการ ธปท.ยังกังวลเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง

ผู้ว่าการ ธปท.ยังกังวลเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง

ผู้ว่าการ ธปท.ยังกังวลเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานโพสต์ทูเดย์ อินเวสเมนต์ เอ็กซ์โป 2011 ในหัวข้อเรื่อง "นโยบายการเงินกับยุคทองของเอเชีย" ว่า ปัจจัยการนำเข้าสู่ยุคทองมีองค์ประกอบหลัก 3 เรื่อง คือ 1.สันติภาพ และความกลมเกลียวของประเทศ 2.ความมั่นคงทางเสถียรภาพของประเทศ และ 3.ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจ หากมองภาพรวมทั้งเอเชียในขณะนี้นับว่าเข้าสู่การเป็นยุคทองได้ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกเอเชียถือว่าดีกว่ามาก

สำหรับประเทศไทย เมื่อเทียบกับจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ถือว่าประเทศเหล่านี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ส่วนไทยยังอยู่ในช่วงที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก จึงมองว่ามีเสถียรภาพมั่นคง มีความมั่งคั่งเลยคงไม่ได้ เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุปทานภายในเอเชียเท่านั้น ดังนั้น หากเราต้องการเข้าสู่ยุคทองกับเอเชีย เราต้องเร่งพัฒนาอย่างน้อย 2 ด้านในปัจจัย คือ การเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เป็นระดับชั้นนำของเอเชีย อีกด้านคือ การรักษาสมดุลของนโยบาย ทั้งด้านการคลัง การจัดสรรงบประมาณ และนโยบายการเงิน เพื่อให้เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

โดยเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงาน และราคาสินค้าหมวดอาหาร เพราะถือว่าเป็นปัญหาระดับสากล เพราะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเครื่องชี้ของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะปรับตัวดีขึ้น แต่ ธปท.กำลังติดตาม 2-3 ปัจจัย คือ 1.การไหลเข้าออกของเงินทุนที่มีความผันผวนมาก 2.ปัจจัยการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 3.ดัชนีการอุปโภคบริโภคบริโภคในเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างชะลอตัวลง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีที่ผ่านมาขยับสูงขึ้นมากแล้ว จึงต้องติดตามต่อเนื่องอีก 2-3 เดือน รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาท จะกระทบอัตราเงินเฟ้อไม่มาก โดยหากค่าเงินบาทที่อ่อนลงร้อยละ 1 จะกระทบด้านราคาสินค้าร้อยละ 0.15

ดังนั้น ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วงต่อไป จะนำเรื่องการชะลอตัวการบริโภค และปัจจัยการเมืองมาประกอบการพิจารณา โดย ธปท.จะควบคุมอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบของ ธปท. และจะดูแลนโยบายการเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดูเสถียรภาพโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการรักษาเสถียรภาพด้านการคลัง มองว่าการขาดดุลงบประมาณใน2555 ทำงบขาดดุล 350,000 ล้านบาท นับว่าสูงเกินไป เพราะเศรษฐกิจในปี 55 ยังเติบโตได้จึงควรลดตัวเลขการขาดดุลงบประมาณลงได้อีก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook