รู้จัก ใบไม้ต้านโรค สมุนไพรชั้นยอดที่ไม่ใช่แค่ "ดับคาว" เมืองนอกขายแพงกิโลละหลายพัน

รู้จัก ใบไม้ต้านโรค สมุนไพรชั้นยอดที่ไม่ใช่แค่ "ดับคาว" แต่มีวิจัยพบว่าช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง เมืองนอกขายแพงกิโลละหลายพัน
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “ใบกระวาน” ในเมนูอาหารอย่างข้าวหมกไก่หรือแกงมัสมั่น รู้ไหมว่าใบหอมๆ นี้ ไม่ได้มีดีแค่ช่วยดับคาว แต่ยังอัดแน่นด้วยสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ทั้งยังเป็นสมุนไพรที่ต่างประเทศให้ความนิยมสูง ราคาขายพุ่งแตะกิโลกรัมละหลายพันบาท!
ใบกระวานคืออะไร?
แม้จะชื่อ “กระวาน” แต่ความจริงแล้วใบกระวานไม่ได้มาจากต้นกระวานในวงศ์ขิงข่าอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นใบของพืชที่เรียกว่า Bay Laurel (ชื่อวิทยาศาสตร์: Laurus nobilis) พืชจากแถบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีใบเดี่ยวรูปหอก กลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารทั่วโลก
ใบกระวานชนิดไหนใช้กันบ้าง?
ปัจจุบันมีพืชอย่างน้อย 6 ชนิดทั่วโลกที่ใช้ใบเป็นเครื่องเทศในชื่อ “Bay Leaf หรือ ใบกระวาน” เช่น
-
Bay Laurel (Laurus nobilis) – ชนิดนิยมที่สุดจากยุโรป
-
California Bay Leaf – กลิ่นแรงกว่าแบบยุโรป
-
Indian Bay Leaf (ต้นแกง) – มีกลิ่นคล้ายอบเชย
-
Indonesian Bay Leaf (ต้นสมัก) – พบในไทยตอนใต้ ใช้คู่กับอาหารอินโด
-
West Indian Bay Leaf – ใช้ในอาหารและอุตสาหกรรมน้ำหอม
-
Mexican Bay Leaf – นิยมในอาหารละติน
ใบกระวานแห้ง
สรรพคุณของใบกระวาน
ใบกระวานมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามิน A, C, B6, แคลเซียม, สังกะสี, แมกนีเซียม และเบต้าแคโรทีน อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและน้ำมันหอมระเหยที่ดีต่อสุขภาพ
สรรพคุณเด่น ได้แก่:
-
ช่วยดับกลิ่นคาว ของเนื้อสัตว์ในอาหาร
-
ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง : งานวิจัยพบว่าใบกระวานสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับในสัตว์ทดลอง
-
ควบคุมน้ำตาลในเลือด : ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและความเครียดจากออกซิเดชัน
-
บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน : ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร ลดอาการแน่นท้อง
-
ต้านการอักเสบ-เชื้อแบคทีเรีย : ดีต่อผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ เกาต์
-
เสริมภูมิคุ้มกัน : ด้วยวิตามินหลากชนิดที่มีอยู่ในใบ
ใบกระวาน ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
นอกจากใส่ในอาหารไทยอย่างข้าวหมก แกงมัสมั่น ใบกระวานยังเป็นเครื่องเทศหลักในอาหารอินเดีย ฝรั่งเศส อิตาลี นิยมใช้ปรุงน้ำสต็อก ซุป ซอส สตู นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มค็อกเทลอย่าง Bloody Mary อีกด้วย
ใบแห้งจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าใบสด นิยมเก็บใบจากต้นที่มีอายุเกิน 2 ปี และต้องตากในที่ร่มเท่านั้น เพื่อรักษากลิ่นและคุณภาพ