ศอฉ.พร้อมรับผิดชอบกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการปฏิบัติการ

ศอฉ.พร้อมรับผิดชอบกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการปฏิบัติการ

ศอฉ.พร้อมรับผิดชอบกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการปฏิบัติการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศอฉ.ซักซ้อมแผนปฏิบัติยึดหลักสากล 7 ขั้นตอน ยอมรับจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่พกพาอาวุธเพื่อป้องกันตัว ย้ำผู้บังคับบัญชาพร้อมรับผิดชอบ ชี้จำนวนผู้ชุมนุมไม่มากถึงขั้นต้องขยายไปสีลมแต่เป็นข้ออ้างของแกนนำ จี้อย่าเอาเปรียบผู้หญิง เด็ก คนแก่ ใช้เป็นโล่กำบัง ท้าถ้าบริสุทธิ์ใจจริงต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกลุ่มก่อการร้ายหลัง เวที

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงถึงผลการประชุม ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ.เป็นประธาน และการประชุมในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารระดับผู้บังคับกองพัน ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผอ. ศอฉ. เป็นประธาน ว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดการปฏิบัติ โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.ต้องเผชิญการกดดันของผู้ชุมนุม ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการใช้มาตรการรุนแรง ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้กำชับให้ใช้มาตรการตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน เหมือนเดิม โดยใช้มาตรการแต่ละขั้นตามความเหมาะสม และต้องสมควรแก่เหตุและผล โดยต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้มุ่งหมายทำร้ายเอาชีวิต

"ศอฉ.จะว่าไปตามนี้ แต่ถ้ามุ่งหมายเอาชีวิตกัน เจ้าหน้าที่มีสิทธิใช้อาวุธป้องกันตัวเอง เพราะที่ผ่านมา ไม้เหลาแหลมที่แทงเข้าไปที่คอเจ้าหน้าที่ทหาร หรืออิฐตัวหนอนที่ขว้างโดนศีรษะเจ้าหน้าที่ทหารจนสมองบวม ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลขณะนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ทั้งสิ้น ศอฉ.อยากฝากไปถึงแกนนำว่า โปรดอย่าได้เอาเปรียบผู้หญิง คนชรา และเด็ก นำมาเป็นโล่ข้างหน้า เวลาที่ท่านเคลื่อนที่มากดดันเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นเรื่องที่น่าละอาย" โฆษก ศอฉ. กล่าว

พ.อ.สรรเสริญ ชี้แจงเหตุผลที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ประจำบนอาคารสูง ว่า เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนร้ายถืออาวุธสงครามปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลอาคารสูง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มที่มีอาวุธสงครามร้ายแรงใช้พื้นที่สูงเหล่านั้นทำ ร้ายประชาชน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าของอาคารต่าง ๆ มีเพียงบางแห่งที่ไม่พยายามจะเข้าใจ และไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล แต่สุดท้ายก็ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ หากกลุ่มผู้ชุมนุมส่งการ์ดขึ้นไปประกบ จะต้องถูกจับกุม เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกรณีที่จะขยายพื้นที่ชุมนุมเข้าไปในย่านสีลม เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ชุมนุมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น เหตุผลการขยายพื้นที่เป็นเพียงข้ออ้างของแกนนำเท่านั้น

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ที่ประชุมมีการซักถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อสีต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร จึงขอยืนยันว่า ศอฉ.ไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือแก้ตัวแทนใคร แต่การชุมนุมที่ผิดกฎหมายจะต้องเข้าหลัก 4 ประการ คือ 1.กีดขวางการจราจรจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่หากจะอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร ก็เพียงพอที่จะอะลุ้มอล่วย 2.ขัดขวางการปฏิบัติของส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ ไม่ให้เข้าออกอาคารได้ 3.มีการประทุษร้าย และ 4.การขัดคำสั่งและขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

"ถ้าวันนี้มัวแต่นั่งนึกว่าฉันทำผิดแล้วคนอื่นทำอย่างฉันจะผิดบ้างหรือไม่ ประเทศชาติก็ไม่จบ หรือคิดว่าสมัยก่อนคนนั้นทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ อย่าไปคิดแบบนี้ แต่ต้องคิดว่าวันนี้จะเริ่มต้นกันใหม่ โดยทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีประสงค์จะชุมนุมในพื้นที่เสียหายต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ประสงค์จะไปสีลม เพิ่มเติมจากที่ทำร้ายอยู่ทุกวันนี้ แต่เป็นเพราะความต้องการของแกนนำ หากไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แล้วใครไปสลายการชุมนุม ผมจะขอลาออกเลย" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

ส่วนกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจะเคลื่อนไหว หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ภายใน 7 วัน นั้น โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ศอฉ.ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามสิ่งที่ใครสั่งหรือบอก เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องดูความเหมาะสมของช่วงเวลาที่จะดำเนินการให้ ประเทศเกิดความสงบสุขโดยเร็วที่สุด แต่อย่าลืมว่ามีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในผู้ชุมนุม ดังนั้น การดำเนินงานต้องรอบคอบ และเตรียมการทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เมื่อทำแล้วไม่เกิดผลเสียหาย และไม่เกิดความสูญเสีย แต่หากสูญเสียก็จะให้น้อยที่สุด และสังคมยอมรับได้

เมื่อถามถึงเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติพกพาอาวุธได้ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธป้องกันตัวเอง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เจ้าหน้าที่ต้องแลกด้วยชีวิตและประชาชนต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อให้สังคมเห็นว่า ทหารไม่ประสงค์ใช้ความรุนแรง และพยายามโอนอ่อน ไม่มีอาวุธป้องกันตัวเอง แต่สุดท้ายเกิดผลเสียหายเช่นนี้ ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาพร้อมจะรับผิดชอบกรณีให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธ ส่วนอาวุธที่ผู้ชุมนุมยึดไป จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคืนตามที่แกนนำกล่าวอ้าง ซึ่งอาวุธที่ถูกยึดไปนั้น รวมทั้งสิ้น 68 ชิ้น

"วันนี้ ผู้บัญชาการกองพลที่รับผิดชอบพื้นที่โซน ได้รายงานที่ประชุมว่า ได้นำกำลังเข้าไปร่วมกับตำรวจ เพื่อตั้งจุดตรวจสกัดกั้นการทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราได้เตรียมพร้อมป้องกันการก่อการร้ายที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะกลุ่มเหล่านี้ยังอยู่ในพื้นที่การชุมนุม ดังนั้น อยากให้ผู้ชุมนุมแสดงความบริสุทธิ์ใจให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบริเวณหลังเวที ส่วนผู้ประกอบการได้ส่งสัญญาณมาทุกวันให้ ศอฉ.คลี่คลายสถานการณ์ ทำให้เรารู้สึกกดดัน" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook