ประวัติ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีต รมว.คมนาคม น้องชายเนวิน โสดและรวยมาก

ประวัติ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีต รมว.คมนาคม น้องชายเนวิน โสดและรวยมาก

ประวัติ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีต รมว.คมนาคม น้องชายเนวิน โสดและรวยมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำความรู้จักประวัติ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีต รมว.คมนาคม น้องชายเนวิน-เพิ่มพูน ชิดชอบ แห่งบ้านใหญ่บุรีรัมย์

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ชื่อเล่น โอ๋ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 อายุ 61 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย อดีตประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นบุตรของนายชัย ชิดชอบ และนางละออง ชิดชอบ เป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ และ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในปัจจุบัน

นายศักดิ์สยาม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เคยรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี 

ก่อนที่ พ.ศ. 2550 จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในปี พ.ศ. 2555 หลังพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมือง นายศักดิ์สยามได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 15 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป แต่การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ

ก่อนที่ปี พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เปิดบัญชีทรัพย์สิน

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66

โดย นายศักดิ์สยาม แจ้งสถานะโสด มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 110,236,673 บาท ไม่มีหนี้สิน แบ่งเป็นเงินฝาก 69,488,973 บาท ที่ดิน 19 แปลง มูลค่า 34,248,450 บาท ยานพาหนะ ประกอบด้วย รถยนต์ TOYOTA Fortuner และรถยนต์ Volkswagen มูลค่ารวม 2,100,000 บาท

นอกจากนั้น ยังมีการระบุว่ามีสิทธิและสัมปทานมูลค่า 240,000 บาท โดยเป็นสัญญาเช่าบ้าน ที่ จ.บุรีรัมย์ 120,000 บาท และสัญญาเช่าห้องชุดที่กรุงเทพ 120,000 บาท ส่วนทรัพย์สินอื่น (มูลค่าตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 4,399,250 บาท

ส่วนทรัพย์สินอื่นที่ นายศักดิ์สยาม ยื่นไว้ อาทิ พระเครื่องเลี่ยมทอง 1 องค์ มูลค่า 1,500,000 บาท งาช้าง 1 คู่ มูลค่า 1,400,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท 1 เส้น สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท 1 เส้น นาฬิกาโรเล็กซ์ 1 เรือน มูลค่า 200,000 บาท แหวนเพชร 1 วง มูลค่า 500,000 บาท และยังมีปืนลูกโม่ ขนาด.38 ยี่ห้อสมิธ 1 กระบอก ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม.ยี่ห้อล็อก 1 กระบอก และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม.ยี่ห้อซิกซาวเออร์ 1 กระบอก

นายศักดิ์สยาม ยังแจ้งอีกว่ามีรายได้ต่อปี 1,682,155 บาท โดยแบ่งเป็น ค่าตอบแทน ส.ส. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 1,379,545 บาท ดอกเบี้ยจากธนาคาร 302,610 บาท โดยมีรายจ่ายต่อปี 840,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 600,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 240,000 บาท

กรณีหุ้น หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกล่าวหาว่า นายศักดิ์สยาม ปกปิดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และในปี 2561 มีการโอนหุ้นให้นอมินีก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี เพียง 23 วัน และมีการนำ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตนเองเป็นรัฐมนตรี มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท 

ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นายศักดิ์สยาม ได้ชี้แจงทุกเรื่องที่ถูกกล่าวหากลางสภาผู้แทนราษฎร โดยในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นเรื่องถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลง

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคฝ่ายค้าน ได้ยื่นคําร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เป็นผลให้ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย

ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายปกรณ์วุฒิ แถลงเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม กล่าวหาว่า นายศักดิ์สยาม มีหนี้สินค้างกับห้างหุ้นส่วนในขณะที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่ได้เปิดเผยทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. อย่างถูกต้อง

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดี วันที่ 17 ม.ค. 2567 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากจากข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าหุ้นของห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ พนักงานห้างหุ้นดังกล่าวถืออยู่นั้น แท้จริงยังคงเป็นหุ้นของนายศักดิ์สยาม โดยศาลฯ คำสั่งให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook