กนง.ตรึงดอกเบี้ยอาร์พี
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    กนง.ตรึงดอกเบี้ยอาร์พี

    2010-03-11T08:05:20+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    รอแดงเดือดทบทวนอีกครั้ง

    นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติคงดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร ระยะ 1 วันหรืออาร์พีไว้ที่ 1.25% ติด ต่อกันเป็นครั้งที่ 7 เนื่องจากเห็นว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่สูง เช่น การว่างงานในสหรัฐที่ เพิ่มขึ้น และปัญหาหนี้ภาครัฐในบางประเทศ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

    ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเมือง และการชะลอการลงทุนโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยองมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเหตุการณ์กระทบเศรษฐกิจรุนแรงมีโอกาสสูงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์พีในการประชุม กนง. ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ และหากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นต้องดูสถานการณ์รอบด้านก่อนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

    ถ้าสถานการณ์การเมืองวันที่ 14 มี.ค.นี้ ไม่มีเหตุรุนแรงกระทบต่อเศรษฐกิจ กนง. จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยยอมรับว่าเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวเศรษฐกิจ และเชื่อว่าไม่ได้เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากราคาน้ำมันและอาหารสดที่สูงขึ้น และเห็นว่าปัญหาเรื่องภัยแล้งจะทำราคาผลผลิตสูง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก แต่เป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง ด้านการส่งออกขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเห็นว่ายังมีความเสี่ยง อยู่มาก ขณะที่สถาบันการเงินต่างประเทศทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์และปัญหาหนี้ของรัฐบาลในหลายประเทศยังไม่สะสาง ดังนั้นจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจบางประเทศ

    สำหรับกรณีที่บางประเทศ เช่น มาเลเซียปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์พีนั้น ไม่ได้ชี้ว่านโยบายการเงินจะเข้มงวด แต่ เป็นการลดการผ่อนคลายน้อยลง ซึ่งโดยภาพรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศถือว่าต่ำเป็นพิเศษ ส่วนในด้านเงินทุนไหลออกนั้น ไม่กังวล เพราะได้ติดตามใกล้ชิดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การคงดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้ไม่ได้ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ กนง. ดูปัจจัยพื้นฐานรอบด้านความเสี่ยง ด้านเศรษฐกิจ จีดีพี เสถียรภาพราคาและความเสี่ยงต่อการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และยืนยันว่า กนง. ให้ความสำคัญด้านเสถียรภาพราคาเป็นอันดับแรก

    ด้าน นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ว่า ถ้าใช้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำนานเกินไปจะมีผลข้างเคียง ซึ่งควรจะปรับอัตราดอกเบี้ย นโยบายกลับสู่ภาวะปกติตามเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 52 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โลก ที่ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยว ขยายตัวดีขึ้น

    ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ปีกลาย การกระตุ้นเศรษฐกิจมีการใช้นิดเดียว แต่เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะโลกฟื้น ท่องเที่ยวกลับมา ดังนั้นถือว่าปกติแล้ว นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในระดับต่ำไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะคนเริ่มชิน ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยแม้จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่ในแง่ของผู้ฝากเงินจะมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นในอัตรามากน้อยเพียงใดต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ และระดับเงินออม

    นายมงคล ลีลาธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และ กนง. ยังคงดอกเบี้ยอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากสภาพคล่องของสถาบันการเงินไทยยัง อยู่ในระดับสูง ยังมีความผันผวน โดยเฉพาะอาจเกิดวิกฤติรอบใหม่ที่ประเทศโซนยุโรปด้วย ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน.