ศาลฎีกายกฟ้องกองสลากฯ ไม่ต้องจ่าย 2.5 พันล้านให้จาโก้

ศาลฎีกายกฟ้องกองสลากฯ ไม่ต้องจ่าย 2.5 พันล้านให้จาโก้

ศาลฎีกายกฟ้องกองสลากฯ ไม่ต้องจ่าย 2.5 พันล้านให้จาโก้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลฎีกายกฟ้องกองสลากฯ ไม่ต้องจ่าย 2.5 พันล้าน ให้บริษัท จาโก้ คดีหวยออนไลน์ ระบุสัญญาไม่ผ่านความเห็นชอบ ครม. ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน อัยการระบุคดีนี้จบแล้ว

ห้องพิจารณาคดีศาลฎีกา สนามหลวง เวลา 13.30 น. วันนี้ (24 ก.พ.) ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท จาโก้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิจำหน่ายสลากการกุศล หรือสลากอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้คัดค้าน ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 เนื่องจากกระทำผิดสัญญา สำหรับคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ โดยชดใช้ค่าเสียให้บริษัทจาโก้ฯ จำนวน 2,508,593,718 บาท แต่สำนักงานสลากฯ ยื่นอุทธรณ์-ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาหารือแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสัญญาที่สำนักงานสลากฯ แต่งตั้ง บริษัท จาโก้ ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสลากการกุศลอัตโนมัตินั้น ขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (ร่วมทุน) หรือไม่ เห็นว่าเจตนาของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ระบุว่าเนื่องจากการให้สัมปทานและสิทธิกับเอกชนในการลงทุนกับรัฐส่วนใหญ่ให้ เป็นไปตามอำนาจของหน่วยงานเดียว หรือรัฐมนตรีว่าการที่ควบคุมหน่วยงานนั้น มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ดังนั้นเพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติการร่วมงานระหว่างรัฐและเอกชนที่มีมูลค่า หรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป จะต้องกระทำภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน

สรุปได้ว่ากิจการหรือโครงการใดที่อยู่ใต้บังคับ พ.ร.บ.ร่วมทุน จะต้องมีมูลค่าหรือทรัพย์สินของโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมา ว่าโครงการดังกล่าวเป็นกิจการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ เห็นว่าแม้กองสลากฯ จะมีวัตถุประสงค์ในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก แต่การที่กองสลากฯ ให้คำสัญญาจำหน่ายสลากการกุศลโดยอัตโนมัติ กับบริษัทจาโก้นั้น มีลักษณะเป็นงานเกี่ยวเนื่องกันที่จะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่กองสลากฯ ดังนั้นกิจการดังกล่าวจึงเป็นกิจการของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ร่วมทุน และการที่กองสลากฯ ตั้งบริษัทจาโก้ เป็นผู้แทนกองสลากฯ เพื่อประโยชน์ในการออกสลากการกุศลแทนกองสลากฯ จึงเป็นการให้บริษัท จาโก้ เข้ามาร่วมการงานกับกองสลากฯ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ

มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมาว่า กิจการที่กองสลากฯ ทำสัญญากับบริษัท จาโก้ฯ ดำเนินการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของโครงการ โดยสัญญานี้ระบุให้บริษัทจาโก้ จัดหาเครื่องจำหน่ายสลากจำนวน 5,000 เครื่อง และให้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบหลัก ระบบรอง และการเชื่อมโยงให้ครบถ้วนเรียบร้อย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และค่าบริหารโครงการจะไม่ได้ ระบุจำนวนที่แน่นอนไว้ในสัญญา แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจาโก้ เคยให้ข้อมูลกับทีดีอาร์ไอ ที่รับผิดชอบในการสำรวจความเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรกมีมูลค่า 1,600 ล้านบาท ส่วนค่าดำเนินการอื่น ๆ ทั้งค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าศูนย์โครงการและจัดการระบบคอมพิวเตอร์ วงเงินปีละ 400 ล้านบาท ซึ่งมีสัญญาผูกพันต้องดำเนินการ 10 ปี

นอกจากนี้ บริษัทจาโก้ยังเคยเข้าชี้แจงต่อกฤษฎีกาถึงงบดุลในการลงทุนครั้งแรก ว่ามี 1.7 พันล้านบาท จึงเป็นการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท และภายหลังบริษัทจาโก้เคยให้การชี้แจงมูลค่าโครงการใหม่ เหลือเพียง 980 ล้านบาทเศษนั้น บริษัทจาโก้ ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวภายหลังที่ได้เกิดข้อพิพาทการพิจารณาวงเงินการลงทุน ในโครงการว่าเกิน 1,000 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาการไม่เปิดเผยตัวเลขลงทุนที่แท้จริง มีพิรุธลักษณะบ่ายเบี่ยงว่าโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท พยานหลักฐานจึงน่าเชื่อว่าข้อมูลที่ บริษัทจาโก้ ให้กับทีดีอาร์ไอ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะชี้แจงข้อมูล ขณะที่ยังไม่เกิดข้อพิพาท จึงฟังได้ว่าสัญญาตั้งผู้แทนจำหน่ายสลากการกุศลอัตโนมัติระหว่างกองสลากฯ กับบริษัทจาโก้มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เข้าเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน

ศาลฎีกาเห็นว่ากองสลากฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้ทำสัญญาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.กองสลากฯ เพราะเกี่ยวเนื่องเป็นประโยชน์กับกองสลากฯ และโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อคู่สัญญายังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติหลักเกณฑ์ ตลอดจนวิธีดำเนินการโครงการ สัญญาดังกล่าวจึงทำขึ้นโดยมิชอบ ขัด พ.ร.บ.ร่วมทุน จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับ ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้คัดค้านทำให้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโต ตุลาการไม่มีผลบังคับใช้ การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรค 1 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ที่ศาลจะมีอำนาจไม่รับตามบังคับชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

ที่ศาลชั้นต้นรับบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้กองสลากฯ จ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการพิพากษารับบังคับโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน มีวัตถุประสงค์ให้การอนุมัติเงินลงทุนไม่ตกอยู่ในอำนาจของบุคคลเดียว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของกองสลากฯ ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้ยกคำร้อง

นายสุรัตน์ ศรีวิพัฒน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา 1 กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการแล้ว หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา บริษัทจาโก้ ไม่มีสิทธิ์แย้ง ส่วนคำพิพากษาในคดีนี้เป็นบรรทัดฐานที่จะมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับ บริษัท ล็อกซเล่ย์ ที่มีข้อพิพาทอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้ทำคดีดังกล่าว และไม่เห็นสัญญาว่าโครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีหรือไม่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook