น้ำตาลวิกฤติราคาพุ่ง 25 บาท

น้ำตาลวิกฤติราคาพุ่ง 25 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ค้าปลีกคุมโควตากลัวขาดแคลน พาณิชย์ร้องทหารกันกองทัพมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสำรวจสถานการณ์ซื้อขายปลีกน้ำตาลทรายขาวในเขตกรุง เทพฯ พบว่าประสบปัญหาปริมาณตึงตัว และมีราคาขายปลีกสูงกว่าเพดานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 23.50 บาท โดยในร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เกต ย่านนนทบุรีและราชดำริพบว่าได้จำกัดปริมาณซื้อ 12 ถุงต่อ 1 ครอบครัว ขณะที่บางสาขาไม่เหลือน้ำตาลทรายขาวบรรจุถุงวางขายตามชั้นเลย เหลือเพียงน้ำตาลทรายสีธรรมชาติและน้ำตาลทรายชนิดพิเศษเท่านั้น เมื่อสอบถามพนักงานได้รับการชี้แจงว่า ช่วงนี้น้ำตาลทรายในสต๊อกเหลือน้อย จึงจำกัดปริมาณซื้อเพื่อกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคให้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อกักตุน หรือนำไปขายทำกำไรต่อ

ขณะที่การสำรวจร้านขายปลีกรายย่อย และร้านโชห่วยแม้ว่ามีน้ำตาลทรายขาววางจำหน่าย แต่ส่วนใหญ่ขาย กก.ละ 25 บาท เกินกว่าเพดานกำหนด เนืากต้นทุนที่รับมาจากร้านซาปั๊วเพิ่มสูงถึง กก.ละเกือบ 24 บาท จึงต้องบวกกำไรเพิ่มอีกเล็กน้อย อีกทั้งยังได้สั่งจำนวนจำกัด เพราะหากไม่นำมาขายเลยถูกลูกค้าบ่นกันมาก ส่วนตัวแทนร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊วชี้แจงว่าต้นทุนเพิ่มสูงตั้งแต่หน้าโรงงานทำให้ราคาขายส่งเพิ่มขึ้น โดยราคาขายส่งตอนนี้ตกกระสอบ 25 กก. อยู่ที่ 600 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 24 บาท และปัจจุบันยัง สั่งของได้ไม่มากเหมือนก่อน หากเมื่อก่อนซื้อ 20 กระสอบก็จะได้เลย แต่ตอนนี้ได้ของแค่ 5 กระสอบเท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการซื้อตั๋วล่วงหน้าด้วย ไม่ได้สั่งซื้อแล้วจะได้ของทันที

ทั้งนี้ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แม้ที่ผ่านมารัฐสำรวจตามร้านค้าปลีกค้าส่ง และไม่พบสถานการณ์ผิดปกติหรือขาดแคลน แต่ในวงการค้าขายน้ำตาลทรายยังประสบปัญหาน้ำตาลตึงตัว และราคาสูงเกิดขึ้นจริงอยู่ โดยนับตั้งแต่ที่าน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกสูงกว่าราคาภายในประเทศ ก็ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก ที่ใช้ในประเทศไปขาย และถูกแย่งซื้อจากภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่าสัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดจะร่วมกันออกตรวจปริมาณการใช้น้ำตาลของกลุ่มผู้ใช้ตามโควตา ค หรือผู้ซื้อน้ำตาลตาม ที่ได้จัดสรรให้ในราคาตลาดโลกเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าและส่งออก โดยจะเน้นตรวจใน อุตสาหกรรมที่ไม่ยอมใช้น้ำตาลตามที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว แต่มาซื้อน้ำตาลในประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่า ส่งผลให้สถานการณ์ปริมาณน้ำ ตาลภายในตึงตัว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook