ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน

ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน

ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียล หลังมีรายงานการจัดตั้ง “ครม.เศรษฐา 1” และมีชื่อของ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” ติดอยู่ในโผ ได้คุมกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตเป็นวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของตำแหน่งหน้าที่และความเชี่ยวชาญ ไปจนถึงเรื่องของการรักษาอำนาจของตระกูลชิดชอบ

อย่างไรก็ตาม การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ได้มาจากสายตรงครุศาสตร์ หรือมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ในคณะรัฐบาลของไทยอยู่แล้ว เพราะหากเราลองย้อนกลับไปดูรายชื่อของรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเสมา ก็จะพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ได้นั่งเก้าอี้ รมว.ศธ. ล้วนแล้วแต่มาจากสายอาชีพและมีความเชี่ยวชาญด้านอื่นทั้งสิ้น 

Sanook พาทุกคนย้อนดูรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี “ทหาร” นั่งคุมไปแล้ว 13 คน

กระทรวงศึกษาธิการของไทย

กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อเดิมคือ “กระทรวงธรรมการ” ทำหน้าที่ดูแลศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “กระทรวงศึกษาธิการ” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา

เมื่อย้อนกลับไปดูรายชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย (เริ่มตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) มีจำนวนรัฐมนตรีว่าการทั้งสิ้น 57 คน ดังต่อไปนี้ 

 

  • เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) - ครู 

จบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรก และได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาต่อวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ ถือเป็นรัฐมนตรีที่วางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย และจัดให้มี “การศึกษาภาคบังคับ”​ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง 

  • พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) - ทหาร

ผู้นำทางทหารและนักการเมือง ผู้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยหลังจากทำรัฐประหารแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ พร้อมกับนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) 

  • ศาสตราจารย์ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้อ จารุวัสตร์)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในรัฐบาลสมัยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน 

  • นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) - ทหาร

อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ แม่ทัพเรือ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎร (หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ) ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรก หลังจากเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคนแรกที่บัญญัติศัพท์คำว่า “เรือดำน้ำ” ขึ้นมาในภาษาไทย โดยเรียกตามลักษณะการใช้งาน และเป็นผู้จัดหาเรือดำน้ำมาใช้ในกองทัพเรือ 

  • จอมพลหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) - ทหาร 

เดิมเป็นหัวหน้าสมาชิกคณะราษฎร สายทหารบก มีบทบาทในการหารเมืองตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม พ.ศ. 2585  

  • พลโทประยูร ภมรมนตรี  - ทหาร

หนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน เคยรับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่งรอมหุ้มแพร (เทียบเท่ายศร้อยโท) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลโทประยูรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ 

  • ทวี บุญยเกตุ - จบเกษตรฯ 

จบการศึกษาวิชากสิกรรม จากประเทศฝรั่งเศส และรับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ เป็นหนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งครุสภา และแต่งหนังสือเรื่องพ่อสอนลูก ก่อนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ของประเทศ​ แต่เป็นนายกฯ ที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 18 วัน ต่อมาได้เป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย 

  • พระตีรณสารวิศวกรรม (ตี๋ ศรีสุข) - วิศวกรรม

จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ (เครื่องกล) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลของพันตรีควง อภัยวงศ์

  • ศาสตราจารย์เดือน บุคนาค - นิติศาสตร์

จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายกระทรวงในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลายคน ทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเวลาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

  • นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) - วารสารศาสตร์ 

นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย จบการศึกษาจาก School of Journalism จากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับเพื่อนักเขียนและผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 

  • ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช - นิติศาสตร์ 

จบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ ที่ิวิทยาลัยวอร์สเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 8 เมษายน พ.ศ. 2591 

  • พลเอกมังกร พรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) - ทหาร

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกองบัญชาการทหารสูงสุด และรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ปี พ.ศ. 2481 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  

  • พลโทสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ - ทหาร

เคยรับราชการในกองทัพบก ได้ร่วมกับนายทหารคนอื่น ๆ ทำการรัฐประหารและบังคับให้ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ​ และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะถูกปรับเป็นรองนายกรัฐมนตรี

  • เลียง ไชยกาล - ครูและนิติศาสตร์

ได้รับประกาศนียบัตรประโยคประถม จากโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ และจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะจัดตั้งพรรคประชาชนขึ้น และขึ้นรับหน้าที่หัวหน้าพรรค 

  • พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ - ทหาร/วิศวกรรม

จบการศึกษาด้านวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการที่กองทัพบกไทย พร้อมรับพระราชทานยศร้อยตรี สังกัดกรมอากาศยานทหารบก โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวง และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2500) ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

  • ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล - อักษรศาสตร์

จบการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ถือเป็นบุคคลสำคัญของโลกและของประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปี ทั้งยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และประธานเตรียมจัดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

  • ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ - วิศวกรรม 

ปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

  • อภัย จันทวิมล - นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ระดับปริญาโท ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมคณะลูกเสือแห่งชาติ

  • เกรียง กีรติกร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกรมวิชาการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นการขยายให้การศึกษาภาคบังคับไปสู่ภูมิภาค และเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาการศึกษาในหลายด้าน จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น "เสาเอกแห่งการประถมศึกษาไทย"

  • ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ - ครู

จบปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา และปริญญาเอกสาขาประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีก 4 คณะรัฐมนตรี 

  • ศาสตรจารย์นิพนธ์ ศศิธร - นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทสาขาความสัมพันธระหว่างประเทศ จากโรงเรียนการทูตเฟลทเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ และสาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา และปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคธรรมสังคม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 

  • ประชุม รัตนเพียร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนิพันธ์ ศศิธร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลที่มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 12 วันก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเกิดรัฐประหาร

  • พลตรีศิริ สิริโยธิน - ทหาร

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งอีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหาร

  • ภิญโญ สาธร - ครู

จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นรับราชการเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเกิดรัฐประหาร

  • นายแพทย์บุญสม มาร์ติน - แพทยศาสตร์ 

จบการศึกษาปริญญามหาบัณฑิตทางสาธารณสุขศาสตร์และโรคเมืองร้อน จากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของการพลศึกษาแผนใหม่ของไทย” 

  • ศาสตราจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต - ฟิสิกส์

ได้ทุนรัฐบาล (คุรุสภา) ไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ เป็นเวลา 9 ปี ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอก ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 

  • ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ - รัฐศาสตร์

สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอก สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้หนึ่งที่สนใจและมีบทบาทต่อวิชาชีพสื่อมวลชนไทย และเป็นคณบดีคนแรกของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

  • ชวน หลีกภัย - นิติศาสตร์

จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานเป็นทนายความ และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข 

  • มารุต บุนนาค - นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2529 - 19 พฤษภาคม 2531 

  • พลเอกมานะ รัตนโกเศศ - ทหาร

สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายร้อยเทคนิค จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 3 สมัย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 

  • พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ - ทหาร 

สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก รุ่นที่ 5 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 16 เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับพลเอก มานะ รัตนโกเศศ ก่อตั้งพรรคราษฎร ต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

  • พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ - ทหาร

สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนการบิน ของกองทัพอากาศ และเข้ารับราชการเป็นครูการบิน ที่โรงเรียนการบิน ก่อนลาออกจากราชการ เคยได้ดำรงตำแหน่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร 

  • สัมพันธ์ ทองสมัคร 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระดับปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดสร้างวัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • สุขวิช รังสิตพล 

เป็นผู้ดำเนินการแผนปฏิรูปการศึกษาไทยในปีพ.ศ. 2538 และเคยได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 

  • ชิงชัย มงคงธรรม - ครู

 จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเอกลักษณ์ประจำที่เป็นที่รู้จักดี คือชอบเป่าแคน จากการเคยรับราชการเป็นครูมาก่อน จึงได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

  • ชุมพล ศิลปอาชา - นิติศาสตร์

เป็นน้องชายของบรรหาร ศิลปอาชา สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • ปัญจะ เกสรทอง 

 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ 11 สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาเพชรบูรณ์

  • สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล - รัฐศาสตร์ 

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย - แพทยศาสตร์

ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะขอลาออก หลังจากรับตำแหน่งเพียง 3 เดือน จากนั้นได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ทั้งนี้ ยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง 

  • ทักษิณ ชินวัตร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของตนเอง ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน - 8 พฤศจิกายน 2544

  • สุวิทย์ คุณกิตติ - เคมี

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางเคมี และต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

  • ปองพล อดิเรกสาร 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยลีไฮ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่าง พ.ศ. 2545-2546

  • ดร.อดิศัย โพธารามิก - วิศวกรรม

 จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาเอก สาขาวิศกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  

  • จาตุรนต์ ฉายแสง - เศรษฐศาสตร์

เคยเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

  • ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน - ครู

เป็นนักการศึกษาชาวไทย ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และที่ปรึกษาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ – 9 กันยายน พ.ศ. 2551 

  • ศรีเมือง เจริญศิริ

 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

  • จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - รัฐศาสตร์

สำเร็จปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

  • ชินวรณ์ บุณยเกียรติ 

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

  • วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 - 18 มกราคม พ.ศ. 2555 

  • ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช - เศรษฐศาสตร์

จบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 

  • พงศ์เทพ เทพกาญจนา - นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท Master of Comparative Law จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

  • พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย - ทหาร

จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 13 และโรงเรียนนายเรือ รุ่นที่ 70 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2557 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

  • พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ - ทหาร

จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 (ตท.12 - รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2558 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนสุดท้ายที่เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

  • นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ - แพทยศาสตร์

เคยเป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเป็นคนไทยที่เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนสัตยาไส ร่วมกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2559 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

  • ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ - การตลาด

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท สาขาการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2556–2557 เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

  • ตรีนุช เทียนทอง - การเงินการลงทุน 

สำเร็จการศึกษาสาขาการเงินการลงทุน จาก Western Illinois University สหรัฐอเมริกา ทั้งระดับปริญญาตรีและโท ใน พ.ศ. 2561 ตรีนุชได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นนักการเมืองสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook