วิกฤต “ผู้สูงอายุไทย” กว่า 40% แทบไร้เงินออม

วิกฤต “ผู้สูงอายุไทย” กว่า 40% แทบไร้เงินออม

วิกฤต “ผู้สูงอายุไทย” กว่า 40% แทบไร้เงินออม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ด้วยจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 12,698,362 คน
  • ผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย เป็น “ผู้มีรายได้น้อย” หรือเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้สูงอายุไทย มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท
  • ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 มีแหล่งรายได้หลักจาก “ลูกหลานหรือญาติ” รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงาน 
  • ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 51.37 ยังมีรายจ่ายเพื่อดูแลบุตรหลานหรือญาติ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 52.88 ที่ยังคงมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้สิน 

นับตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ด้วยจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 12,698,362 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565) และในปี 2573 ประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น

ในขณะที่ประชากรไทยเริ่มสูงวัยในอัตราที่รวดเร็ว การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงวัยของไทยกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า ผู้สูงอายุไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากมากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ หรือสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างรุนแรง Sanook พาทุกคนไปสำรวจโลกของผู้สูงอายุ ร่วมด้วยช่วยกันคิดหาทางออก เพื่อสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และไม่ทำร้ายคนรุ่นใหม่ของประเทศ

1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยเป็น “คนจน”

ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุของไทย ในปี 2557 พบว่า ผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย เป็น “ผู้มีรายได้น้อย” หรือเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้สูงอายุไทย มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และประชาชนวัยทำงานมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น 

สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย” โดย รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์ และคณะ ที่พบว่าปัญหาสำคัญของการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุไทย คือ “การออมที่ไม่เพียงพอ” ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 47.95 และมากกว่าร้อยละ 40.06 มีรายได้หรือทรัพย์สินไม่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณ

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 มีแหล่งรายได้หลักจาก “ลูกหลานหรือญาติ” รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงาน ขณะที่ร้อยละ 4.4 มีรายได้จากเงินบำนาญ และร้อยละ 2.9 เป็นเงินที่มาจากเงินออมและทรัพย์สิน

AFP

สถานการณ์การเงินของผู้สูงอายุไทย

ผลการวิจัยของภาควิชาธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 55 - 59 ปีที่อยู่คนเดียว หรือ “สูงวัยไร้ญาติ” ใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5,679 บาท (ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล) ขณะที่กลุ่ม “สูงวัยเต็มตัว” หรืออายุ 60 - 64 ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 4,374 บาท

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเรื่อง “การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย” พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 54.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 5,000 บาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มากจากการทำาชีพอิสระ คือการเกษตร และรองลงมาคือมีรายได้จากบุตรกลายหรือญาติพี่น้อง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 51.37 ยังมีรายจ่ายเพื่อดูแลบุตรหลานหรือญาติ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 52.88 ที่ยังคงมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้สิน 

ผู้สูงอายุกับความจนหลายมิติ

จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่าปัญหาความยากจนของไทยมีแนวโน้ม “ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 สัดส่วนคนจนในประเทศจากเส้นความยากจน (2,803 บาทต่อคนต่อเดือน) อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 7.8 ในปี 2560 

อย่างไรก็ตาม ความยากจนไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังมีมิติและปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวจ้องและส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนเช่นกัน ซึ่งสภาพัฒน์ได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมและจัดทำ “ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index หรือ MPI)” ประกอบด้วยมิติด้านการศึกษา, มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ, มิติด้านความเป็นอยู่, และมิติความมั่นคงทางการเงิน 

AFP

ผลการศึกษาพบว่า คนไทยที่เป็นคนจนหลายมิติมีสัดส่วนสูงกว่าสัดส่วนคนจนที่วัดมิติด้านตัวเงินเท่านั้น “เกือบ 2 เท่า” และในจำนวนคนจนหลายมิติทั้งหมด มากกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนหลายมิติ ร้อยละ 18.1 ซึ่ง “สูงที่สุด” เมื่อเทียบกับประชากรวัยอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยยังมีความเปราะบาง มีความยากจนในมิติความเป็นอยู่ด้านอื่น ๆ มากกว่าประชากรวัยอื่นอย่างชัดเจน ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องตระหนักและปรับตัวเพื่อรับมือกับการเป็นสังคมสูงวัยอย่างเป็นระบบ 

สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ 

ประเทศไทยมี “เบี้ยยังชีพคนชรา” ซึ่งเป็นเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจ่ายให้กับผู้สูงอายุโดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ แต่ระบุเพียงว่า “จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว” (หรือต้องไม่เคยได้รับสิทธิ์จากหน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน) เท่านั้น ซึ่งเบี้ยยังชีพคนชรานี้ เริ่มขึ้นในปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566” วันที่ 11 สิงหาคม 2566 กลับมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ระบุว่า 

“ข้อ 4 เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ”

การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินในครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการใช้ “ระบบพิสูจน์ความจน” จากเดิมที่เป็นระบบขึ้นทะเบียนยืนยันสิทธิ โดยไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติสถานะทางเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook