สมคิด ปฏิเสธข้อหาฆ่านักธุรกิจซาอุฯ

สมคิด ปฏิเสธข้อหาฆ่านักธุรกิจซาอุฯ

สมคิด ปฏิเสธข้อหาฆ่านักธุรกิจซาอุฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อัยการสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด-ผกก.สภ.สบเมย-ผกก.สภ.น้ำขุ่น-2 ตำรวจนอกราชการ คดีร่วมอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ ยันหลักฐานสอบสวนแน่นหนามีแหวนนักธุรกิจซาอุเป็นหลักฐานใหม่ พร้อมส่งตัวฟ้องศาลอาญาทันที สมคิด ยืนกรานปฏิเสธข้อหา ศาลนัดตรวจหลักฐาน 29 มี.ค. เวลา 09.00 น. ทนายยื่นเงินสด 5 แสนขอประกันตัว ด้านอุปทูตซาอุฯ ระบุ เป็นข่าวดีและเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

(12ม.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5, พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี,และพ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ ผู้ต้องหาที่ 1-5 คดีร่วมกันฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ (Mr.Mohammad Al - Ruwaily) นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อปี 2533 เข้าพบนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สั่งคดี โดยนายธนพิชญ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ แจ้งให้ พล.ต.ท.สมคิด กับพวกซึ่งเป็นผู้ต้องหาทราบว่า คณะทำงานอัยการ พิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้นำ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน , พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มายื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1- 5 ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 , 289 , 309 และ 310

โดยคำฟ้องอัยการ ระบุฟ้องความผิดจำเลยทั้งห้า สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุ ฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์ กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ทำการปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะห์ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลของประเทศซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.32 เกิดเหตุคนร้ายลบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่บริเวณ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ได้แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูต อย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้น และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง

แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง ทำให้ นักการทูตของซาอุฯ เสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจ ดำเนินการติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ต่อมาระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.33 ต่อเนื่องกัน พล.ต.ท.สมคิด จำเลยที่ 1 ขณะนั้น มียศเป็น พ.ต.ท. ดำรงตำแหน่ง รอง ผกก. กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล , พ.ต.อ.สรรักษ์ จำเลยที่ 2 และ พ.ต.อ.ประภาส จำเลยที่ 3 มียศ ร.ต.อ. ดำรงตำแหน่ง รอง สว. ส่วน พ.ต.ท.สุรเดช จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ดำรงตำแหน่ง รอง สว. และ จ.ส.ต.ประสงค์ จำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ ดังกล่าว โดยจำเลยทั้งห้า กับพวก ร่วมกันลักพาตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เนื่องจากจำเลยทั้งห้า เข้าใจว่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย

โดยจำเลยทั้งห้าบังคับนำตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ ไปหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขื่นใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ ซึ่งจำเลยทั้งห้ามีเจตนาฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ มาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้น ในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา

นอกจากนี้จำเลยทั้งห้า ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยทำร้ายร่างกายนายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ โดยวิธีการต่างๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ จนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และได้ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือ ทำลายศพ โดยนำศพของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ ไปเผาทำลายภายในไร่ ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตาย หรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา , แขวงและเขต บางกะปิ , แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน

ต่อมาวันที่ 24 พ.ย.52 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งการสอบสวนรรวบรวมพยานหลักฐานพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วง เป็นของกลาง โดยชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายและสั่งให้คืนแหวน ของกลางให้กับทายาทของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู-ไวลี่ ด้วย

ทั้งนี้ศาลประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.119/2553 ซึ่งศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้าฟังเพื่อสอบคำให้การ ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้า ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี โดยแถลงว่าจัดเตรียมทนายความไว้เรียบร้อยแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เวลา 09.00น.

ต่อมานายกมล ทรงเจริญ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความของจำเลยทั้งห้า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดเพื่อขอประกันตัว พล.ต.ท.สมคิด กับพวกทั้ง 5 คน โดยยื่นเงินสดคนละ 500,000 บาท

ภายหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด กับพวกแล้ว นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาคดีนี้ โดยมีรองอัยการสูงสุด 2 คน ( นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล และ ร.ท.มนัส อุบลทิพย์ ) และตนซึ่งเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ดูแลการสั่งคดี ซึ่งจากการพิจารณาสำนวนพยานหลักฐาน รวมทั้งหลักฐานใหม่ที่ได้รวบรวมไว้ในสำนวนแล้ว คณะทำงานอัยการมีมติ เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งห้า มีความผิด ซึ่งพยานหลักฐานที่รวบรวมไว้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด ผบช.ภ.5 พร้อมพวกรวม 5 คนดังกล่าว

อย่างไรก็ดีที่ พล.ต.ท.สมคิด และ พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีเอสไอ และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ นายธนพิชญ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และนายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ฟ้องกลับ ในความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการทำสำนวนหลักฐานนั้น นายธนพิชญ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ ซึ่งตนพร้อมจะแก้ต่างสู้คดีตามพยานหลักฐาน

เมื่อถามว่า เกรงว่าสุดท้ายคดีนายอัลรู-ไวลี่ จะจบเหมือนกับคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือไม่นั้น นายธนพิชญ์ กล่าวว่า พฤติการณ์คดีทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกัน ขอให้อย่าเอาไปโยงกันเพราะเป็นคนละคดีกัน ซึ่งคดีนี้อัยการเห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมไว้ครบถ้วนแล้วจึงสั่งฟ้อง ขณะที่พยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นแหวนของนายอัลรู - ไวลี่ ที่รวบรวมไว้ในชั้นสอบสวนก็ตรวจพิสูจน์ตามขั้นตอนแล้ว

"เบื้องต้นได้รายงานความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด พร้อมพวกรวม 5 คน ต่อนายจุลสิงห์ อัยการสูงสุดแล้ว ส่วนนายกรัฐมนตรี คาดว่าน่าจะทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนแล้ว " นายธนพิชญ์ กล่าว

ขณะที่นายนาบิล ฮุสเซ็น อัซรี อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย กล่าวว่า อัยการสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 ถือเป็นข่าวดีและเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิ อาระเบีย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook