"ประยุทธ์" สั่งจับตาใกล้ชิด น้ำมันรั่วซ้ำที่ระยอง "วราวุธ" ชี้ปริมาณที่รับรายงานมาน่ากังขา

"ประยุทธ์" สั่งจับตาใกล้ชิด น้ำมันรั่วซ้ำที่ระยอง "วราวุธ" ชี้ปริมาณที่รับรายงานมาน่ากังขา

"ประยุทธ์" สั่งจับตาใกล้ชิด น้ำมันรั่วซ้ำที่ระยอง "วราวุธ" ชี้ปริมาณที่รับรายงานมาน่ากังขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบของ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) รั่วบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง อีกครั้งเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นน้ำมันค้างท่อในจุดเดียวกับที่เคยเกิดการรั่วไหลเมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 โดยนายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อไม่ให้กระทบถึงประชาชนบริเวณใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ทาง SPRC ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินน้ำมันรั่วไหล Tier 1 (ภาวะน้ำมันรั่วไหลขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน) เนื่องจากพบฟิล์มน้ำมันดิบ (สีเงิน) บริเวณทิศเหนือ ห่างจากทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลประมาณ 3 ไมล์ทะเล ห่างจากฝั่งประมาณ 11 ไมล์ทะเล และเป็นจุดเดียวกับที่เคยเกิดการรั่วไหลขึ้นครั้งก่อน

นายธนกร กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่จังหวัดระยอง กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่า เข้าตรวจสอบและแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน โดยกองทัพเรือได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นสำรวจ และกำหนดแนวทางการใช้สารขจัดคราบน้ำมันให้ได้ประโยชน์สูงสุดในจุดที่เกิดคราบน้ำมัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจัดการคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว และมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ รวมถึงปริมาณน้ำมันไม่ให้ไหลเข้าชายฝั่งได้

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังได้เร่งประสานงานกับทาง SPRC เพื่อตรวจสอบจุดที่รั่วไหลว่า ยังคงมีปริมาณน้ำมันตกค้างอยู่ในท่ออีกหรือไม่ เพื่อวางแผนและเตรียมการป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

"นายกฯ ห่วงใย และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เร่งบูรณาการเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหา และควบคุมสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลอย่างเร่งด่วนในทันที และได้กำกับติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้เร่งจัดเตรียมแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่า รัฐบาลสามารถควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ นายกฯ มีความห่วงใยถึงสิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่ง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อดูแลแก้ไข เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่ท้องทะเล" นายธนกร กล่าว

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังจากหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้ทราบปริมาณคราบน้ำมันว่าอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลิตร โดยเป็นข้อมูลที่ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) แถลงเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปักใจเชื่อข้อมูลจากบริษัทฯ แต่อย่างใด แต่ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่แน่ชัดได้

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทคงไม่ได้ปกปิดข้อมูล แต่สิ่งที่บริษัทให้ข้อมูลมาก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มากน้อยขนาดไหน คงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสำรวจข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้สามารถคำนวณได้ จากที่บริษัทแจ้งคือจุดรั่วอยู่ต่ำจากผิวน้ำทะเลลงไปประมาณ 20 เมตร แรงดันน้ำ ขนาดของจุดรั่ว และระยะเวลาในการรั่ว สามารถนำมาคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลได้ทั้งสิ้น

"ขณะนี้ตัวเลขที่บริษัทฯ ให้มายังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบยืนยันได้ ผมเองก็เร่งให้ตรวจสอบ เพราะบางเรื่องที่บริษัทฯ ให้ข้อมูลมามีความคลุมเครือ ซึ่งผมเองก็มีข้อกังขา เช่น กรมเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ขอให้หยุดดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับท่อที่รั่วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าทำไมไม่เป็นไปตามคำสั่ง ทางบริษัทฯ ก็ยังไม่ตอบให้ชัดเจน ซึ่งต้องฝากตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบสวนต่อไป" นายวราวุธ กล่าว

ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากกระแสลมทำให้กลุ่มน้ำมันกระจายตัวออก ไม่อยู่เป็นแพใหญ่ และยังไม่พัดเข้าฝั่ง ซึ่งต่างจากการรั่วไหลครั้งที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำให้การควบคุมโดยใช้บูม และสารดิสเพอร์เชนต์ (Dispersant) ลำบากกว่าครั้งที่แล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำมันที่น้อยกว่าครั้งที่แล้วหลายเท่าตัว จึงทำให้มีการบริหารจัดการง่ายกว่าครั้งที่แล้ว

ในส่วนของการใช้สารดิสเพอร์เชนต์ที่ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็น Part Per Million (ppm) จะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน น้ำมันที่แตกตัวเป็น ppm จะสลายหายไป ดังนั้นในระยะยาว ด้วยปริมาณของน้ำทะเล รวมทั้งจุรินทรีย์ และแบคทีเรียที่กัดกินตัว ppm คาดว่าน้ำมันจะสลายหายไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ขอให้กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คอยติดตามสถานการณ์คลื่นลม และทิศทางกระแสน้ำ เพื่อที่จะได้นำบูมคอยดักทางน้ำมันที่จะกระจายตัวไป

นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายมาประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ และแก้ไขสถานการณ์ เสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้น บริษัทจะมีแนวทางเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างไร ทางจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่จะมีแนวทางอย่างไร และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำมันพัดไปบนชายหาด ได้ฝากให้กรมควบคุมมลพิษหารือกับทางศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พิจารณาว่าสารที่ทำให้น้ำมันแตกตัว หรือสารดิสเพอร์เชนต์ จะมีการขออนุมัติให้ใช้เพิ่มเติมหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับในการประชุมเมื่อเช้านี้ว่าประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การเยียวยาความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้นทุนการเยียวยาทั้งหมดทางบริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

"วานนี้ผมได้มีการหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน รวมทั้งหารือกับกระทรวงคมนาคม ว่าทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการกับบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด" นายวราวุธ กล่าว

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับทางบริษัทฯ ตั้งแต่เกิดเหตุครั้งแรกแล้ว และเมื่อเกิดเหตุครั้งนี้ขึ้นก็ได้ฟ้องดำเนินคดี เนื่องจากถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความประมาท ทั้งคดีแพ่ง และอาญา ดังนั้น มั่นใจได้ว่าไม่มีการเพิกเฉยหรือดูดายแน่นอน

สำหรับเรื่องค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้มีอยู่หลายส่วน หากเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น กรมควบคุมมลพิษประเมินออกมาแล้วว่า ผลกระทบในวงกว้างมีค่าสารโลหะหนัก หรือสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลเท่าไหร่ และเกิดผลกระทบกับห่วงโซ่อาหาร ปะการังอย่างไร ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็อยู่ระหว่างการมอนิเตอร์ด้วย

อย่างไรก็ดี ผลกระทบเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วคงไม่สามารถดูได้ว่า 3 วัน 5 วัน ประเมินค่าออกมาเท่าไหร่ แต่เรื่องคดีความต้องใช้เวลา เพราะต้องดูผลกระทบในระยะยาว อาจต้องดูถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งแต่ละห้วงเวลาต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดระยอง และอื่นๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป

"การที่บริษัทฯ อยู่มา 30 ปี และเกิดเหตุติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าอาจเป็นการไม่เอาใจใส่ ซึ่งผมก็ไม่สามารถคิดแทนบริษัทได้ แต่อาจทำให้บางคนคิดได้ว่าเป็นการเลินเล่อหรือไม่ อย่างไรก็ดี บริษัทยืนยันว่าจะชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด" นายวราวุธ กล่าว

สำหรับการวางแผนระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกนั้น เชื่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการที่เข้มข้นอยู่แล้ว ซึ่งวงรอบของการซ่อมบำรุง คือหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ ได้ฝากไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมเจ้าท่า ให้ตรวจสอบการทำงานของท่อลักษณะนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง และมีการซ่อมแซมอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook