ปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายแก้โกงเงิน

ปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายแก้โกงเงิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ เดลินิวส์ กรณี รพ.รัฐและเอกชนเรียกเก็บเงินเกินจริง โดยเฉพาะกรณีค่าโครงลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือสเต็นท์ชนิดเคลือบยา ว่า ได้ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด เห็นได้ชัดเจนว่า ตรงนี้เป็นช่องโหว่ของการเบิกจ่าย โดยผู้ประกอบการ หรือ รพ.คิดค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยเกินจริง ที่หลักฐานชัดเจนคือกรณีสเต็นท์เคลือบยา ซึ่งเมื่อนำอุปกรณ์ชนิดเดียวกันมาเทียบเคียงกันแล้วพบว่า ราคาถูกลงมาก

นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีสเต็นท์ คิดว่าจะต้องมีการดำเนินการหลายอย่าง คือ 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายหมวดวัสดุอุปกรณ์และอวัยวะเทียมของ สปสช. 2.ต้องมีการตรวจสอบ รพ.ที่ให้บริการ และผู้ใช้บริการ อย่างกรณีของสเต็นท์จะต้องเรียกคืนเงินส่วนเกินคืน และ 3. ต้องมีการตรวจสอบหลังการเบิกจ่าย ว่า การให้การรักษาของ รพ.สนับสนุนข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือไม่ ตรงนี้จะเป็นตัวประเมินคุณภาพของระบบ แน่นอนว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่า การรักษาพยาบาลดังกล่าวเกินความจำเป็นโดยไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ ถือว่าทำให้สิ้นเปลือง เพราะคนไข้ได้รับการรักษามากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปพูดคุยกับกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคว่า จะทำอะไรได้บ้างในเรื่องที่เกิดขึ้น

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายเรืหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ปรากฏว่า ผู้นำไม่มีความกล้าที่จะใช้ระบบนี้ ดังนั้นตนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบายไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คือ ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรี และนายกฯ จะมาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันในส่วนของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน มาบ้างแล้ว เพราะหลายคนก็ไม่ได้พอใจระบบประกันสุขภาพปีต่อปีที่ใช้อยู่ ทั้งนี้การมาใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ได้หมายความว่าจะตัดโอกาสอย่างอื่น เช่น การใช้ห้องพิเศษ ส่วนจะเริ่มใช้ได้เมื่อใดนั้นยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียดกัน

ด้าน น.ส.สุวิภา สุขวณิชนันท์ ผอ. สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ก็มีการสุ่มตรวจเวชระเบียนเช่นกันโดยให้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นผู้ดำเนินการ พบว่า กรณีผู้ป่วยใน ซึ่งมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกลุ่มการวินิจฉัยโรคร่วม หรือ ดีอาร์จี ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยพบว่า รพ.รัฐหลายแห่งมีการเรียกเก็บเงินเกินจริงเหมือนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังประสบอยู่ โดยพบว่า รพ.มีการสลับโรคหลัก และโรครอง เพื่อเบิกเกินจริง ตรงนี้เมื่อมีการตรวจพบก็จะเรียกคืน ซึ่งปีหนึ่งมีการเรียกเงินคืนหลายสิบล้านบาท

น.ส.สุวิภา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วยนอก ก็มีการเรียกเงคืนเช่นกัน โดยพบว่า รพ.หลายแห่งมีการเบิกยาซ้ำซ้อน หรือมีการจ่ายยาเกินความจำเป็น ซึ่งการสุ่มตรวจเวชระเบียนตรงนี้ทำได้ไม่มาก และเมื่อพบปัญหาแล้วก็ทำได้เพียงเรียกเงินคืนเท่านั้น ไม่มีสิทธิไปลงโทษ เหมือนกับที่ สปสช.จะปรับ 10 เท่า ความจริงทางกรมบัญชีกลางก็อยากจะลงโทษกรณีจงใจเรียกเก็บเงินเกินจริง แต่กฎระเบียบไม่สามารถดำเนินการตรงนี้ได้

ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วันเดียว กัน มีการจัดเวทีสาธารณะ หาทางออก สร้างความเป็นธรรม 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ระบบประกันสุขภาพที่เป็นแบบปลายปิดมีเพียง 2 ระบบ คือ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้า ส่วนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นแบบปลายเปิด คือ ไม่มีการคุมวงเงิน ทำให้มีการใช้วงเงินสูงกว่าระบบอื่น 5-6 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิประมาณ 5 ล้านคน โดย 50% พบ ว่า เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยา มีการใช้ยา ใหม่ ๆ และแพง ๆ ทำให้ปัญหาโป่งขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าทั้ง 3 ระบบจะต้องมีความแตกต่าง แต่ทำอย่างไรจะลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรม.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook