“ละครไทย” พอแล้วดีไหมกับ “ฉากข่มขืน”

“ละครไทย” พอแล้วดีไหมกับ “ฉากข่มขืน”

“ละครไทย” พอแล้วดีไหมกับ “ฉากข่มขืน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ละครดัง จนกลายเป็น 2 แฮชแท็กร้อนแรงบนโลกทวิตเตอร์อย่าง #แบนเมียจำเป็น และ #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ได้นำไปสู่การรณรงค์ให้ยกเลิกละครที่มีเนื้อหาความรุนแรงทางเพศใน “ละครรัก” บนหน้าจอโทรทัศน์ของไทย แต่นี่ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่คนดูออกมาเรียกร้องในประเด็นนี้ เพราะที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่ส่งเสียงให้ “คนทำสื่อ” หยุดสร้างเนื้อหาที่มีฉาก “ข่มขืน” ไปหลายที แต่ก็เหมือนเป็น “กระแส” อยู่สักพัก แล้วก็หายไป วนลูปกันแบบนี้เมื่อมี “ดราม่า” ละครเรื่องใหม่เกิดขึ้น 

ทั้ง ๆ ที่มีละครโดนกระแสตีกลับเพราะฉากข่มขืนมานักต่อนัก แต่ทำไมผู้จัดยังกล้าผลิตละครแบบนี้ออกมา ก็คงเป็นคำถามที่พวกเราต้องหาคำตอบกันต่อไป แต่จากประเด็นร้อนสะเทือนโลกโซเชียลที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ทำให้เรามองเห็นปัญหาเรื่องการผลิตซ้ำ “วัฒนธรรมข่มขืน” ที่ละครไทยไม่สามารถ “มูฟออน” ได้เสียที 

วัฒนธรรมข่มขืน คือ วัฒนธรรมที่สนับสนุนให้การข่มขืนเป็นเรื่องปกติ โดยมีสาเหตุจากทัศนคติทางสังคมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ และถูกใส่ลงไปในเนื้อหาของละครไทยอย่างแนบเนียน แต่การข่มขืนในละครไทยจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่า “ใคร” เป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนั้น และใครเป็น “ผู้ถูกกระทำ” 

หากการข่มขืนเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของ “พระเอก” คนดูก็จะ “จิกหมอนนอนฟิน” กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง และละครไทยก็มักจะมีเหตุผลมาสนับสนุน “อารมณ์ชั่ววูบ” ของพระเอก (ที่ปกติจะเป็นสุภาพบุรุษ) อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความแค้น ความเข้าใจผิดคิดว่านางเอก “จะง่าย” หรือความหึงหวง ในขณะที่นางเอกของเรื่องก็ต้องขัดขืน “พอเป็นพิธี” เพื่อให้ตอนจบทั้งสองจะได้ครองรักกัน การนำเสนอท่าทางขัดขืนแต่สุดท้ายก็ได้กันของละครไทยนี้ ได้สร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับคนในสังคมอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็บิดเบือนแนวคิดเรื่อง “การยินยอมพร้อมใจ (Consent)” ไปจนผิดเพี้ยน และกลายเป็นค่านิยมความเชื่อที่บิดเบี้ยวและฝังรากลึกอยู่ในสังคม 

นี่ยังไม่พูดถึงการเป็น “สาวบริสุทธิ์” ของนางเอกที่พระเอกจะได้รู้หลังจากเสร็จกิจแล้ว ไม่รู้ทำไมละครไทยจึงคลั่งไคล้พรมจรรย์ของผู้หญิงมากขนาดนั้น เพราะเยื่อบาง ๆ บริเวณช่องคลอดของผู้หญิงไม่ใช่ตัววัดคุณค่าของคน และไม่ได้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นคนดีน้อยลงเลย 

ในทางกลับกัน หาก “นางร้าย” โดนคนร้ายข่มขืน ชาวบ้านคนดูก็จะตบเข่าสะใจในผลกรรมที่ตัวละครได้รับ การสร้าง “ภาพจำ” ของนางร้ายว่าต้องแต่งตัวเปรี้ยว ทาปากแดง แต่งหน้าจัดจ้าน และการแสดงออกของตัวละครที่กล้าต่อปากต่อคำ บ่มเพาะความเชื่อ “การด่าประจาน (Slut Shaming)” และผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแบบนี้ก็สมควรถูกตัดสิน กล่าวประณาม และการโดนข่มขืนก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเมื่อเกิดขึ้นกับพวกเธอ ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลที่ว่า “นางร้ายทำตัวไม่ดีเอง เธอจึงสมควรถูกข่มขืน” ยังเป็นการปลูกฝังทัศนคติ “โทษเหยื่อ (Victim Blaming)” ให้กับสังคมอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะไม่ว่าผู้หญิงหรือใครก็ตามจะทำตัวเลวร้ายแค่ไหน เราก็ไม่ควรทำตัวเป็นศาลเตี้ยและใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือลงโทษ 

ความย้อนแย้งของประเด็นข่มขืนในละครกับชีวิตจริงก็คือ ในขณะที่ผู้ชมละครรู้สึกฟินกับฉากนางเอกโดนพระเอกสุดหล่อขืนใจ หรือรู้สึกสะใจที่นางร้ายปากแดงโดนโจรชั่วลากไปข่มขืน แต่เมื่อไรก็ตามที่มีข่าวข่มขืนปรากฏในข่าว กระแส “ข่มขืน = ประหาร” จะโหมกระหน่ำ เรียกร้องให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษด้วยความตาย ถ้าเป็นแบบนี้ก็แปลว่า การข่มขืนเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายใช่ไหม 

แล้วทำไมพวกเรายังสนับสนุนละครที่มีฉากข่มขืน 

“ละครก็คือละคร เป็นเรื่องแต่งขึ้นและไม่ใช่ความจริง” นี่คงเป็นคำแก้ตัวที่มักได้ยินบ่อย ๆ เวลาเกิดดราม่า แต่อย่าลืมว่าละครคือ Soft Power ที่มีผลต่อความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของคนในสังคมเช่นกัน จริงอยู่ว่าฉากข่มขืนที่อยู่ในละครไทยอาจไม่ได้ทำให้คนดูลุกขึ้นไปไล่ข่มขืนใคร แต่คนดูละครก็จะซึมซับว่าการข่มขืนคือการตีตราว่า “เหยื่อ” สมควรโดนกระทำ เพราะมีแต่ผู้หญิง “ไม่ดี” เท่านั้นแหละที่จะโดน ผู้หญิงดี ๆ ที่ไหนจะไปทำตัวให้โดนข่มขืน และนั่นแหละคือปัญหา 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องนายทุน ช่องโทรทัศน์ ความต้องการของคนดู หรือความตั้งใจ “สร้างความตระหนัก” ให้แก่สังคม ที่ทำให้ผู้จัดละครไทยขยันเข็นละครแบบนี้ออกมาสู่สังคม แต่เราก็หวังว่าพวกคุณจะเรียนรู้จากความผิดพลาด และนำไปแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่แค่ “รอให้เรื่องเงียบ” ให้คนลืมดราม่านี้ไปก่อน แล้วก็กลับมาสร้างละครเนื้อหาเดิม ๆ โดนด่าวนไปแบบนี้ไม่จบสิ้น เพราะการกระทำแบบนี้คงจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook