7 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19”

7 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19”

7 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสงสัยและแคลงใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 กลายเป็นปัญหาสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนที่ออกมาสู่ท้องตลาด เช่นเดียวกับขั้นตอนวิธีการพัฒนาวัคซีนที่ใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของตัววัคซีน

วัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วนั้นก็นำไปสู่ความลังเลใจและความเชื่อผิด ๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมโลก นำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

000_8y832mAFP

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความลังเลใจต่อวัคซีนถือเป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามด้านสาธารณสุขโลก ประจำปี 2019 โดยวัคซีนนั้น “สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 2-3 ล้านชีวิตต่อปี” ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ จึงรวบรวม “7 ความเชื่อผิด ๆ” ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือข้อมูลที่บิดเบือนที่กำลังถูกส่งต่อกันในปัจจุบันนี้ 

วัคซีนโควิด-19 ไม่ปลอดภัย เพราะถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วเกินไป

ความจริง: วัคซีนโควิด-19 ที่ถูกใช้อยู่ในขณะนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบและทดลองทางคลินิกที่เข้มงวดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมการทดสอบหลายหมื่นคน หลังจากการทดลองในสัตว์ ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัคซีนยืนยันว่า ผลการทดสอบได้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 

ก่อนจะได้รับการอนุมัติใช้ วัคซีนจากทั้งบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค, โมเดิร์นนา และแอสตร้าเซเนก้า ล้วนแล้วต้องผ่านการตรวจสอบที่เข้มงวดจากทั้งองค์การอาหารและยาสหรัฐ, องค์กรยาของสหภาพยุโรป และสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและยาของอังกฤษ 

ในการทดลองทางคลินิก ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดิร์นนา มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 95% และ 94.1% ตามลำดับ ขณะที่วัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ยถึง 70% 

AFP

วัคซีนโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ 

ความจริง: วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดิร์นนา ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งสามารถเปลี่ยนโปรตีนของไวรัสโดยตรง โดยเส้นใยพิเศษ RNA จะเป็นตัวสร้างโปรตีนบนพื้นผิวของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เรียกว่า “โปรตีนหนาม” และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มจดจำ และสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19

กล่าวคือ mRNA จากวัคซีนโควิด-19 จะไม่เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งเป็นจุดที่ดีเอ็นเอของมนุษย์อยู่ 

วัคซีนโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ 

ความจริง: ผู้หญิงหลายคนกังวลว่า วัคซีนโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ ซึ่งความเชื่อที่บิดเบือนดังกล่าวถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และผดุงครรภ์แห่งสหราชอาณาจักรได้ออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าว โดยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ 

AFP

วัคซีนไม่ปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์ 

ความจริง: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยว่า ข้อมูลด้านความปลอดภัยของโควิด-19 ต่อหญิงตั้งครรภ์ยังมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผลการทดลองวัคซีนในหนูชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 จากโมเดิร์นนา ไม่มีผลกระทบต่อหนูไม่ว่าจะในช่วงก่อนหรือระหว่างการตั้งท้อง อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค กำลังอยู่ในช่วงการทดลอง ทั้งนี้ การทดลองวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผน และทั้ง 2 บริษัทก็กำลังสังเกตการณ์กลุ่มผู้เข้ารับวัคซีนที่กำลังตั้งครรภ์อีกด้วย 

ทางด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค และแอสตร้าเซเนก้า ได้ประกาศงดฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ จนกว่าจะมีการทดลองและมีข้อมูลมากขึ้น 

หากฉีดวัคซีนแล้ว ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย

ความจริง: ถึงแม้จะมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แล้ว คน ๆ นั้นก็ยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ โดยในขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่า การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพลดการแพร่เชื้อได้หรือไม่ และคนอีกมากมายก็ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ นั่นคือ รักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนอื่น 

AFP

เคยติดโควิด-19 มาแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน

ความจริง: ถึงแม้การมีประวัติติดโรคโควิด-19 อาจทำให้คน ๆ นั้นมีแอนติบอดีที่ต่อต้านการติดเชื้ออีกครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่มั่นใจว่าการป้องกันเช่นนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ทั้งนี้ ผลการวิจัยบุคลากรทางแพทย์หลายพันคนในสหราชอาณาจักร พบว่า คนที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน จะมีภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 5 เดือน อย่างไรก็ตาม คนที่มีแอนติบอดีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ 

อาจติดโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนได้ 

ความจริง: ผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดิร์นนา จะไม่สามารถติดโควิด-19 ได้ เพราะวัคซีนไม่มีเชื้อไวรัสที่มีชีวิต ขณะที่โครงการให้ความรู้ด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็ได้อธิบายถึงส่วนผสมของวัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะในวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า โดยชี้ว่า สร้างขึ้นจากการดึงเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้โปรตีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นจึงนำไปใส่ในยีนของเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดอาการหวัดในลิงชิมแปนซี และไม่เป็นอันตราย ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวจะไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook