8 วัคซีน ความหวังสู้ “โควิด-19”

8 วัคซีน ความหวังสู้ “โควิด-19”

8 วัคซีน ความหวังสู้ “โควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จนถึงปัจจุบันนี้ ทั่วโลกกำลังพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 มากกว่า 200 ตัว ซึ่งวัคซีนทุกตัวล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การเตรียมระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้สามารถต่อสู้กับเชื้อแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยวัคซีนจะนำสารที่เปรียบเสมือนเชื้อโรคที่ไม่มีอันตรายเข้าไปในร่างกาย เพื่อหลอกร่างกายให้สร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้น และสามารถต้านเชื้อไวรัสตัวจริงหากเกิดการติดเชื้อ หรือคล้ายกับโชว์รูปภาพของใครสักคน แล้วบอกว่า “หากคน ๆ นี้ปรากฏตัวหน้าบ้าน อย่าเปิดประตูให้เขาเด็ดขาด” แต่วิธีการสร้าง “รูปภาพ” ก็มีมากมาย เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ที่นักพัฒนาทั่วโลกต่างพยายามคิดค้นขึ้น และนี่คือวัคซีน 8 ชนิดที่กำลังทำการพัฒนาอยู่ในขณะนี้ 

วัคซีนแบบเชื้อไวรัสตาย 

วิธีการนี้มีมาหลายทศวรรษแล้ว และ Jonas Salk ก็ใช้วิธีนี้ในการสร้างวัคซีนโรคโปลิโอ โดยนักวิจัยจะนำเชื้อไวรัสไปผ่านความร้อน หรือใช้พิษจากสารฟอร์มาลดีไฮด์เพื่อทำให้เชื้อไวรัสตาย ทำให้เชื้อไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แต่ยังสามารถใช้โปรตีนจับบนพื้นผิวที่ภูมิคุ้มกันจะสามารถจดจำได้ในฐานะสิ่งแปลกปลอม หลายบริษัทในประเทศจีนเริ่มพัฒนาวัคซีนโดยใช้วิธีการนี้ เช่น สถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) สถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Chinese Academy of Medical Sciences) และบริษัทชิโนวัค รีเสิร์ช แอนด์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด (Sinovac Research and Development) 

ข้อเสียอย่างหนึ่งของวัคซีนชนิดนี้ คือ ตัววัคซีนไม่สามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งมากพอที่จะต่อสู้เชื้อไวรัสได้ และบางครั้งอาจต้องฉีดวัคซีนมากถึง 2 โดส

วัคซีนเชื้อไวรัสเป็นอ่อนฤทธิ์ 

วิธีการนี้เป็นวิธียอดนิยม โดยเชื้อไวรัสจะถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ นี่เป็นวิธีการทำงานของวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน วัคซีนชนิดนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่ในบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดโรคที่ตัวมันพยายามต่อสู้ เพราะเชื้อไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ลงก็อาจจะยังเป็นอันตรายต่อคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอมาก ๆ ทั้งนี้ มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้น ที่พัฒนาวัคซีนโดยใช้วิธีการนี้ 

วัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะแบบไม่เพิ่มจำนวน

แทนที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือสร้างเชื้อไวรัสเพื่อใช้ในวัคซีน นักวิจัยสามรถใช้โปรตีนของเชื้อไวรัสเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อนักวิจัยรู้ลำดับดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ของเชื้อไวรัสแล้ว ก็จะทำการแยกยีนของโปรตีนเหล่านั้น และการส่งยีนให้เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์โดยไม่มีเชื้อไวรัสเป็นตัวส่งผ่าน ทำได้ด้วยการใช้เชื้อไวรัสชนิดอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค มีเชื้อไวรัสจำนวนมากที่เมื่อติดเชื้อ จะทำให้เกิดอาการป่วยเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย นักวิจัยสามารถดึงยีนจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้โปรตีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นก็นำไปใส่ในยีนของเชื้อไวรัสที่ไม่เป็นอันตราย เมื่ออยู่ในเซลล์แล้ว เชื้อไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายนี้ก็จะส่งผ่านสายพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา และสร้างโปรตีนไวรัสโคโรนาที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านทาน 

มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดร่วมมือกับบริษัทยา AstraZeneca ใช้วิธีการนี้ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ยังมีบริษัท Cansino Biologics ที่ร่วมมือกับสถานบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารในประเทศจีน ที่ทดลองวัคซีนที่พัฒนาวัคซีนด้วยวิธีการกับมนุษย์แล้วเช่นกัน 

วัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะแบบเพิ่มจำนวน

คล้ายกับวัคซีนเชื้อไวรัสเทียมแบบไม่เพิ่มจำนวน แต่สามารถสร้างเชื้อไวรัสให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ วัคซีนชนิดนี้ใช้เชื้อไวรัสที่อาจจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยธรรมชาติ หรืออาจถูกสร้างขึ้น ซึ่งเชื้อไวรัสแบบเพิ่มจำนวนจะถูกตัดต่อให้มีตัวคำสั่งสำหรับการสร้างโปรตีนไวรัสที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ วัคคซีนชนิดนี้สามารถสร้างผลิตโปรตีนไวรัสโคโรนาได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็รักษาระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญและพร้อมที่สุดที่จะสร้างปฏิกิริยาเมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้น ทั้งนี้ บริษัท Merck เคยใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างวัคซีนโรคอีโบลา ซึ่งได้รับการรับรองในปีที่แล้ว และกำลังพยายามสร้างวัคซีนโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน 

วัคซีนอนุภาคเหมือนเชื้อไวรัส 

วัคซีนอนุภาคเหมือนเชื้อไวรัส คือ การสร้างโปรตีนที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัส แต่ไม่มีคำสั่งสารพันธุกรรมที่จะทำให้มันเพิ่มจำนวนได้ หลายบริษัทใช้อนุภาคเหมือนเชื้อไวรัสเพื่อพัฒนาวัคซีน เช่น บริษัท Medicago ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ที่ใช้พืชเพื่อกระตุ้นอนุภาคเหมือนเชื้อไวรัส

วัคซีน RNA 

DNA คือสารเคมีที่กักเก็บคำสั่งสารพันธุกรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างโปรตีนจากคำสั่งสารเหล่านั้น DNA จะต้องถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น RNA และโปรตีนชนิดพิเศษจะถูกสร้างขึ้นโดยเส้นใยพิเศษของ RNA ในกรณีของวัคซีน RNA สำหรับโรคโควิด-19 นั้น เส้นใยพิเศษ RNA จะเป็นตัวสร้างโปรตีนบนพื้นผิวของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เรียกว่า โปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งโปรตีนหนามนี้ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ แนวคิดของวัคซีนชนิดนี้ จึงเป็นการฉีด RNA เข้าไป และเซลล์ร่างกายของคน ๆ นั้นก็จะเริ่มสร้างโปรตีนหนามที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มจดจำและสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส 

แม้วัคซีนชนิดนี้จะได้รับคำชื่นชมจากนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มาพร้อมกับโรคโควิด-19 และยังไม่ได้รับการทดสอบอย่างสมบูรณ์จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ว่าสามารถใช้กับมนุษย์ได้ 

วัคซีน DNA 

การสร้างวัคซีน DNA เป็นวิธีการใหม่ในการสร้างวัคซีน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะนำคำสั่งสารพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์โดยตรง เพื่อสร้างโปรตีนที่ต้องการ จากนั้นเซลล์ร่างกายจะใช้คำสั่งดังกล่าวเพื่อสร้าง RNA ที่สร้างโปรตีนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม การนำ DNA เข้าสู่เซลล์ร่างกายมีความยากกว่าการใช้ RNA 

วัคซีนโปรตีนหน่วยย่อย 

อีกวิธีการหนึ่งในการพัฒนาวัคซีน คือ การฉีดสำเนาโปรตีนเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ นี่เป็นวิธีการที่ใช้อย่างแพร่หลาย และใช้พัฒนาวัคซีนโรคไอกรน โรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก หลาย ๆ บริษัทก็เลือกใช้วิธีการนี้ในการพัฒนาวัคซีน เช่น บริษัท Novavax ซึ่งได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว 

การพัฒนาวัคซีนอาจใช้เวลามากกว่าสิบปีเพื่อทำการพัฒนา ทดสอบ และขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนชนิดใหม่ แต่ในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทำให้ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนต้องรวดเร็วมากขึ้น โดยนักพัฒนาทำทุกอย่างควบคู่ไปกับสิ่งที่พวกเขามักจะทำอย่างเป็นลำดับขั้นตอน หลายบริษัทต่างเร่งมือและความสามารถในการผลิต เนื่องจากต้องการผลิตวัคซีนมากกว่าร้อยล้านโดส อย่างไรก็ตาม วัคซีนหลายตัวถูกนำมาทดสอบในมนุษย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีหลักฐานชี้ว่าวัคซีนบางตัวใช้ได้ผล ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวอาจผลิตใช้ได้จริงอย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook