ยกเลิกคำสั่งอายัดเงินโอ๊ค-เอมที่ไทยพาณิชย์

ยกเลิกคำสั่งอายัดเงินโอ๊ค-เอมที่ไทยพาณิชย์

ยกเลิกคำสั่งอายัดเงินโอ๊ค-เอมที่ไทยพาณิชย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลปกครองกลางยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรอายัดเงิน"โอ๊ค-เอม"กว่า 12,000 ล้านที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะชำระภาษี เหตุคตส.อายัดไว้ก่อนแล้ว และท้ายสุดหากผิดจริงต้องตกเป็นของแผ่นดินอยู่ดี

(30ก.ย.) นายจรวย หนูคง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนได้มีคำพิพากษาให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ต้องนำเงินในบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ที่ได้อายัดไว้ตามคำสั่ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ส่งให้กับกรมสรรพากรเพื่อเป็นค่าชำระภาษีอากรจำนวนกว่า 12,000 ล้านบาท ที่ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลัง คตส. มีคำสั่ง อายัดบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองในทุกธนาคาร ไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ปรากฎว่าต่อมาทางกรมสรรพากรได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์ของบุคคลทั้งสองซ้ำ เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองค้างชำระภาษีอากรเงินได้บุคคลธรรมดา และได้มีหนังสือที่ กค0705.34.1/443 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2551 และ หนังสือที่ กค 0724/977 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2551 สั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์นำส่งเงินในบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองที่ฝากไว้ และถูกคตส.อายัดมาให้เพื่อเป็นการชำระภาษีทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องยื่นฟ้องต่อศาล

ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวระบุว่าประเด็นที่ต้องพิจาณาคือคำสั่งอายัดทรัพย์ของกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 30 พ.ย. 2550 รวมทั้งคำสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ นำส่งเงินในบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองไปให้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่าคตส.มีคำสั่งเมื่อ 11 มิ.ย. 2550 แจ้งไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองโดยระบุเลขไว้ชัดเจน และกำหนดเงื่อนไขว่าให้มีผลอายัดต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งจนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย. 2551 ที่คตส.หมดวาระก็ไม่เคยมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งอายัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามภายหลังมีการโอนงานการตรวจสอบของคตส.ไปยัง ปปช. ก็ไม่เคยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งอายัดของคตส. จึงถือว่าคำสั่งมีผลมาตั้งแต่ 11 มิ.ย. 2550 จนถึงปัจจุบัน ส่วนคำสั่งอายัดทรัพย์บุคคลทั้งสองของกรมสรรพากร เพิ่งจะมีเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2550 คือเกิดภายหลังจากที่คตส.อายัดทรัพย์ประมาณห้าเดือนเศษ โดยเกิดขึ้นจากการที่กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีรายได้บุคคลธรรมดาปี 2549 ของบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เพิ่งจัดทำขึ้นต้นเดือนส.ค. 2550 คือหลังจากที่บุคคลทั้งสองได้รับการจ้างการประเมินภาษีจากกรมสรรพากรแล้ว และไม่ยอมชำระภาษีดังกล่าวทำให้ตกเป็นผู้ค้างการชำระภาษี ซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจที่จะอายัด ยึด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของคนทั้งสองแต่ก็ไม่กระทบต่อคำสั่งของ คตส. ที่มีก่อนหน้านี้

เมื่อพิจาณาถึงวัตถุประสงค์ของทั้งคตส. และกรมสรรพากร เห็นว่าคำสั่งของคตส.อายัดทรัพย์ เพื่อรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหากพ.ต.ท.ทักษิณแพ้คดีก็จะถูกยึดทรัพย์ และเงินที่ถูกอายัดก็จะตกเป็นของแผ่นดินและตกเป็นของรัฐ ส่วนคำสั่งอายัดทรัพย์ของกรมสรรพากรก็เพื่อต้องการนำเงินดังกล่าวมาชำระภาษีเท่ากับทั้งคตส. และกรมสรรพากรมีวัตถุประสงค์หลักตรงกันคือยึดทรัพย์นั้นเพื่อให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

เมื่อพิจารณาต่อไปว่าการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ยอมส่งเงินในบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองให้กรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีนั้น แม้กรมสรรพากรจะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่มีสิทธิรับการชำระหนี้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 253 (3) ก็ตาม แต่การเป็นเจ้าหนี้ก็ไม่ทำให้กรมสรรพากรมีอำนาจที่จะสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินในบัญชีเงินฝากที่คตส.อายัดไว้ก่อน จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากรที่สั่งอายัด และเพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากรที่ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินในบัญชีของบุคคลทั้งสอง ซึ่งคตส.มีคำสั่งอายัดไว้ก่อนเพื่อไปชำระภาษี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook