ราคาหมูขยับตัวเพิ่มอีก ทำผู้บริโภคแห่ร้องเรียนผ่านสายด่วน1569

ราคาหมูขยับตัวเพิ่มอีก ทำผู้บริโภคแห่ร้องเรียนผ่านสายด่วน1569

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ผู้บริโภคได้ร้องเรียนผ่านสายด่วนแม่บ้าน 1569 ถึงปัญหาการจำหน่ายเนื้อสุกรในเขตกรุงเทพฯ มีราคาแพงกว่าราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดถึง กก.ละ 5-10 บาท โดยมีราคาสุกรเนื้อแดงชำแหละส่วนตะโพกเฉลี่ย กก.ละ110-120 บาท เนื้อแดงชำแหละส่วนไหล่ กก.ละ 110-115 บาท และเนื้อสามชั้น กก.ละ 110 - 120 บาท ขณะที่ราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศเมื่อ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา กำหนดราคาเนื้อแดงตะโพกที่ กก.ละ 105-110 บาท เนื้อแดงส่วนไหล่ กก.ละ 100-105 บาท ก่อนหน้าช่วงเดือนกรกฎาคม กรมการค้าภายในได้เข้ามาแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพงแล้วครั้งหนึ่ง โดยปรับสูตรคำนวณราคาเนื้อหมูใหม่ เป็นราคาหมูเป็นบวกกำไร 10% เท่ากับราคาหมูซีกและจากราคาหมูซีกบวกกำไร 7% เป็นราคาขายปลีกในท้องตลาด พร้อมกับประกาศราคาแนะนำออกมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกตามตลาดสดหลายแห่งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในช่วงนั้น ปรับลดเหลือเท่ากับราคาแนะนำ กก.ละ 100-110 บาท เช่น ตลาดยิ่งเจริญ พรานนก ดาวคะนอง บางปะกอก คลองเตย บางแค แต่ให้หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนเศษราคาขายปลีกเนื้อสุกรก็ปรับขึ้นเกินราคาที่กำหนดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกเพราะขณะนี้เข้าสู่หน้าฝน และไม่ใช่ฤดูกาลที่หมูจะปรับขึ้นราคา ข่าวจากวงการผู้ค้าสุกรแจ้งว่า ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยังไม่มีการปรับราคาขึ้น โดยขายเฉลี่ยกก.ละ 55-57 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทรงตัวต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว ดังนั้นการขึ้นราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง จึงไม่มีสาเหตุจากต้นทุนหมูเป็นที่เพิ่มขึ้นแต่เป็นไปได้ว่าราคาที่เพิ่มน่าจะมาจากกลุ่มพ่อค้าหน้าเขียง โดยต้นทุนหมูเป็นในขณะนี้หากคำนวณตามสูตรใหม่น่าจะขายได้ในราคา กก.ละ 100-110 บาท ตามประกาศราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้ สำหรับแนวโน้มราคาหมูเป็นในตลาด ไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นและน่าจะปรับลดลงได้อีก เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงหมูติด มีปริมาณผลิตเฉลี่ยเกือบ 40,000 ตัวต่อวันสูงกว่าความต้องการบริโภคอยู่เล็กน้อย ทำให้หน้าฟาร์มไม่สามารถขึ้นราคาได้ และในเดือน ต.ค. เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ความต้องการเนื้อสัตว์น้อยลงน่าจะทำให้ราคาหมูลดลงได้อีก ข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า สาเหตุที่ขายเกินราคาแนะนำ น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดจากผู้ขายตัดแต่งเนื้อหมูให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วด้วยต้นทุนในขณะนี้ผู้ขายหน้าเขียงไม่ควรขายเกินราคาแนะนำ เพราะตอนนี้ต้นทุนหมูเป็นยังทรงตัว ที่กก.ละ 56 บาทและแม้ว่าราคาอาหารหมูคือกากถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้นจาก กก.ละ 15 บาท เป็น 17 บาท แต่ไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook