ผ่านฉลุย! 273 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

ผ่านฉลุย! 273 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

ผ่านฉลุย! 273 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สภามีมติ 273 เสียงรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 64 แปรญัตติ 30 วัน "ก้าวไกล" ดัน "ธนาธร" นั่ง กมธ.วิสามัญอีกครั้ง ด้าน "ประยุทธ์" ครวญจีดีพีกำลังโตหลังยึดอำนาจ แต่คาดไม่ถึงเจอสงครามการค้า-โรคโควิด ขณะที่ฝ่ายค้านสับปี 64 คนไทยเจอวิกฤต "ประยุทธภัย" สร้าง 5 หนี้ ท้านายกฯ รับผิดชอบหากจีดีพีไม่ถึงร้อยละ 5

เมื่อเวลา 23.20 น. วันที่ 3 ก.ค. 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 273 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ไม่เห็นชอบ 200 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 72 คน โดยพรรคก้าวไกล เสนอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย โดยใช้เวลาแปรญัตติ 30 วัน พร้อมประชุมนัดแรกในวันพุธที่ 8 ก.ค. เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมงบประมาณชั้น 6 อาคารรัฐสภา

โดยก่อนการลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สรุปปิดท้ายต่อที่ประชุมสภา ว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วยเนื่องจากจีดีพี ในปี 2554 การเติบโตร้อยละ 0.8 แล้วไปขึ้นในช่วงนโยบายรถคันแรก และจำนำข้าว แล้วค่อยมาลดลงเป็นปกติ ปี 2556 มาเป็นร้อยละ 2.7 และปี 2557 เป็นร้อยละ 1 แต่ตนไม่ได้เป็นคนทำงบประมาณช่วงที่เกิดความขัดแย้งจนใช้งบประมาณไม่ได้ แล้วตนก็เข้ามาแก้ไขปัญหาตอนนั้น ปี 2558 เป็นร้อยละ 3.1 ปี 2559 เป็นร้อยละ 3.4 ปี 2560 เป็นร้อยละ 4.0 ปี 2561 เป็นร้อยละ 4.1 ในช่วงนี้มีการลงทุนการเจริญเติบโตในหลายประเทศโดยการมีการลงทุนในอีอีซี ซึ่งกำลังเดินหน้ามาด้วยดี แต่ไปเจอสงครามการค้าในปี 2562 แล้วเจอก็โควิด-19 ปี 2563 เราต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ การทำงบประมาณใหม่ไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ได้ก็แล้ว แต่การใช้งบฟื้นฟูมาบริหารราชการปกติไม่น่าจะทำได้ ขอให้มาพิจารณากันต่อในชั้นกรรมาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนในนามรัฐบาลขอขอบคุณสมาชิกอันทรงเกียรติที่พิจารณา ตนคิดว่างบประมาณในปี 2564 เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาและแก้ปัญหาทุกด้าน ดูแลผู้มีรายได้น้อยเกษตร แหล่งน้ำ ตามงบประมาณที่มีอยู่ให้มากที่สุด เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ทุกส่วนเพื่อยกระดับประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการทั่วประเทศตลอดจนนโยบายต่างๆ มุ่งเน้นการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพราะต้องเดินหน้าต่อไปในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตลอดจนสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความสมดุลทุกด้านบรรลุเป้าหมายที่ร่วมกันที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและความซับซ้อนมีการกระจายผลประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงทั่วถึงเป็นธรรมตามที่มีอยู่ให้มากที่สุด แล้วก็มุ่งหวังให้การใช้จ่ายของแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน ส่วนข้อเสนอและข้อติติงต่างๆ ตนรับได้และขอกรรมาธิการวิสามัญนำไปพิจารณาให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายปิดท้ายว่า งิน 3.3 ล้านบาท ว่า การพิจารณางบประมาณปีนี้มีความสำคัญ เพราะเงินจากต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้กว่าร้อยละ 70 ของจีดีพีหายไป ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จึงมีแต่งบประมาณแผ่นดินเท่านั้นที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยากลำบากเพราะการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 หลายสถาบันก็ยืนยันว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 8 การส่งออกติดลบร้อยละ 22 ถึง 30 มีการเลิกจ้างฟ้าผ่า ย้ายฐานการผลิต ไม่มีนักท่องเที่ยว ประชาชนอยู่ได้เพราะเงินเยียวยา ซึ่งจ่ายครบ 3 เดือนแล้ว และได้ไม่ทั่วถึง ส่วนเกษตรกรให้ถึงเดือนกรกฎาคม ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็ยังไม่ได้ ระยะเวลาการพักชำระหนี้กำลังจะหมด คำถามคือจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อรายจ่ายกลับมาเป็นปกติ แต่ยังไม่มีรายได้

ฟันธงปี 64 คนไทยเจอ 5 หนี้จาก "ประยุทธภัย"

นายสุทินกล่าวว่า สิ่งที่ต้องเจอในอนาคตเรียกว่า “ประยุทธภัย” คนไทยต้องเผชิญหนี้ 5 ประเภทคือ 1.หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี 2.หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพี 3.หนี้ภาคธุรกิจ เจ๊ง ล้มละลายมากขึ้น 4.หนี้เสียในระบบการเงินหรือเอ็นพีแอลมากขึ้น และ 5.ปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าสู่อาณาจักรนักเลง ดอกเบี้ยโหด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องเผชิญในปี 2564

นายสุทิน ยังเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวม 20 กว่าล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวม 10 กว่าล้านล้านบาท แม้บริบทจะต่างกัน แต่ให้ดูที่ผลงอกเงยทางเศรษฐกิจหรือไม่ โดยสามารถเทียบได้จากจีดีพีและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยก่อนสถานการณ์โควิด-19 จีดีพีลงมาต่ำเกือบติดลบ 2 ถึง 3 แต่รัฐบาล ดร.ทักษิณเจอทั้งการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ สึนามิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก แต่ปี 2545 จีดีพีโตร้อยละ 1.5

ปี 2546 ใช้งบประมาณลดลง แต่จีดีพีสูงถึงร้อยละ 9.6 ปี 2548 และ 2549 สามารถจัดงบประมาณสมดุล ไม่ต้องกู้เงินขาดดุลงบประมาณ

ส่วนความพยายามเปรียบเทียบกันว่าบางประเทศสามารถกู้เงินได้ถึงร้อยละ 200 นายสุทิน กล่าวว่า เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีหมายถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบางครั้งทีมเศรษฐกิจอาจจะหลอกนายกรัฐมนตรี เพราะปกติประเทศไทยกำหนดเกณฑ์ไว้ว่าไม่ควรกู้เกินกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนา อัตราจัดเก็บภาษีอยู่ประมาณร้อยละ 16 ถึง 17 ของจีดีพี แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไม่มีการจำกัดกรอบการกู้เงิน เพราะความสามารถในการใช้หนี้ต่างกัน สามารถจัดเก็บภาษีได้สูงถึงร้อยละ 30 ของจีดีพี และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 6 เดือน หรือช่วงกลางปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายกู้เงินอีก เพราะไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอ และอีกไม่เกิน 1 ปี รัฐบาลก็จะมาขอแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะให้มากกว่าร้อยละ 60

นายสุทิน กล่าวว่า ปี 2564 จะเป็นปีที่หลายคนบอกว่าเผาจริง และอาจจะลอยอังคารในปีเดียวกัน ซึ่งวันนี้สมาชิกพูดกันทั้งวันว่าอีก 3 เดือนจะมีวิกฤตใหญ่ กูรูด้านเศรษฐกิจบอกว่า จะมีความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศ ถ้าเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ซึ่งธรรมดาแล้วต้องไปเอาเงินคงคลังมาใช้ แต่วันนี้สถานะเงินคงคลังก็เริ่มไม่ดี ง่อนแง่น แม้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ บอกว่าฐานะการคลังดีมาโดยตลอด แต่ชาวบ้านถามกันมาเยอะว่าถ้าฐานะการคลังของประเทศดี ทำไมประชาชนเป็นหนี้เยอะ ทำไมคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นอยู่แบบนี้ และที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อเจอสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิค-19 ทำไมต้องกู้เงินทันที หากสถานะการคลังของประเทศดีอยู่

ไม่เชื่อเก็บภาษีเข้าเป้า จาก “สมคิด” บอกมังกรบินกลายเป็นแมงหวี่

ในแง่การจัดงบประมาณ นายสุทิน กล่าวว่า หลายคนคิดตรงกันว่าไม่ตอบโจทย์การใช้จ่ายงบประมาณตามเป้าหมายและสถานการณ์ มีการประมาณการเศรษฐกิจผิดพลาด บอกเศรษฐกิจจะโตร้อยละ 5 ในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ที่ลบร้อยละ 8 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกระโดดไปเป็นร้อยละ 5 แม้นายสมคิดบอกว่าจะเป็นมังกรบิน แต่ก็บินอยู่แค่ก้นเหว เพราะไม่มีเงินจากต่างประเทศ ไม่มีเงินลงทุน จากมังกรเลยจะกลายเป็นแมงหวี่ และที่ประเมินผิดอีกคือการประมาณการรายได้ 2.7 ล้านล้านบาท เพราะโอกาสจะเก็บภาษีเข้าเป้าเป็นไปได้ยาก

นายสุทิน กล่าวว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีไปดูการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจ แต่นายกรัฐมนตรียังคิดเหมือนเดิม เพราะร่างงบประมาณฉบับนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และโควิด-19 มากลางเดือน ม.ค. แต่ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเพียงโยกงบประมาณ 40,000 ล้านบาท ทำเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม แต่หวังผลลัพธ์ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องป่วยการ ต้องคิดใหม่ทำใหม่จึงจะได้ผลลัพธ์ใหม่ คิดเหมือนเดิมเพียงแต่บูรณาการน้ำปีละ 60,000 ล้านบาท จึงอย่าไปคิดเรื่องอบรมสัมนา แต่คิดเรื่องการพัฒนาที่ดิน การใช้งบประมาณไปกับน้ำ 5 แสนกว่าล้าน แต่เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ยิ่งลงทุนเรื่องน้ำแบบนายกรัฐมนตรี ยิ่งเกิดภัยแล้งกว่าเดิม น้ำท่วมเร็วกว่าเดิม นายกรัฐมนตรีต้องทบทวน ควรนำงบประมาณไปลงทุนเรื่องใหญ่เมกะโปรเจ็กต์ เช่น โครงการโขงเลยชีมูล ปิงวังยม

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน

นายสุทิน กล่าวว่า การทำเรื่องถนนหนทาง งบประมาณที่โป่งขึ้นคือกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย แต่เหมือนที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า "ไฟกำลังไหม้บ้าน แต่เอางบไปจัดสวน" เรื่องถนนไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ขอให้เบาหน่อย หากทำในส่วนที่จำเป็นไม่ว่า แต่ถ้าทำในส่วนที่ไม่จำเป็นเช่น ขุดออกมาทำใหม่ กินง่าย กำไรงาม ได้เปอร์เซ็นต์เยอะ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตการประมูลการรับเหมาเพื่อได้เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนเองจะแปรญัตติตัดโครงการที่มีลักษณะเหล่านี้

ท้านายกฯ ลาออกหากจีดีพีโตไม่ถึงร้อยละ 5

ส่วนงบประมาณด้านความมั่นคง นายสุทิน กล่าวถึง การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ในอินเทอร์เน็ตสำนักข่าวอิศราบอกราคาซื้อขาย 200 กว่าล้านบาทต่อลำ แต่กองทัพตั้งงบประมาณถึงลำละ 800 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์และอาจเข้าข่ายการทุจริต

นายสุทิน กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีน้อยใจ คนบอกว่าเป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็เป็นเรื่องจริง เพราะมีการกู้ทุกปี และปีหน้าจะตั้งฉายานักกู้แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แต่ถ้ากู้มาแล้ว ก็ขอทำให้จีดีพีโตด้วย โดยขอให้ทบทวนปรับงบประมาณฉบับนี้ใหม่ ไปจัดทำตัวร่างใหม่หรือปรับในชั้นกรรมาธิการ เพราะยังมีงบประมาณปี 2563 และเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินอยู่แล้ว และขอให้คิดเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ มีการประกันคุณภาพการบริหาร ให้คิดว่างบประมาณปี 2564 เป็นแผนฟื้นฟูเหมือนการบินไทย หากผู้บริหารทำไม่ได้ตามเป้าก็ปลดทิ้ง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ควรสร้างความเชื่อมั่นรับประกันว่า ถ้าจีดีพีโตไม่ถึงร้อยละ 5 หนี้สาธารณะแตะร้อยละ 60 หนี้ครัวเรือนแตะร้อยละ 85 ของจีดีพีเมื่อไร จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นการการประกันคุณภาพทางการเมือง

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ผ่านฉลุย! 273 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook